บนเนินทรายเล็กๆ ลึกเข้าไปในทะเลทรายสะฮารา ทีมนักวิทยาศาสตร์ยืนจ้องสุสานที่เพิ่งขุดลงไป โครงกระดูกมนุษย์สามโครงนอนตะแคง ราวกับผล็อยหลับไปบนผืนทรายร่วนๆสีน้ำตาล และไม่ได้ลืมตาขึ้นมาอีกเลย
นั่นคือตอนเช้ามืดช่วงวันท้ายๆ ของการขุดสำรวจจุดที่ชื่อ โกเบโร ในทะเลทรายเตเนเรของไนเจอร์ เตเนเร ซึ่งคนมักเรียกว่าทะเลทรายในทะเลทราย เกือบไม่มีฝนตกเลย และมีภูมิลักษณ์เป็นผืนสมุทรอันไพศาลของทรายที่เปลี่ยนแปรไปมาเรียกว่า เอิร์ก ที่นี่ อุณหภูมิปกติสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส พายุทรายที่รุนแรงจนลืมตาไม่ขึ้นอาจเกิดแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย และทางการไนเจอร์ต้องจัดกำลังทหารกองใหญ่ติดตามผู้มาเยือนเพื่อป้องกันโจร แต่ภูมิทัศน์รกร้างว่างเปล่านี้มีแหล่งโบราณคดีหายากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกตั้งอยู่ด้วย นั่นคือสุสานที่มีอายุย้อนกลับไปเกือบ 10,000 ปี
เช้าวันนั้น นักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งเริ่มใช้แปรงและอีเต้อไม้เล็กๆขุดแต่งกะโหลกศีรษะที่ส่วนบนโผล่พ้นดินขึ้นมาเล็กน้อย เธอใช้ความระมัดระวังขุดส่วนเบ้าตาและขากรรไกร ก่อนขยับต่อไปยังลำคอและไหล่ จากนั้นก็ไล่ตามแขนไปยังกลุ่มกระดูกนิ้วมือ แต่เธอหยุดที่นั่น เพราะกระดูกนิ้วมีมากเกินกว่าจะเป็นของคนเพียงคนเดียว พอล เซเรโน ผู้นำทีมสำรวจ เข้ามาช่วย และไม่ช้าก็พบกระดูกเพิ่มอีกมาก
อูมารู อีเด นักโบราณคดีชาวไนเจอร์ที่ทำงานอยู่ใกล้ๆ แวะมาชมความคืบหน้า ตลอดช่วงบ่าย คนอื่นๆในทีมที่ผิวเกรียมแดดและเสื้อผ้าขึ้นขี้เกลือเป็นรอยด่าง ถูกดึงดูดไปยังเนินทรายนั้น แม้กระทั่งทหารบางคนก็โอบปืนไรเฟิลเข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ในที่สุด ขณะแสงแดดอ่อนลงและอากาศในทะเลทรายเริ่มเย็น ภาพอันน่าตกตะลึงก็ปรากฏให้เห็น อย่างสมบูรณ์
กระดูกเชิงกรานของโครงกระดูกหนึ่งบ่งชี้ว่าเจ้าของร่างเป็นสตรี เด็กสองคนหันหน้าเข้าหาเธอ ดูจากฟันแล้วพวกแกน่าจะอายุประมาณห้าและเจ็ดขวบ เด็กห้าขวบเกาะเด็กที่โตกว่าโดยเอาแขนเล็กๆ ข้างหนึ่งกอดคอเด็กเจ็ดขวบไว้ แขนขวาของผู้หญิงโอบใต้ศีรษะเด็กที่โตกว่า แขนซ้ายยืดออกไปจับมือซ้ายของเด็กห้าขวบท่ามกลางกองกระดูกนิ้วที่ปะปนกัน
“พวกเขาจับมือกัน” ใครบางคนพึมพำ
ฉากนั้นทำให้เกิดคำถามตามมาอีกมาก นี่คือแม่ลูกใช่หรือไม่ ใครฝังพวกเขาในท่วงท่าโอบกอดอย่างอ่อนโยนเช่นนี้ และพวกเขาตายได้อย่างไร คนทั้งสามต้องเสียชีวิตในเวลาใกล้เคียงกันและถูกจัดวางให้อยู่ในท่านี้ก่อนที่ร่างจะแข็ง นี่คือโศกนาฏกรรมที่เกิดอย่างฉับพลันหรือเป็นพิธียัญบูชาอะไรบางอย่างกันแน่ สาเหตุการตายไม่ปรากฏชัดเจน กระดูกและฟันของพวกเขาบ่งบอกถึงสุขภาพดีและไม่มีร่องรอยการบาดเจ็บ แต่เมื่อไม่มีเนื้อเยื่ออ่อนให้ตรวจสอบ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกหรือชี้ชัดลงไปว่า คนที่ดูสุขภาพแข็งแรงดีสามคนเสียชีวิตพร้อมกันได้อย่างไร
