ดาวเคราะห์นอกระบบ ดวงนี้มีชื่อว่า LTT9779 b พบครั้งแรกในภารกิจ Transiting Exoplanet Survey Satellite (TESS) ของนาซาเมื่อปี 2020 แต่ในขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่ามันสามารถสะท้อนแสงในปริมาณสูง ซึ่งมีการตรวจจับได้ในเวลาต่อมาโดยดาวเทียมขององค์การอวกาศยุโรปที่ชื่อว่า The Characterising Exoplanet Satellite (CHEOPS)
นักวิทยาศาสตร์พบว่า LTT9779 b มีขนาดเทียบเท่ากับดาวเนปจูนของระบบสุริยะ ซึ่งใหญ่กว่าโลกประมาณ 5 เท่า มันจะกลายเป็น ‘กระจก’ บานใหญ่ที่สุดในจักรวาลซึ่งสะท้อนแสงจากดาวฤกษ์ของมันมากถึงร้อยละ 80 ขณะที่โลกสะท้อนแสงดวงอาทิตย์ราวร้อยละ 30 เท่านั้น
และดาวศุกร์ที่สะท้อนแสงมากที่สุดก็อยู่ที่ประมาณร้อยละ 75 แต่ความแปลกประหลาดคือ LTT9779 b นั้นโคจรอยู่ใกล้กับดาวแม่ของมันมาก และใช้เวลาโคจรครบ 1 รอบเพียง 19 ชั่วโมงเท่านั้น นั่นหมายความว่ามันถูกความร้อนสูงเผาตลอดเวลา จึงเชื่อกันว่าดาวเคราะห์เช่นนั้นจะเป็นก้อนหินยักษ์ที่ไม่มีอะไรเลย
“มันเป็นดาวเคราะห์ที่ไม่ควรจะมีอยู่จริง” วิเวียน พาร์เมนเทียร์ (Vivien Parmentier) นักวิจัยจากฝรั่งเศสกล่าว “เราคาดว่า ถ้าเป็นดาวเคราะห์แบบนี้ บรรยากาศของมันจะถูกพัดปลิวจนหายไปโดยดาวฤกษ์ของมันเอง แล้วทิ้งไว้เพียงก้อนหินเปล่าๆ”
แต่ทำไมมันกลับสะท้อนแสงได้มากถึงเพียงนี้? โดยส่วนใหญ่แล้วดาวเคราะห์ทั่วไปจะมีการสะท้อนแสงที่ต่ำ ปริมาณแสงสะท้อนนี้นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘อัลเบโด’ (Albedo) ดาวดวงไหนที่สะท้อนแสงสูงมักจะเป็นดาวที่มี “ชั้นบรรยากาศหนา” อย่างเช่นดาวศุกร์ หรือเป็นดาวน้ำแข็งอย่างเช่นเนปจูน
ตอนแรกมีการคาดการณ์กันว่า LTT9779 b จะมีอัลเบโดที่ต่ำเนื่องจากถูกเผาที่อุณหภูมิที่ราว 2,000 องศาเซลเซียสอยู่ตลอดเวลา มันร้อนเกินกว่าที่จะสร้างเมฆน้ำได้ (ซึ่งเป็นองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ) หรือแม้แต่เมฆโลหะเองก็ตาม
“มันเป็นปริศนาอยู่นาน จนกระทั่งเราตระหนักได้เมื่อคิดถึงการก่อตัวของเมฆในลักษณะเดียวกับการควบแน่นที่ก่อตัวในห้องน้ำหลังอาบน้ำอุ่น” พาร์เมนเทียร์กล่าว เธออธิบายว่าไอน้ำในห้องน้ำสามารถเกิดได้ 2 แบบ นั่นคือทำให้อากาศเย็นจนควบแน่น หรือเปิดน้ำร้อนไว้จนกว่าเมฆก่อตัวขึ้น
มันเกิดจากอากาศได้อิ่มตัวด้วยไอระเหยจนถึงจุดสูงสุดและไม่สามารถกักเก็บไว้ได้อีกต่อไปแล้ว ในทำนองเดียวกัน LTT9779 b ก็สามารถสร้างชั้นบรรยากาศด้วยเมฆโลหะที่ระเหยจากความร้อนจัดและสร้างไอจากซิลิเกตและโลหะ
“ลองนึกภาพโลกที่ลุกเป็นไฟใกล้กับดาวฤกษ์ มีเมฆโลหะหนาลอยสูง และไทเทเนียมก็โปรยปรายตกลงมา” เจมส์ เจนกินส์ (James Jenkins) นักดาราศาสตร์จากประเทศชิลีกล่าว
ทีมวิจัยเชื่อว่าเมฆโลหะสะท้อนแสงเหล่านี้ได้ปกป้องดาวเคราะห์ให้อยู่รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ร้อนระอุ กระนั้นด้วยความเป็นโลหะสูงก็ทำให้ LTT9779 b มีชั้นบรรยากาศที่หนักอึ้งและเต็มไปด้วยฝนโลหะเดือด จนน่าจะไม่สามารถรองรับชีวิตใด ๆ ได้
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.aanda.org/articles/aa/full_html/2023/07/aa46117-23/aa46117-23.html
https://edition.cnn.com/2023/07/10/world/esa-cheops-shiny-exoplanet-scn/index.html
https://www.space.com/exoplanet-largest-mirror-metal-clouds
https://www.livescience.com/space/exoplanets/mirror-like-exoplanet-that-shouldnt-exist-is-the-shiniest-world-ever-discovered