23 พฤษภาคม วันเต่าโลก (World Turtle Day)

23 พฤษภาคม วันเต่าโลก (World Turtle Day)

วันที่ 23 พฤษภาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันเต่าโลก’ (World Turtle Day) โดยองค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเล American Tortoise Rescue ในสหรัฐอเมริกา มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึกและร่วมกันอนุรักษ์เต่าที่มีปริมาณลดลงทั่วโลก

เต่า คือ สัตว์จำพวกหนึ่งในอันดับ Testudines จัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลือดเย็น ในชั้นสัตว์เลื้อยคลาน เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมาแล้วกว่า 200 ล้านปี ซึ่งเต่านั้นถือเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยเต่าจะมีกระดูกที่แข็งคลุมบริเวณหลังที่เรียกว่า “กระดอง” ซึ่งประกอบด้วยแคลเซียมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะสามารถหดหัว ขา และหางเข้าในกระดองเพื่อป้องกันตัวได้ แต่เต่าบางชนิดก็ไม่อาจจะทำได้ เต่าเป็นสัตว์ที่ไม่มีฟัน แต่มีริมฝีปากที่แข็งแรงและคม ใช้ขบกัดอาหารแทนฟัน

ส่วนใหญ่แล้ว เต่า เป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ได้ช้า อาศัยและใช้ช่วงชีวิตหนึ่งอยู่ในน้ำ ซึ่งมีอาศัยทั้งน้ำจืด และน้ำเค็ม แต่เต่าบางจำพวกก็ไม่ต้องอาศัยน้ำเลย เรียกว่า “เต่าบก” (Testudinidae) ซึ่งเต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ เต่ายักษ์กาลาปากอส (Geochelone nigra) ที่อาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะกาลาปากอส ในเอกวาดอร์ (มีทั้งหมด 15 ชนิดย่อย) ในขณะที่เต่าน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ เต่าอัลลิเกเตอร์ (Macrochelys temminckii) อาศัยอยู่ตามหนองน้ำในทวีปอเมริกาเหนือ

แม้เต่าจะขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน แต่เต่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามจากการล่าเนื้อและกระดองอย่างผิดกฎหมาย ภัยคุกคามที่ทำให้ประชากรเต่ามีจำนวนลดลง อาทิเช่น การสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยเนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง การทิ้งขยะลงทะเล การทำประมงโดยการลากอวน และอัตราการรอดของลูกเต่าในธรรมชาติมีน้อยมาก จึงยิ่งทำให้ประชากรเต่าลดน้อยลงด้วย

โดยเฉพาะในเต่าทะเล ซึ่งจากรายงานสถานภาพสัตว์ทะเลหายาก ปี 2560 ของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า สถิติการลดลงของเต่าทะเลยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ มีปัญหาการลักลอบเก็บไข่เต่า อีกทั้งพื้นที่วางไข่และหากินของเต่าทะเลที่ลดลงจากการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่ง ทำให้สถิติการวางไข่ของเต่าทะเลลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5 ส่วน ภายในระยะเวลา 60 ปี

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปริมาณเต่าทะเล ที่ทำการเพาะพันธุ์และปล่อยกลับสู่ทะเล ไม่สามารถชดเชยประชากรในธรรมชาติได้เนื่องจากอัตรารอดของลูกเต่าทะเลในธรรมชาติน้อยมากเต่าทะเลจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถูกล่าจับด้วยเครื่องมือทำการประมง ทำการประมงของไทยในสมัยนั้นยังขาดมาตรการการควบคุมที่ดีพอ ทำให้เต่าทะเลถูกทำลายโดยการประมงใกล้ฝั่งปีละจำนวนมาก เนื่องจากปริมาณความต้องการกระดองและเนื้อเต่าทะเลเพื่อการส่งออกสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการล่าจับเต่าทะเลมากในระยะหนึ่งต่อมา กรมประมง ได้มองเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จึงได้ออกประกาศห้ามทำการประมงอวนลากใกล้ชายฝั่งในระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง และเพิ่มกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลมากขึ้นต่อมาสัมปทาน เก็บฟองไข่เต่าทะเล ได้ถูกยกเลิกไป สาเหตุจากการลดจำนวนของเต่าทะเล และแหล่งวางไข่เต่าทะเลหลายแห่งได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากร”

ปัจจุบันเต่าทะเลถูกจัดเป็นสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งโดยทั่วโลกกำลังตระหนัก ถึงการลดจำนวนลง และมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า โดยเฉพาะเต่าทะเลในน่านน้ำไทย ซึ่งเหลือจำนวนน้อยมาก ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองและอนุรักษ์เต่าทะเลแล้วก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม : พบซากเต่ากาลาปากอสที่ใกล้สูญพันธุ์ เจ้าหน้าที่คาด กำลังถูกล่าและกินโดยมนุษย์

Recommend