หมาขนเกรียนเม็กซิกันนี้มีประวัติอันยาวนาน

หมาขนเกรียนเม็กซิกันนี้มีประวัติอันยาวนาน

หมาขนเกรียนเม็กซิกันนี้มีประวัติอันยาวนาน

สำหรับชนชาติโบราณอย่างชาวแอซเท็กและชาวมายาแล้ว เพื่อนที่ดีที่สุดของพวกเขาคือผู้ติดตามที่ไร้ขนอย่างหมาขนเกรียนเม็กซิกัน พวกมันคอยช่วยเสาะหาอาหารและนำทางพวกเขาไปยังโลกหลังความตาย

เพื่อนผู้นี้เป็นที่รู้จักดีในชื่อ สุนัขขนเกรียนเม็กซิกัน หรือ Xoloitzcuintli (อ่านออกเสียงว่า show-low-itz-QUEENT-ly) คำๆ นี้มาจากสองคำรวมกันในภาษาแอซเท็ก คือ Xolotl หมายถึงเทพแห่งแสงสว่างและความตาย ส่วน itzcuintli มีความหมายว่าสุนัข ตามความเชื่อของชาวแอซเท็ก สุนัขสายพันธุ์นี้ถูกสร้างขึ้นโดยเทพเจ้าเพื่อปกป้องและนำทางดวงวิญญาณของมนุษย์ไปยังโลกหลังความตาย

Xoloitzcuintli คือหนึ่งในสายพันธู์สุนัขที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปอเมริกา นักวิจัยเชื่อว่าบรรพบรุษของพวกมันอพยพมาจากเอเชียและพัฒนาจนเป็นสายพันธุ์ดังกล่าวเมื่อราว 3,500 ปีก่อน สุนัขพันธุ์นี้มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นคือไร้ขน (บางชนิดมีขนอยู่หย่อมหนึ่งที่บนหัวและหาง) อันเป็นผลจากวิวัฒนาการซึ่งรวมไปถึงการปราศจากฟันกรามน้อย ลักษณะที่โดดเด่นของฟันนี้ช่วยให้การระบุตัวตนของมันในทางโบราณคดีเป็นไปได้ง่ายดายขึ้น

รูปปั้นเซรามิกรูปสุนัขพันธุ์ Xolos อายุ 2,000 ปี ถูกพบในหลุมศพโบราณ ทางตะวันตกของเม็กซิโก

เจ้าสุนัข Xolos ปรากฏตัวบ่อยครั้งผ่านงานศิลปะในยุคเมโซอเมริกัน ด้วยลักษณะที่โดดเด่นคือหูแหลมตั้งและผิวหนังอันไร้ขนของพวกมัน ชิ้นงานที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดคือรูปปั้นเซรามิกขนาดเล็กที่มีชื่อว่า Colima Dogs ที่ถูกพบทางตะวันตกของเม็กซิโก นักโบราณคดีประเมินว่าในสมัย 300 ปีก่อนคริสต์กาลจนถึงคริสต์กาลที่ 300 กว่า 75% ของการทำพิธีศพจะบรรจุหุ่นจำลองของสุนัขพันธุ์นี้ลงไปด้วย เพื่อช่วยนำทางดวงวิญญาณไปยังโลกหลังความตาย

สุนัขสายพันธุ์นี้กลายเป็นที่สนใจเมื่อคณะเดินทางจากยุโรปมาถึงทวีปอเมริกา ในจำนวนนี้รวมไปถึงคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสและคณะนักบวชชาวสเปนในศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีบันทึกเรื่องราวของสุนัขเหล่านี้ไว้ว่า ชาวแอซเท็กโบราณห่มผ้าให้พวกมันในตอนกลางคืนเพื่อช่วยให้มันอุ่น นอกจากนั้นการที่มันปราศจากขนส่งผลให้ร่างกายของมันเป็นตัวนำความร้อนชั้นดี พวกเขาใช้มันเปรียบเสมือนขวดน้ำร้อนแก่บรรดาผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ “สุนัขรู้ดีว่าคุณกำลังป่วยอยู่” Kay Lawson ประธานของศูนย์ Xoloitzcuintliแห่งอเมริกากล่าว

นอกเหนือจากไก่งวงแล้ว สุนัขสายพันธุ์นี้ยังเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ชาวเมโซอเมริกาเลี้ยงไว้เพื่อกินโดยเฉพาะ และเมื่อชาวสเปนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน พวกมันก็กลายเป็นเมนูโปรดยอดนิยมจนเกือบที่จะสูญพันธุ์

สุนัขขนเกรียนเม็กซิกัน
สุนัขสายพันธุ์นี้ถูกชาวสเปนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานกินเป็นอาหารจนเกือบสูญพันธุ์

ในปี 1956 เมื่อถึงช่วงเวลาที่สายพันธุ์สุนัขนี้ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในเม็กซิโก ปรากฏว่าพวกหมาขนเกรียนเม็กซิกันเกือบจะสูญพันธุ์แล้ว นับเป็นเรื่องดีที่ปัจจุบันสายพันธุ์ของพวกมันกำลังได้รับการฟื้นฟู และเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในหมู่บรรดาผู้รักสุนัขที่แพ้ขนยาวๆ ของสุนัขหลายสายพันธุ์

“มันเป็นสุนัขสายพันธุ์โบราณดั้งเดิมที่ฉลาดมากค่ะ มันเปิดประตูได้เอง เปิดกล่องลังได้เอง” Lawson กล่าว

เรื่อง คริสติน โรเมย์

 

อ่านเพิ่มเติม : สุนัขหรือแมว ใครกันแน่ที่ฉลาดกว่า?ยินดีต้อนรับสู่ดินแดนสุนัขจรจัด

Recommend