นักดาราศาสตร์ใช้ AI ช่วยหาสัญญาณจาก มนุษย์ต่างดาว ที่เคยมองข้ามไป พบ 8 สัญญาณที่น่าสนใจซึ่งอาจเป็นเอเลี่ยน

นักดาราศาสตร์ใช้ AI ช่วยหาสัญญาณจาก มนุษย์ต่างดาว ที่เคยมองข้ามไป พบ 8 สัญญาณที่น่าสนใจซึ่งอาจเป็นเอเลี่ยน

การวิเคราะห์ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Astronomy ระบุว่า นักดาราศาสตร์ใช้ AI ช่วยในการระบุหาสัญญาณจาก มนุษย์ต่างดาว ที่เคยมองข้ามไปนับล้านรายการ

พบ 8 สัญญาณที่น่าสนใจ เพราะอาจเป็นเทคโนโลยีของเอเลี่ยน ปัจจุบัน AI (เอไอ : Artificial Intelligence) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อปัญญาประดิษฐ์ ได้นำมาประยุกต์ใช้ในแทบทุกด้านของวงการวิทยาศาสตร์ ช่วยให้นักวิจัยจำแนกข้อมูลประเภทต่าง ๆ ที่มีปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว

หนึ่งในนั้นคือการค้นหาสัญญาณที่อาจมาจากสิ่งมีชีวิตต่างดาว ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากโลกถูกกระหน่ำด้วยสัญญาณมากมายจากทุกทิศทุกทางตลอดเวลา จึงเป็นงานยากที่จะมองหา ‘ลายเซ็น’ ที่แตกต่างโดยอาศัยเพียงหูเพื่อฟังเพียงอย่างเดียว

โครงการเซติ หรือ SETI (The search for extraterrestrial intelligence) คือองค์การไม่แสวงหากำไรเพื่อค้นหาอะไรก็ตามที่อาจมาจากอารยธรรมต่างดาว โดยพวกเขาเรียกมันว่า ‘ลายเซ็นเทคโนโลยี’ (Technosignature) ตั้งแต่ข้อความวิทยุที่ใช้ติดต่อกันไปจนถึงโครงสร้างขนาดใหญ่ในอวกาศ ซึ่ง ปีเตอร์ หม่า (Peter Ma) นักวิจัยด้านแมชชีนเลิร์นนิ่ง จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ได้ฝึกให้เครื่องจักรรู้จักกับดาราศาสตร์วิทยุ (Radio astronomy) เป็นครั้งแรก

ข้อมูลกว่า 480 ชั่วโมงที่มาจากการสังเกตดวงดาว 820 ดวง โดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุกรีนแบงค์ (Green Bank) ที่รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถูกใช้เป็นแบบฝึกหัดให้กับอัลกอริทึมนี้ เพื่อระบุข้อมูลที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น จากนั้นแยกมันออกมาว่ามีความสำคัญหรือไม่ หรือเป็นเพียงสัญญาณที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ

จาก 2.9 ล้านสัญญาณ ระบบได้ตีกรอบให้แคบลงเหลือ 20,515 รายการที่น่าสนใจมากพอที่จะตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่ตรวจหาโดยมนุษย์ที่พบเพียง 200 รายการ และเมื่อวิเคราะห์อย่างใกล้ชิดจากทั้งหมดนั้น ทีมงานพบว่ามี 8 สัญญาณที่น่าสนใจถึงที่สุด มันอาจเป็นสิ่งลึกลับ หรือข้อความจากวัฒนธรรมต่างดาว

การแสดงค่าของอัลกอริทึมระบุว่ามาจากดดาวที่ห่างออกไปเพียง 30 ถึง 90 ปีแสง มันมีความโดดเด่นตรงที่สัญญาณนั้นถูกถ่ายทอดในแถบความถี่ที่เฉพาะและแคบ อีกทั้งความยาวคลื่นของสัญญาณดูเหมือนจะมีการ ‘สั่น’ เล็กน้อยคล้ายกับปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ดอปเปลอร์ (Doppler Effect) กล่าวง่าย ๆ คือคลื่นวิทยุนั้นมีการยืดขึ้นหรือหดสั้นลงเล็กน้อยเมื่อผู้ส่งมีการเคลื่อนที่เข้าใกล้หรือออกห่างจากผู้รับมากขึ้น

