ความตระหนักรู้ ภาวะโลกเดือด และแนวทางแก้ปัญหาทะเลไทย ในปี 2024

ความตระหนักรู้ ภาวะโลกเดือด และแนวทางแก้ปัญหาทะเลไทย ในปี 2024

ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ในช่วงฤดูร้อนอันมีอากาศอันร้อนระอุผิดปกติ กระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนจำนวนมาก

ได้ชวนทำให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความน่าสะพรึงกลัวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งสหประชาชาติได้ให้นิยามไปอีกขั้นว่าเป็น “ภาวะโลกเดือด” ไปแล้ว

ทำให้ภาวะนี้โลกเดือดนี้มีโอกาสก่อให้เกิดเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลไปสู่มนุษยชาติในวงกว้าง ดังนั้นจริงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้คนในทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติให้คงกลับไปสภาพที่สมบูรณ์ อันจะมีส่วนช่วยให้โลกของเรากลับมาเย็นขึ้นได้ รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ในเชิงวิชาการใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เรารับมือกับภาวะโลกเดือดนี้ได้ดียิ่งขึ้น

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้จัดวงเสวนาพูดคุยในหัวข้อ “สถานการณ์ภาวะโลกเดือด ความท้าทาย ผลกระทบ และแนวทางการแก้ปัญหาในประเทศไทย” โดย ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา และ ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เป็นผู้นำในการเสวนา ณ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา (ซ้าย) และ ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ผู้บรรยายการเสวนาเรื่อง “สถานการณ์ภาวะโลกเดือด ความท้าทาย ผลกระทบ และแนวทางการแก้ปัญหาในประเทศไทย”

บลูคาร์บอน – ทางเลือกใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมยุค 2024 

ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ได้กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะโลกเดือดที่ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลได้ว่า ในปัจจุบัน การแก้ปัญหาโลกร้อนโดยใช้กลไกระบบนิเวศทางทะเลในจะปัจจุบันจะมุ่งความสนใจไปที่ “บลูคาร์บอน” (Blue Carbon) อันเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเอาไว้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องของมหาสมุทร เรื่องของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลต่าง ๆ เช่น ป่าชายเลน และหญ้าทะเล เป็นแหล่งที่ดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อไม่ให้ตัวก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งเป็นส่งผลทำให้ทะเลเดือด ณ ปัจจุบันนี้

ดร. บัลลังก์ ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า แต่เดิมพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนใหญ่จะมีป่าชายเลนเยอะมาก แต่ข้อมูลจากนี้ในปี 2552 มีป่าชายเลนถูกทำลายหลังจากที่มีการเข้าทำลายป่าเพื่อหารใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม แต่หลังจากความพยายามในการฟื้นฟู รวมถึงมาตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นมากขึ้นในปี 2563 พื้นที่ป่าชายเลนในไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 – 300,000 ไร่ และในท้ายที่สุด ดร. บัลลังก์ ได้ให้คำแนะนำเรื่องการฟื้นฟูป่าชายเลนให้ได้ผลอย่างยั่งยืนว่า “การฟื้นฟูป่าชายเลนมีหลักคิดสามประเด็นหลัก ๆ ด้วยกัน

ประเด็นแรกก็คือเลือกพื้นที่ป่าชายเลนที่จะฟื้นฟูหรือเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดอัตรารอดที่สูงที่สุด ดังนั้นหลักของการที่เราจะฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนก็คือให้เหมาะสม ส่วนที่สอง คืออนุรักษ์รักษาพื้นที่ป่าชายเลนเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดี พร้อมสร้างจิตสำนึกกับผู้คนควบคู่กัน ส่วนที่สามคือ การอนุรักษ์ป่าชายเลนจะยั่งยืนหรือไม่ขึ้นอยู่การบริหารจัดการพื้นที่ป่าในชุมชนตรงนั้น ถ้าเกิดว่าผู้นำชุมชนเข้มแข็ง หรือมีทำให้ชุมชนมีวิธีการบริหารจัดการที่ดีอย่างต่อเนื่อง มิใช่เพียงการจัดโครงการเพียงชั่วระยะเวลาแล้วชุมชนไม่ได้จัดการหรือดูแลต่อ นี่เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด”

หญ้าทะเลไทย – ปะการัง ระบบนิเวศที่ต้องเร่งฟื้นฟู

ด้าน ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ ได้กล่าวถึงอีกหนึ่งระบบนิเวศที่เป็นส่วนหนึ่งของบลูคาร์บอนที่สำคัญมากเช่นกัน นั่นคือ “หญ้าทะเล” ซึ่งขณะนี้มีสภาวะที่ตรงกับข้ามกับป่าชายเลน คือถูกทำลายและมีพื้นที่ถดถอยไปมาก โดย หญ้าทะเลมีความสำคัญในระบบนิเวศ คือการเป็นที่อยู่อาศัย และที่อนุบาลของสัตว์น้ำหลายชนิด เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา รวมไปถึงสัตว์ใหญ่อย่างพะยูน และเต่าทะเล นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการดักตะกอนได้ทำให้น้ำทะเลใสสะอาดขึ้นโดยธรรมชาติ ดังนั้น หญ้าทะเลถือเป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศทางทะเลที่มีคุณภาพและสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลนั้นหายไป ดร. สราวุธชี้ว่า มีทั้งจากพฤติกรรมของมนุษย์ และภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น กลายเป็นภาวะ “ทะเลเดือด” เมื่อหญ้าทะเลหายไป ก็พบว่าปริมาณของตัวอ่อนของสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติก็จะลดลงไป และชาวประมงก็จะหาปลาตามแนวของป่าชายเลนได้น้อยลงไปตามไปด้วย ดร.สราวุธ ได้มีโอกาสลงพื้นที่ เพื่อไปช่วยเหลือด้านการปลูกและฟื้นฟูหญ้าทะเลที่ถูกต้องเหมาะสม

