นักโภชนาการ และบุคลากรทางการแพทย์ มักแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เนื่องจากอาหารแต่ละชนิดมีทั้ง สารอาหารที่ให้พลังงาน และสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน
นิยามของอาหาร และ สารอาหารที่ให้พลังงาน
อาหาร หมายถึง สิ่งที่รับประทานเข้าสู่ร่างกายแล้วไม่เป็นโทษต่อร่างกายและมีประโยชน์ โดยทำให้ร่างกายดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข และให้พลังงานแก่ร่างกาย ซึ่งพลังงานเหล่านี้นำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
สารอาหาร คือ สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบในอาหารที่เรารับประทานเข้าไป มีมากมายหลายชนิด การจำแนกสารอาหารตามหลักโภชนาการจะพิจารณาจากปริมาณของสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารนั้นๆ มากที่สุดเป็นหลัก ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 หมู่ ดังนี้ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ
การกำเนิดของสารอาหาร
ลกของเรามีพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของโลก มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานเคมีได้โตยตรง แต่เราได้รับจากการรับประทานอาหาร โดยในอาหารที่เรารับประทานเข้าไปจะมีสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เช่น ข้าว มีกระบวนสังเคราะห์แสงได้ผลผผลิตออกมาเป็นเมล็ดข้าว เมื่อมนุษย์รับประทานข้าวจึงได้รับพลังงานที่เก็บสะสมอยู่ในนั้น
ดังนั้น อาหารที่มนุษย์บริโภคทุกวันจึงเป็นแหล่งพลังานให้กับร่างกาย และพลังงานเหล่านั้นก็ช่วยเสริมสร้างให้กิจกรรมต่างๆ ภายในร่างกายของมนุษย์ดำเนินต่อไปอย่างเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม อาหารที่เรารับประทานเข้าไปมีสารอาหารประกอบอยู่มากมาย เมื่อรับประทานเข้าไปจะถูกเผาผลาญให้เกิดเป็นพลังงาน และความร้อน เพื่อนำไปใช้ควบคุมการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น การเดิน การวิ่ง การยืน การนอน การหายใจ เป็นต้น ซึ่งหากแบ่งสารอาหารโดยใช้เกณฑ์การให้พลังงานของสารอาหาร จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- สารอาหารที่ให้พลังงาน
- สารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน
กลุ่มสารอาหารที่ให้พลังงาน
สารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน อาหารทั้งหมดในกลุ่มนี้จัดเป็นสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อร่างกาย และขาดไม่ได้
1. คาร์โบไฮเดรต สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เป็นสารอินทรีย์ที่ให้พลังงานที่สำคัญแก่ร่างกาย มักพบอยู่ในรูปของแป้ง และน้ำตาล เป็นส่วนใหญ่ พบมากในข้าว แป้ง ขนมปัง ผัก ผลไม้ นม และผลิตภัณฑ์จากนม คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี หากปริมาณคาร์โบไฮเดรตในร่างกายมีมากเกินความต้องการ ร่างกายจะเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตส่วนเกินนี้ให้อยู่ในรูปของไกลโคเจนและเก็บสะสมไว้ในร่างกาย
2. ไขมัน สารอาหารประเภทไขมันเป็น สารอาหารที่ให้พลังงาน สูง ประกอบด้วยกรดไขมันและ กลีเซอรอล พบมากในไขมันจากพืช มันสัตว์ นม เนย ถั่ว กรดไขมันแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 กรดไขมันอิ่มตัว เป็นไขมันที่พบมากในเนื้อสัตว์ มันสัตว์ หนังสัตว์ เครื่องใน ไข่แดง กุ้ง ปู นม และผลิตภัณฑ์จากนม ไขมันประเภทนี้ หากมีมากเกินไปจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน
2.2 กรดไขมันไม่อิ่มตัว เป็นไขมันที่พบมากในถั่ว เต้าหู้ เห็ด น้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม) ช่วยลดการดูดซึมไขมันอิ่มตัว ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน
สำหรับไขมัน 1 กรัม จะให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี สารอาหารประเภทไขมันช่วยให้อาหารมีรส กลิ่น และเนื้อสัมผัสที่ดีขึ้น ช่วยในการดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และเค ปริมาณไขมันที่มากเกินความต้องการของร่างกายจะถูกสะสมเป็นชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนของอวัยวะภายใน ป้องกันการสูญเสียความร้อนของร่างกาย
3. โปรตีน
สารอาหารประเภทโปรตีน เป็นสารอาหารที่มีในร่างกายมากที่สุดรองจากน้ำ หน่วยย่อยที่เล็กที่สุด คือกรดอะมิโน มีประมาณ 12 -22 ชนิด โดยจำแนกเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย และกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย
สารอาหารประเภทโปรตีนมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างสารควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น ฮอร์โมน และเอนไซม์ รักษาดุลยภาพของสารต่างๆ ในร่างกาย ให้พลังงาน และความร้อน
เช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ช่วยป้องกันโรคไขมันอุดตัน และสร้างภูมิคุ้มกันโรค สารอาหารจำพวกโปรตีนพบมากในไข่ นม เนื้อสัตว์ ถั่ว ข้าว ข้าวโพด ผักและผลไม้บางชนิด
โปรตีนในเนื้อสัตว์เป็นโปรตีนที่สมบูรณ์ เพราะมีกรดอะมิโนครบตามความต้องการของร่างกาย แต่หากผู้ใดไม่รับประทานเนื้อสัตว์ก็สามารถรับประทานอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด ผัก และผลไม้ชดเชยได้ แต่อาหารประเภทนี้ก็จะมีกรดอะมิโนไม่ครบตามที่ร่างกายต้องการ โปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี
ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีอาหารให้เลือกรับประทานอย่างหลากหลาย และสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างสะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความสะดวกสบายอาจทำให้เข้าถึงอาหารได้มากขึ้น แต่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเหมาะสมกับตัวเอง ก็ยังเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคยังต้องตระหนักอยู่เสมอ
สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.mdanderson.org/publications/focused-on-health/what-are-macronutrients-.h15-1593780.html
https://avitahealth.org/health-library/macronutrients-a-simple-guide-to-macros/
https://www.webmd.com/diet/what-are-macronutrients
https://www.healthline.com/nutrition/what-are-macronutrients