ไทย-เกาหลี ลงนามศึกษาสร้าง “ท่าอวกาศยาน” ในไทย

ไทย-เกาหลี ลงนามศึกษาสร้าง “ท่าอวกาศยาน” ในไทย

GISTDA และ Korea Aerospace Research Institute (KARI) ลงนามความร่วมมือการศึกษาความความเป็นไปได้ในการสร้างจัดตั้ง “ท่าอวกาศยาน” ในประเทศไทย คาด 3 ปีศึกษาแล้วเสร็จ

อุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นกลไกใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และหนึ่งในแนวทางที่ถูกพูดถึงมาตลอดคือการสร้าง “ท่าอวกาศยาน” หรือ  Spaceport ซึ่งเป็นพื้นที่ปล่อยจรวดขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และเป็นสถานที่ลงจอดหรือจุดแวะพักสำหรับอวกาศยานในอนาคต เช่น เที่ยวบินทัวร์อวกาศ เที่ยวบินข้ามทวีป เป็นต้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. และ Mr.Sang-Ryool LEE ประธานบริหาร Korea Aerospace Research Institute (KARI) ร่วมลงนามความร่วมมือการศึกษาความความเป็นไปได้ในการสร้างจัดตั้ง ท่าอวกาศยาน ในประเทศไทย โดยการลงนามในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงอว. และ Mr.Bae Jae Hyun อัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจําประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยานฯ

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอวกาศ  โดยมี ท่าอวกาศยาน เป็นหนึ่งในผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ รวมไปถึง (ร่าง) พ.ร.บ. กิจการอวกาศที่จะเป็นกลไกสำคัญในการใช้ประโยชน์จากอวกาศสู่การพัฒนาประเทศบนฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อไป

 ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ในประเทศไทย ด้วยศักยภาพและความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์สำหรับการจัดตั้ง Spaceport มากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การได้ร่วมมือกับ KARI ซึ่งเป็นองค์กรด้านการวิจัยอวกาศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาตินี้เกิดขึ้นหลังจากการลงนาม MOU ความร่วมมือด้านกิจการอวกาศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และ Mr.Sang-Ryool LEE ประธานบริหาร Korea Aerospace Research Institute (KARI)

การศึกษาความเป็นได้ในการสร้าง spaceport ในประเทศไทยครั้งนี้ KARI และรัฐบาลเกาหลี จะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกับทีมไทยแลนด์ โดย GISTDA จะสนับสนุนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งร่วมจัดกิจกรรมด้านอวกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดของโลก มีจุดเด่นในเรื่องของสภาพภูมิศาสตร์ครบถ้วนสำหรับการสร้างท่าอวกาศยาน ดังนั้น ความร่วมมือกับเกาหลีที่เป็นพันธมิตร และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศจะช่วยสนับสนุนไทยทั้งด้านความรู้ เทคโนโลยี การพัฒนากำลังคน และงบประมาณ โดยการวิจัยดังกล่าวจะคำนึงถึงความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ สถานที่จัดตั้ง ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ภัยพิบัติ ความเป็นไปได้ของสภาพแวดล้อม ผลเสียต่อธรรมชาติ ชนิดของจรวดนำส่ง ใบอนุญาตและกฎระเบียบข้อบังคับในการนำส่งจรวดตลอดจนการดำเนินงานด้านธุรกิจ”

สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวจะศึกษารายละเอียดเชิงลึกอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ สถานที่จัดตั้ง ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ภัยพิบัติ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ชนิดของจรวดนำส่ง ใบอนุญาตและกฎระเบียบข้อบังคับในการนำส่งจรวด รวมทั้งโมเดลด้านธุรกิจ การวิเคราะห์ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการทำความเข้าใจกับสังคม เป็นต้น ซึ่งการศึกษาความเป็นไปได้นี้จะต้องเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในเวลา 3 ปี

ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวอีกว่า การศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาจัดตั้ง Spaceport ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ ต่อยอดขยายกิจการอวกาศของประเทศและภูมิภาคให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ที่จะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่กับประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้นตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรประมาณละติจูด 5 – 20 องศาเหนือ ซึ่งบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรจะเป็นผลดีต่อการส่งจรวดที่ใช้แรงเหวี่ยงจากการหมุนรอบตัวเองของโลก เพื่อเสริมความเร็วให้กับจรวด เพราะบริเวณแนวเส้นหรือใกล้เส้นศูนย์สูตร เป็นจุดที่มีความเร็วจากการหมุนของโลกเร็วกว่าจุดอื่นๆ ทำให้ประหยัดทั้งพลังงานและงบประมาณจำนวนมหาศาลในการปล่อยจรวดแต่ละครั้ง จรวดที่ถูกส่งจากฐานปล่อยบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร จะทำให้ดาวเทียมที่นำส่งไปพร้อมจรวดเข้าสู่วงโคจรได้ง่ายและเร็วขึ้น

Recommend