“ในอดีต ผู้คนเคย “เกลียดชัง” มะเขือเทศมามากกว่าศตวรรษ
แต่ปัจจุบัน เราเปิดใจให้มันได้อย่างไร?
เมืองเล็ก ๆ ในรัฐนิวเจอร์ซีย์จะให้คำตอบนั้นเอง”
ในขณะที่เมืองซาเลมในรัฐแมสซาซูเซตส์ เป็นที่รู้จักจากคดีการล่าแม่มดในปี 1692 แต่ยังมีอีกเมืองที่ใช้ชื่อเดียวกัน หากแต่อยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งมีตำนานเล่าขานที่ทำให้มะเขือเทศถูกมองว่าเป็น “ตัวร้าย” ในสายตาผู้คน
ในอดีตกาล มีเรื่องเล่าขานมากมายเกี่ยวกับการที่มะเขือเทศถูกมองว่าเป็น “แอปเปิ้ลพิษ” อย่างไรก็ตาม กว่าที่มะเขือเทศสลัดภาพลักษณ์อันชั่วร้าย และกลายมาเป็นวัตถุดิบเคียงคู่กับครัวได้ก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนไม่น้อย นักประวัติศาสตร์ แอนดรูว เอฟ สมิธ เจ้าของผลงาน The Tomato in America: Early History, Culture, and Cookery ซึ่งเล่าเกี่ยวกับเกษตรกร ผู้ทำทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์ว่ามะเขือเทศสามารถทานได้อย่างปลอดภัย
แต่เรื่องราวนี้จริงแค่ไหนกัน? มาดูกันว่าเรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับอดีตอันขมขื่นของมะเขือเทศ และมันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของรัฐนิวเจอร์ซีย์ได้อย่างไร
ทำไมผู้คนหวาดกลัวมะเขือเทศ
เชื่อกันว่า ชาวแอซเท็กเป็นคนกลุ่มแรกที่เริ่มเพาะปลูก เริ่มทาน และเป็นคนตั้งชื่อให้กับมะเขือเทศ หลังจากนั้น มันถูกนำเข้าไปทวีปยุโรปโดยนักล่าอาณานิคมชาวสเปนและโปรตุเกสในช่วงศตวรรษที่ 16 การแพร่เข้ามาของมะเขือเทศในยุโรปเป็นไปอย่างเชื่องช้า ส่วนหนึ่งมาจากสีที่แดงของมัน ซึ่งถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์และลี้ลับ

ในปี 1544 พ่อค้ายาสมุนไพรชาวอิตาเลียน เปียโตร อันเดรีย มัตตีโอลี จัดให้มะเขือเทศอยู่ในทั้งกลุ่มของผักไนท์เชดซึ่งพืชบางชนิดในตระกูลนี้เป็นพืชที่มีพิษ และแมนเดรก พืชที่เช่ือว่ามีคุณสมบัติในการเสริมพลัง มะเขือเทศเคยถูกเรียกว่า “แอปเปิ้ลแห่งรัก” แต่ผู้คนกลับระแวงและไม่กล้าแตะต้องมันนัก ด้วยความเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับของลึกลับ
ถัดมาในปี 1597 พ่อค้ายาสมุนไพรและนักพฤกษศาสตร์ที่มีชี่อเสียงชาวอังกฤษ จอห์น เจอราร์ด เรียกมะเขือเทศว่า “ของเน่าเปื่อยและของที่แย่ทั้งรสชาติและกลิ่น” ในหนังสือ Herbal ของเขา ถ้อยคำดังกล่าวได้ตัดสินชะตาของมะเขือเทศทั้งในสหราชอาณาจักร และส่งอิทธิพลไปยังอาณานิคมอเมริกาในเวลาต่อมา
จนกระทั่งในศตวรรษที่ 18 มะเขือเทศได้ชื่อเล่นว่าเป็น “แอปเปิ้ลพิษ” สาเหตุมาจากการที่ขุนนางทั้งหลายที่ทานมะเขือเทศจะล้มป่วยหรือเสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่ความจริงแล้ว สาเหตุของการเสียชีวิตกลับไม่ได้อยู่ที่มะเขือเทศ หากแต่เป็นจานที่พวกเขาใช้ โดยเฉพาะจานที่มีส่วนผสมของโลหะ จานที่ใช้กันในยุคนั้นมีสารตะกั่วปริมาณมาก ซึ่งเมื่อสัมผัสกับกรดตามธรรมชาติในมะเขือเทศ ก็จะทำให้เกิดพิษจากสารตะกั่วได้
