กลุ่มดาว บนท้องฟ้า (Constellations)

กลุ่มดาว บนท้องฟ้า (Constellations)

กลุ่มดาวและการเคลื่อนที่

ดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวทั้งหลาย ล้วนมีลักษณะคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา โดยปรากฏตัวขึ้นทางทิศตะวันออก ก่อนเคลื่อนที่ไปถึงจุดสูงสุดกลางท้องฟ้า ก่อนตกทางทิศตะวันตก เนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเองเช่นเดียวกับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งทำให้ในหนึ่งปี แต่ละเดือนจะมีกลุ่มดาวที่แตกต่างกันปรากฏขึ้นราว 30 วัน โดยที่กลุ่มดาวที่ปรากฏขึ้นในแต่ละเดือนนี้ ถูกเรียกว่า “จักรราศี” (Zodiac) ซึ่งมนุษย์นำกลุ่มดาวจักรราศีนี้ มาเป็นเครื่องบ่งชี้ตำแหน่งและเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า “สุริยะวิถี” (Ecliptic) ผ่านการเปรียบเทียบตำแหน่งกับกลุ่มดาวฤกษ์ที่อยู่เบื้องหลังและเส้นขอบฟ้า

ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม ดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ด้านหน้ากลุ่มดาว “วัว” (Taurus) ก่อนจะเคลื่อนที่ไปอยู่ด้านหน้ากลุ่มดาว “คนคู่” (Gemini) ในอีก 30 วันต่อมา มนุษย์นำกลุ่มดาวจักรราศีนี้ มาใช้ในปฏิทินสุริยคติ กำหนดวันเดือนปี และกิจวัตรในการทำการเกษตร รวมถึงใช้เป็นความรู้พื้นฐานทางโหราศาสตร์ที่เรารู้จักกันดีในนาม “ดาวประจำราศี” อีกด้วย

ดาวจักรราศี, กลุ่มดาว, สุริยะวิถี
ดาวจักรราศีและสุริยะวิถี

การตั้งชื่อ

นอกจากชื่อของกลุ่มดาวแล้ว ดาวฤกษ์แต่ละดวงในกลุ่มดาวล้วนมีชื่อเรียกตามระบบการตั้งชื่อ คือ การใช้อักษรกรีกโบราณในการตั้งรหัสดวงดาวแต่ละดวงในกลุ่ม ซึ่งถูกคิดค้นโดยนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน โยฮันน์ เบเยอร์ (Johann Bayer) ก่อนที่จอห์น แฟลมสตีด (John Flamsteed) จะคิดค้นระบบตัวเลขเข้ามาใช้ โดยการอ้างอิงจากค่าไรต์แอสเซนชัน (Right ascension) ของดวงดาว ซึ่งต่อมาระบบตัวเลขนี้เป็นที่รู้จักในนาม “ระบบการตั้งชื่อดาวฤกษ์ของเฟลมสตีด” หรือ “ระบบตัวเลขเฟลมสตีด”

นอกจากกลุ่มดาวและดวงอาทิตย์แล้ว บรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะล้วนมีชื่อตามความเชื่อและตำนานของชาวกรีกโบราณ โดยที่ดาวเคราะห์ในภาษากรีกโบราณ หมายถึง “ผู้พเนจร” เป็นตัวแทนของเทพเจ้าหลายองค์ เช่น ดาวพุธ (Mercury) เทพแห่งการสื่อสาร ดาวศุกร์ (Venus) เทพีแห่งความรัก หรือดาวอังคาร (Mars) เทพเจ้าแห่งสงคราม เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ระบบสุริยะ

กลุ่มดาว, ดาวบนท้องฟ้า, แผนที่ดวงดาว
กลุ่มดาวทั้ง 88 กลุ่ม ในทรงกลมท้องฟ้าของโลก

กลุ่มดาวในปัจจุบัน

ถึงแม้ท้องฟ้าของเราจะมีกลุ่มดาวถึง 88 กลุ่ม ประกอบไปด้วยดวงดาวหลายพันดวง แต่เราไม่สามารถมองเห็นกลุ่มดาวทั้งหมดจากจุดๆ เดียวบนพื้นโลก นอกจากความแตกต่างระหว่างซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้แล้ว ฤดูกาลยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการมองเห็นกลุ่มดาวเหล่านี้

ปัจจุบันยังพบว่ามีกลุ่มดาว “ไม่เป็นทางการ” อีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการรับรอง แต่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เช่น ดาวกระบวยใหญ่ (Big Dipper) ซึ่งนักดาราศาสตร์เรียกกลุ่มดาวที่ไม่เป็นทางการนี้ว่า “ดาวเรียงเด่น” (Asterism) ซึ่งเป็นรูปแบบการเกาะกลุ่มขนาดเล็กของดาวฤกษ์ ผ่านการลากเส้นเชื่อมดาวชุดที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวแต่ละกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน

แผนที่ดวงดาว, กลุ่มดาว
แผนที่ดวงดาวในช่วงปลายศตวรรษที่สิบหก

นอกจากนี้ ท้องฟ้าของเราไม่มีกลุ่มดาวกลุ่มใหม่เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกเลย นับตั้งแต่การค้นพบกลุ่มดาวชุดสุดท้ายเมื่อหลายร้อยปีก่อน ถึงแม้จะมีการค้นพบดวงดาวดวงใหม่เรื่อยมา แต่นักดาราศาสตร์นำดวงดาวเหล่านี้ เข้าไปรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวใกล้เคียง ทำให้จนถึงปัจจุบันนี้ โลกของเรามีกลุ่มดาวสากลทั้งหมด 88 กลุ่มเท่านั้น

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


อ้างอิง

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

The International Astronomical Union (IAU)

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA)

Astronomy Department at Cornell University


สิ่งมีชีวิตนอกโลก : มีใครอยู่ข้างนอกนั่นไหม

Recommend