“พอเราลงไปพื้นที่ ปรากฏว่าสิ่งหนึ่งที่พบเห็นเลยคือพื้นที่บริเวณอุทยานเจ้าไหม และเกาะลิบง (จ.ตรัง) หญ้าทะเลที่เคยมีอยู่เป็นดง ประมาณสักแปดพันกว่าไร่สูญหายไปเยอะมาก เหลือประมาณสักหนึ่งพันหรือสองพันกว่าไร่โดยประมาณ ในช่วงปี 2566 ประมาณสักเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม พื้นที่บริเวณนั้นจะมีหญ้าทะเลสูงมาก เป็นดงเยอะมาก แต่พอผมเข้าไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนั้น (หญ้าทะเล) มันหายไปเลย หายแบบไม่เห็นเงา ไม่เห็นต้น ไม่เห็นอะไรเลยครับ”

ดร.สราวุธจึงได้ริเริ่มการเพาะพันธุ์หญ้าทะเลภายในโรงเรือนของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ร่วมกับการเพาะพันธุ์พื้นและสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลอื่นๆ เช่น ต้นโกงกาง ปะการัง เป็นต้น ซึ่งในส่วนของปะการัง ดร.สราวุธ ได้ชี้ให้เห็นถึงภาวะที่ปะการังในไทยกำลังอยู่ในภาวะ “ฟอกขาว” อย่างหนัก ในเนื่องมาจากภาวะโลกเดือดเช่นกัน

โดยปะการังฟอกขาว เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ ทำให้เกิดความเป็นพิษระหว่างปะการังกับสาหร่าย Zooxanthellae ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อปะการัง ปะการังขับสาหร่ายชนิดนี้ออกจากเนื้อเยื่อ ทำให้สูญเสียสีที่มาจากสาหร่าย โดยเนื้อปะการังที่ใสทำให้มองเห็นโครงหินปูนสีขาวด้านใน จึงดูเหมือนปะการังมีสีขาว ภาวะเช่นนี้ทำให้ปะการังสูญเสียแหล่งอาหารหลัก (90% มาจากสาหร่าย) ทำให้อ่อนแอลง หากสภาวะนี้เกิดขึ้นนานเกินไป ปะการังจะตายในที่สุด และเมื่อปะการังตาย ระบบนิเวศทั้งหมดในแนวปะการังจะเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในทะเล

“ถ้าปะการังตาย มันจะมีกลุ่มสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งที่เคยช่วยดึงคาร์บอนไดออกไซด์หายไป ถ้าเกิดขึ้นในสัดส่วนที่เยอะ แปลว่าสิ่งที่จะช่วยดึงคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ (ในชั้นบรรยากาศ) หายไป นั่นคือความน่ากังวล ถามว่าทำไมเราถึงต้องพยายามให้ปะการังมันมีชีวิต ต้องดูแล ต้องปกป้อง เพราะนอกจากประการังเป็นแหล่งที่มีสัตว์เยอะแยะแล้ว ยังมีความสำคัญในแง่ของบลูคาร์บอนมากด้วย” ดร.สราวุธ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่ดีเกิดขึ้น เมื่อ ดร.สราวุธ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ณ ขณะนี้ (มิถุนายน 2567) อุณหภูมิน้ำทะเลเริ่มลดลงสู่ภาวะปกติ เนื่องจกฝนและอากาศที่ดีขึ้น โดยเฉพาะบริเวณปะการังในภาคตะวันออก เช่นที่พัทยาและเกาะสีชัง แต่ในบริเวณทะเลฝั่งอันดามัน ยังฟื้นฟูได้ไม่เท่า จึงอาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ปาการังฟอกขาวในทะลไทยยังน่าเป็นห่วง และถ้าภาวะโลกร้อนยังไม่บรรเทา นั่นหมายความว่าภาวะปะการังฟอกขาวอาจกลับมาเลวร้ายได้อีกครั้ง จึงต้องมีการอนุรักษ์ฟื้นฟูปะการังให้ได้มากที่สุด

ซึ่ง ดร.สราวุธ แนะนำวิธีการว่า ให้มนุษย์หยุด หรือเข้าไปรบกวนปะการังให้น้อยที่สุดก่อน ควบคู่ไปกับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ในตอนนี้ นั่นคือการค้นหาปะการังที่รอดจากภาวะฟอกขาวในช่วงทะเลเดือดนี้มาเพาะพันธุ์ในโรงเรือนเพื่อให้เป็นปะการังที่มีความอดทนและยืดหยุ่นสูง เพื่อให้ระบบนิเวศปะการังยังคงอยู่ เป็นแหล่งอาหาศและอยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มปริมาณการดูดซับบลูคาร์บอน บรรเทาปัญหาภาวะโลกเดือดให้ดีขึ้น

ปัจจุบัน ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง พร้อมกับ ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ ได้ดำเดินโครงการเพาะพันธุ์หญ้าทะเลภายในโรงเรือนของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่ทำเนินงานในแนวคิด Eco-friendly Marine Environmental Actually และ Zero Waste Impact Actually โดยใช้ระบบน้ำวนเวียน ไม่ปล่อยน้ำเสียทิ้ง และบำบัดโดยใช้สาหร่ายทะเล เพื่อให้โรงเรือนแห่งนี้มีสภาวะที่ใกล้เคียงกับทะเลให้ได้มากที่สุด โดยโรงเพาะแห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟู เพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ สัตว์ทะเล และพืชทะเลนานาชนิด ก่อนจะนำกลับคืนสู่ทะเลในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเล

Recommend