“บางที” เซเรโนบอก “พวกเขาอาจจมน้ำตาย”
ผมเป็นคนหนึ่งในกลุ่มที่รวมตัวกันบนเนินทรายนั้นเมื่อปี 2006 ระหว่างทำสารคดีที่ได้รับมอบหมายจาก เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ตอนนี้ เกือบสองทศวรรษให้หลัง ผมมีลูกสองคนและยังรู้สึกค้างคาใจกับปริศนาของฉากนั้น แต่นั่นเป็นแค่หนึ่งในคำถามมากมายที่ปรากฏขึ้นที่นั่นนับจากนั้นเป็นต้นมา เตเนเรเป็นทะเลทรายในทะเลทรายฉันใด โกเบโรก็เป็นปริศนาทางวิทยาศาสตร์ที่ซ้อนอยู่ในปริศนาฉันนั้น นี่คือปริศนาที่ทำให้เซเรโน, อีเด และคนอื่นๆอีกมากที่ยังคงตามหาเงื่อนงำอยู่ ค่อยๆปะติดปะต่อภาพที่ชัดเจนของโลกสาบสูญใบนั้น
ดังนั้น ตอนที่เซเรโนโทร.หาผมเมื่อปี 2022 ไม่นานหลังมาตรการล็อกดาวน์จากโควิด 19 ถูกยกเลิก และเอ่ยชวนให้กลับไปยังโกเบโรอีกครั้ง ผมจึงตอบตกลง
ความคิดที่ว่าคนสามคนจมน้ำตายในสะฮาราดูน่าหัวเราะ จนกระทั่งเราพินิจพิเคราะห์ว่า สะฮาราไม่ได้เป็นทะเลทรายมาตลอด อันที่จริง มันเปลี่ยนจากทะเลทรายเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาที่เขียวชอุ่มประมาณทุกรอบวัฏจักร 21,000 ปี ความผิดปกติในกลไกการโคจรของโลกส่งผลให้แกนโลกเอียงเล็กน้อยเป็นช่วงๆ เพิ่มปริมาณแสงอาทิตย์ที่ส่องไปยัง ซีกโลกเหนือ ซึ่งในทางกลับกัน ได้ขยับให้ฝนประจำฤดูในแอฟริกาเคลื่อนขึ้นเหนือเล็กน้อย หลายล้านปีที่การเปลี่ยนวัฏจักรมรสุมดังกล่าวส่งผลให้เกิดช่วงที่ฝนตกหนักในสะฮารา โดยครั้งล่าสุดเริ่มต้นตอนปลายสมัยน้ำแข็งที่แล้ว หรือประมาณ 12,000 ปีก่อน และยาวนานจนถึงประมาณ 4,500 ปีที่แล้ว
เทคโนโลยีช่วยให้นักวิชาการเห็นภาพสะฮาราเขียวชอุ่ม ดาวเทียมชี้ว่ามีก้นแม่น้ำโบราณและชายฝั่งทะเลสาบหลายแห่ง รวมถึงเขตแดนดั้งเดิมของทะเลสาบชาด ซึ่งในสมัยที่กว้างใหญ่ที่สุดนั้นใหญ่ยิ่งกว่าทะเลสาบเกรตเลกส์ในอเมริกาเหนือทุกแห่งรวมกันเสียอีก
แต่เงื่อนงำชัดเจนยิ่งกว่าเกี่ยวกับสะฮาราเขียวชอุ่มปรากฏต่อหน้านักวิชาการมาตลอด ภาพสลักและภาพวาดหลายพันภาพที่พบในหมวดหินทั่วสะฮาราบันทึกภาพชุมชนเก็บของป่า-ล่าสัตว์ที่เจริญรุ่งเรือง ศิลปินวาดภาพคนสวมเครื่องประดับศีรษะวิจิตรตระการ ขว้างหอก และยิงธนู แต่สิ่งที่พวกเขาวาดเป็นหลักคือสัตว์ต่างๆที่พบเห็น รวมถึงฮิปโป ยีราฟ ช้าง แรด และแอนทิโลป ชนิดพันธุ์นานาที่ปัจจุบันเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับบริเวณที่ชุ่มชื้นกว่าของแอฟริกา
ถึงจะมีภาพชัดเจนเช่นนั้น เราก็มีข้อมูลเกี่ยวกับคนเหล่านี้น้อยนิดอย่างยิ่ง ในศตวรรษที่ยี่สิบ เราพบแหล่งโบราณคดีสำคัญๆไม่กี่แห่งในสะฮารา การขุดค้นพบตัวอย่างเครื่องมือหินและภาชนะดินเผา ซึ่งเผยภาพวัฒนธรรมต่างๆในยุคสะฮาราเขียวชอุ่มอย่างกระจัดกระจาย แต่โดยส่วนใหญ่ หลักฐานการดำรงอยู่ของพวกเขาถูกแสงแดดแผดจ้า ลมกระโชกแรงและผืนทรายที่แปรเปลี่ยนไปมาของทะเลทรายแห่งนี้ทำให้กระเส็นกระสาย จมหาย และกร่อนสลายไป