ในหนังสือของสมิธระบุว่า หลักฐานการกล่าวถึงมะเขือเทศในอาณานิคมอเมริกาเริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 แต่ในขณะนั้น ผู้คนปลูกมันเพราะความอยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่เพื่อทาน “สำหรับผู้ที่อพยพมาทวีปอเมริกาช่วงยุคอาณานิคม มะเขือเทศไม่เคยอยู่ในรายการสิ่งที่พวกเขาต้องทำเลย” สมิธกล่าว
มะเขือเทศกับตำนานเรื่องเล่า
จากข้อมูลของสมิธ ผู้อพยพจำนวนมากที่เดินทางไปทวีปอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 นั้น ส่วนมากเป็นชาวอิตาเลียน ผู้นำแนวคิดการทำพิซซ่าติดตัวมา จึงทำให้มะเขือเทศถูกนำมารับประทานในที่สุด
แต่บุคคลที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจมะเขือเทศในอีกมุมหนึ่งอย่างจริงจังคือ โรเบิร์ต กิบบอน จอห์นสัน ชาวสวนจากเมืองเซเลม รัฐนิวเจอร์ซีย์ ตามตำนานเล่าว่าในปี 1820 เขายืนอยู่บนขั้นบันไดหน้าศาลากลางเมืองเซเลมกินมะเขือเทศทั้งตะกร้าให้ชาวเมืองดู แต่เพราะเขาไม่ล้มตายอย่างที่หลายคนคิด ข่าวจึงค่อยๆ แพร่ออกไปว่ามะเขือเทศแท้จริงแล้วไม่ได้มีพิษ
อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีหลักฐานยืนยันว่าเหตุการณ์ที่ว่านั้นเกิดขึ้นจริง เรื่องราวของจอห์นสันถูกเล่าครั้งแรกในปี 1937 โดยโจเซฟ เอส ซิกเลอร์ นายไปรษณีย์ผู้สนใจในประวัติศาสตร์จากรัฐนิวเจอร์ซีย์ ในหนังสือของเขา History of Salem County, New Jersey: Being the Story of John Fenwick’s Colony, the Oldest English Speaking Settlement on the Delaware River ซึ่งทำให้เรื่องกินมะเขือเทศของจอห์นสันกลายเป็นตำนานไปโดยปริยาย

สมิธพบหลักฐานว่าจอห์นสันปลูกต้นมะเขือเทศจริง และกล่าวว่า “‘เป็นไปได้มากทีเดียวที่สิ่งที่เขาทำจะช่วยจุดประกายให้คนอื่นกล้ากินตาม” แต่ก็เสริมว่า ช่วงนั้นมีคนปลูกมะเขือเทศกันเยอะอยู่แล้ว จึงไม่อาจบอกได้ว่าจอห์นสันเป็นต้นเหตุเพียงคนเดียวที่ทำให้มันกลายเป็นผลไม้ยอดนิยม เพราะในช่วงปี 1830 เมนูอาหารที่ใช้มะเขือเทศเป็นส่วนประกอบก็เริ่มวางขายในทวีปอเมริกาแล้ว
ริช กีโด ผู้อำนวยการบริหารและบรรณารักษ์แห่งสมาคมประวัติศาสตร์ของเขตเคาน์ตีซาเลม เชื่อว่าเรื่องกินมะเขือเทศที่ฟังดูเกินจริงนั้น เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในเมืองชนบทเล็กๆ ซึ่งผู้คนหลงใหลในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตน แม้เรื่องราวนั้นอาจเต็มไปด้วยความจริงเพียงครึ่งเดียวก็ตาม
“พวกเราผูกพันกับประวัติศาสตร์มาโดยตลอด และด้วยความที่เป็นชุมชนเกษตรกรรม เรื่องเล่าเกี่ยวกับมะเขือเทศจึงดูเข้ากันได้กับที่นี่” กีโดกล่าว