“หากเทคโนโลยีนอกโลกชิ้นหนึ่งปล่อยรังสีออกมาด้วยความถี่คงที่จากแท่นที่หมุนได้ (เช่นดาวเคราะห์) หรือไม่ก็เคลื่อนที่เช่นโคจรรอบดาวฤกษ์ มันก็จะมีความเร่งเมื่อเทียบกับเครื่องรับของเรา ดังนั้นมันจึงแสดงปรากฎการณ์ดอปเปลอร์ออกมา” หม่า กล่าว

กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันอาจเป็นเบาะแสว่าสัญญาณอาจมาจากดาวเคราะห์ และไม่ได้มาจากตัวดาวฤกษ์เอง แต่ทีมงานย้ำว่านี่ไม่ใช่หลักฐานจริง ๆ ของมนุษย์ต่างดาว พวกเขาแค่พบ 8 สัญญาณวิทยุที่ไม่สามารถจำแนกได้ทันทีว่าเป็นการรบกวนจากวิทยุของมนุษย์ (เพราะมนุษย์เองก็ส่งสัญญาณกระจายออกไปทั่วท้องฟ้า) หรือเป็นเหตุการณ์ทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

“เนื่องจากเป้าหมายหลักของงานนี้คือการใช้เทคนิคใหม่เพื่อให้เครื่องเรียนรู้และระบุสัญญาณที่มีรูปแบบเฉพาะ เราจึงไม่พยายามสรุปอย่างแน่ชัดว่าสัญญาณทั้ง 8 นี้เกิดจากสิ่งมีชีวิตทรงปัญญานอกโลกอย่างแท้จริงหรือไม่” รายงานระบุ “เราสนับสนุนให้มีการสังเกตเป้าหมายเหล่านี้ซ้ำอีกครั้ง”

มันอาจเป็นการสัญญาณที่ถูกรบกวนจากวิทยุบนพื้นโลกประเภทใหม่ที่ทั้ง เอไอ และทีมวิจัยยังไม่รู้จัก หรือาจเป็นปรากฎการณ์ทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชนิดใหม่ก็เป็นไปได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบพัลซาร์ครั้งแรก พวกเขาก็พิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่าอาจพบกับมนุษย์ต่างดาว

แต่น่าเสียดายที่เมื่อทีมงานชี้เสาสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์วิทยุไปหาดวงดาวเหล่านั้นอีกครั้ง พวกเขาก็ไม่ได้ยินอะไรเลย จากสัญญาณที่น่าสนใจกลายเป็นความว่างเปล่าที่ไม่สามารถระบุได้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่มีวันรู้แน่ชัดว่ามันคืออะไร ยังไงก็ตามนี่ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของมนุษย์ที่จะได้เรียนรู้จากการ ‘ฟัง’ อะไรก็ตามที่อยู่บนท้องฟ้า

เมื่อเวลาผ่านไป AI จะเรียนรู้เพิ่มขึ้นว่าสิ่งใดน่าจะเป็นสัญญาณวิทยุของมนุษย์เอง เป็นดาวฤกษ์ที่ห่างไกล หรืออาจเป็นของสิ่งมีชีวิตต่างดาวจริง ๆ การวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Breakthrough Listen ซึ่งเป็นการค้นหามนุษย์ต่างดาวที่ได้รับทุนสนับสนุนจากเอกชน

“เรากำลังขยายความพยายามในการค้นหานี้เป็น 1 ล้านดวงด้วยกล้องโทรทรรศน์ MeerKAT (ที่กำลังก่อสร้าง) เราเชื่อว่าการทำงานเช่นนี้จะช่วยเร่งความเป็นไปได้ที่เราจะค้นพบความพยายามในการตอบคำถามว่า ‘เราอยู่คนเดียวในจักรวาลหรือไม่’” หม่า กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nature.com/articles/s41550-022-01872-z

https://www.iflscience.com/ai-finds-possible-overlooked-alien-signals-in-radio-telescope-data-67313

https://www.sciencealert.com/ai-system-detects-strange-signals-of-unknown-origin-in-radio-data

https://www.nature.com/articles/d41586-023-00258-z

Recommend