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ออกจะน่าอัศจรรย์ เมื่อพอล เซเรโน พบโกเบโรเข้าโดยบังเอิญ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโกและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผู้นี้กลายเป็นข่าวในฐานะผู้ค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ๆในสะฮารา รวมถึง แอโฟรเวเนเตอร์ ไดโนเสาร์กินเนื้อที่วิ่งเร็ว ซูโคไมมัส ตัวยาวเท่ารถโรงเรียนที่มีหัวเหมือนจระเข้ และโจบาเรีย ไดโนเสาร์กินพืชคอยาวที่มีลำตัวยาว 20 เมตร
เมื่อปี 2000 เซเรโนอยู่ระหว่างค้นหาไดโนเสาร์อื่นๆ ขณะนำทีมสำรวจเตเนเร ไมก์ เฮ็ตต์เวอร์ ช่างภาพประจำทีมสำรวจ เดินเรื่อยเปื่อยไปยังเนินทรายเล็กๆสามลูก เขาพบว่ามันปกคลุมไปด้วยกระดูกของมนุษย์ เศษเครื่องปั้นดินเผา ลูกปัด หัวลูกธนู และโบราณวัตถุหินอื่นๆ “ทั้งหมดกระจัดกระจายอยู่บนทรายแบบนั้นเลยครับ” เขาบอกผม “ไม่ว่าจะมองไปตรงไหน”
คนเลี้ยงอูฐท้องถิ่นเรียกพื้นที่นี้ว่า โกเบโร
กระดูกสัตว์ก็มีจำนวนมากเช่นกัน นักบรรพชีวินวิทยาศึกษาสัตว์ปัจจุบันเพื่อทำความเข้าใจสรีรวิทยาของไดโนเสาร์ และเซเรโนก็จดจำโครงกระดูกสัตว์ต่างๆได้เกือบเหมือนสารานุกรม เขาบอกได้อย่างรวดเร็วว่ามีกระดูกของฮิปโป ยีราฟ ปลา จระเข้ และเต่า “สัตว์ทั้งหมดที่พบได้ในเซเรงเกติอยู่ที่นั่นครับ” เขาบอก
ติดกับเนินทรายเหล่านั้น พวกเขาพบก้นทะเลสาบแห้งผาก ซึ่งช่วยอธิบายการสะสมตัวของสัตว์น้ำจำนวนมาก “มีสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจมากเหลือเกินครับ” เซเรโนบอกและเสริมว่า “มันท่วมท้นไปหมด” พวกเขาสำรวจคร่าวๆ และคาดคะเนว่า บริเวณนั้นน่าจะมีหลุมฝังศพมนุษย์กว่า 200 ร่าง
เซเรโนตระหนักในที่สุดว่า เหตุผลที่ทำให้เนินทรายทั้งสามอยู่รอดปลอดภัยมาได้ ก็คือมวลสารพอกคล้ายราก (rhizoconcretion) ที่ก่อตัวรอบรากของต้นกกและพืชอื่นๆ เป็นวงคล้ายโดนัต กลายเป็นเปลือกหุ้มเนินทรายเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพเดิม เมื่อมวลสารพอกคล้ายรากเริ่มแตกหรือแยกออกจากกัน โครงกระดูกจึงเริ่มปรากฏให้เห็น มีกะโหลกฝังอยู่ครึ่งๆกลางๆ มือยื่นออกจากทราย กระดูกซี่โครงกระจัดกระจาย
“มวลสารพอกคล้ายรากคือสิ่งที่ทำให้หลุมฝังศพเหล่านั้นอยู่รอดมาได้หลายพันปีครับ” เซเรโนบอก โดยตั้งข้อสังเกตถึงลมฮาร์มัตตาน ซึ่งพัดมาตามฤดูกาลและทำให้ฝุ่นทรายของสะฮาราปลิวข้ามแอฟริกาตะวันตกไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก “กระดูกใดๆที่โผล่ขึ้นมาจะอยู่ได้ไม่นาน”
เรื่อง ปีเตอร์ กวิน
ช่างภาพในพื้นที่ : เปาโล แวร์โซเน
ภาพถ่ายสตูดิโอ : รีเบกกา เฮล
แปล : ศรรวริศา เมฆไพบูลย์