มะเขือเทศมีบทบาทอย่างไรในเมืองซาเลม
ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่แท้จริงเกี่ยวกับสิ่งที่จอห์นสันกระทำ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผู้คนหยุดเชื่อในเรื่องเล่าอันปริศนานี้ ท้ายที่สุด ซิกเลอร์ได้เล่าเรื่องนี้ให้แฮร์รี เอเมอร์สัน ไวลด์ส์ นักสังคมวิทยาและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันฟัง ทำให้เขานำเรื่องราวไปเขียนไว้ในหนังสือ The Delaware ที่ตีพิมพ์ในปี 1940 และต่อมาในปี 1946 สจ๊วร์ต โฮลบรูคก็ได้เสริมแต่งเรื่องนี้ให้สีสันยิ่งขึ้นในหนังสือ Lost Men of American History ของเขา
เมื่อวันที่ 30 มกราคม ปี 1949 เครือข่ายโทรทัศน์และวิทยุของสหรัฐ (CBS) ได้ทำให้เรื่องเล่านี้เป็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลาย ด้วยการนำเสนอฉากจำลองการทานมะเขือเทศของจอห์นสันในรายการ You Are There โดยมีซิกเลอร์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์
ระหว่างปี 1989 ถึงปี 2022 เมืองซาเลมจัดเทศกาลเฉลิมฉลองมะเขือเทศแห่งซาเลม (Salem Tomato Festival) ทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวแต่งตัวด้วยชุดย้อนยุค ชมการจำลองเหตุการณ์ของจอห์นสัน และแน่นอน พวกเขาทานมะเขือเทศกันอย่างเอร็ดอร่อย แต่เทศกาลถูกระงับลง ภายหลังที่กีโดเปิดเผยข้อมูลว่าจอห์นสัน เคยเป็นเจ้าของทาสผู้หญิงคนหนึ่งที่มีชื่อว่า Amy Hester Reckless บุคคลซึ่งภายหลังจะปลดแอกตัวเองจากความเป็นทาสและร่วมต่อสู้ในขบวนการเลิกทาสในอเมริกา

แล้วทำไมเมืองซาเลมและรัฐนิวเจอร์ซีย์ถึงโอบรับเรื่องเล่าที่แทบไม่มีหลักฐานนี้ไว้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น? โดยเคอร์ติส ฮาร์เกอร์ ผู้ดูแลเอกสารประวัติศาสตร์ของเขตเคาน์ตีซาเลม เชื่อว่า มันอาจมาจากความรักที่ผู้คนมีต่อ ‘มะเขือเทศในเมืองซาเลม’ ซึ่งมีบทบาทเชื่อมโยงกับบริษัทซอสมะเขือเทศเจ้าใหญ่แห่งหนึ่งด้วย
“มันเป็นการผสมกันระหว่างความชอบต่อมะเขือเทศซาเลมรสชาติอันเข้มข้น ชวนให้นึกถึงเมื่อมันโปะอยู่บนแฮมเบอร์เกอร์ พร้อมกลิ่นหอมจากโรงงานไฮนซ์ (Heinz) ซึ่งผลิตซอสมะเขือเทศในเมืองซาเลมมานานกว่า 100 ปี จนถึงปี 1977 และเรื่องราวชวนยิ้มของจอห์นสันผู้กล้ากินมะเขือเทศต่อหน้าสาธารณชนบนขั้นบันไดหน้าศาลากลางเมือง” เขากล่าว
ถึงแม้ว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับจอห์นสันจะถูกตีตราด้วยข้อเท็จจริงที่เขาเคยเป็นเจ้าของทาส แต่มะเขือเทศยังคงครองใจเมืองเล็กๆ แห่งนี้ในรัฐนิวเจอร์ซีย์อย่างเหนียวแน่น
เรื่อง Yolanda Evans
แปลและเรียบเรียง ญาณิศา ไชยคำ
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
อ่านเพิ่มเติม : ประเทศไทยทำอย่างไร
ถึงเป็นผู้นำโลกด้านแมลงกินได้