น้ำบนดาวอังคาร โดยแผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์ซ่อนตัวอยู่ใต้ชั้นดินของ ดาวอังคาร หากละลายออกมา มันจะมีปริมาณพอ ๆ กับทะเลแดงของโลก และเพียงพอที่จะกลายเป็นมหาสมุทรลึก 1.5-2.7 เมตรให้ดาวอังคาร
น้ำบนดาวอังคาร – ด้วยข้อมูลที่เก็บรวบรวมกว่า 15 ปีจากยานมาร์สเอ็กซ์แพลส (Mars Express) ขององค์การอวกาศยุโรป ทำให้นักวิทยาศาสตร์รับรู้ได้ว่าดาวอังคารแทบจะมีทุกอย่างที่เอื้อต่อการกำเนิดชีวิต และบางสิ่งบางอย่างยังคงหลงเหลืออยู่
ในปี 2007 ยานลำนี้ได้ตรวจพบตะกอนบางอย่างที่อยู่ใต้การก่อตัวทางธรณีวิทยาชื่อว่า เมดูเซย์ฟอซเซย์ฟอร์เมชั่น (Medusae Fossae Formation : MFF) แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่แน่ใจว่ามันคืออะไรกันแน่
ตะกอนดังกล่าวประกอบด้วยฝุ่นที่ฝังแทรกอยู่ ค่อนข้างโปร่งใสต่อเรดาห์และมีความหนาแน่นต่ำ (กว่าหิน) ดังนั้นมันจึงไม่ใช่หินแข็งอย่างแน่นอน มันอาจเป็นวัสดุบางอย่างจากภูเขาไฟ ไม่ก็ตะกอนจากยุคดึกดำบรรพ์ขณะที่ดาวอังคารยังคงเปียกชื้นอยู่
ดังนั้นทีมวิจัยจึงรวบรวมการสังเกตการณ์ด้วยเรดาห์อีกหลายครั้งในภูมิภาคนี้ วิเคราะห์ผลลัพธ์ และสร้างแบบจำลองเพื่อพยายามค้นหาว่ามันคืออะไรกันแน่ที่ถูกฝังอยู่ใต้ฝุ่นหนาหลายร้อยเมตร แต่สิ่งเดียวที่เข้ากับทุกการวิเคราะห์และแบบจำลองคือ ‘น้ำแข็ง’
“สิ่งนี้สร้างบางสิ่งที่หนาแน่นกว่าที่เราเห็นใน MARSIS (อุปกรณ์เรดาห์ใต้พื้นผิวของยานมาร์สเอ็กซ์แพลส) มาก และเมื่อเราสร้างแบบจำลองว่าวัสดุที่ปราศจากน้ำแข็งจะมีพฤติกรรมอย่างไร ก็ไม่มีอะไรจำลองคุณสมบัติของ MFF ได้ – เราจำเป็นต้องมีน้ำแข็ง” แอนเตรีย ชิกเชตติ (Andrea Cicchetti) นักฟิสิกส์จากสถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งชาติ กล่าว
ขณะที่ดร. โทมัส วัตเตอร์ส (Thomas Watters) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสมิธโซเนียน ผู้ศึกษาข้อมูลเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2007 เสริมว่า “เราได้สำรวจ MFF อีกครั้งโดยใช้ข้อมูลจากเรดาห์ MARSIS ของมาร์สเอ็กซ์แพลส และพบว่าตะกอนมีความหนามากกว่าที่คิด หนามากถึง 3.7 กม.”
นักวิจัยได้พิจารณาว่าอาจมีน้ำแข็งอยู่บนดาวอังคารมาตลอด แต่ไม่มีใครเคยคิดว่ามันจะมีปริมาณมโหฬารเช่นนี้ซ่อนอยู่ ซึ่งหนาเกือบ 4 กิโลเมตร และแผ่ขยายออกไปประมาณ 5,000 กิโลเมตรตามแนวเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร
ทีมนักวิทยาศาตร์ประเมินกันว่าหากมันละลายออกมาจะมีปริมาณใกล้เคียงกับ “ทะเลแดง” ที่อยู่บนโลก และก็สามารถสร้างมหาสมุทรให้กับดาวอังคารได้ลึกถึงระดับ 1.5 – 2.7 เมตร การค้นพบนี้อาจช่วยตอบคำถามว่าน้ำในดาวอังคารหายไปไหนหมด ทั้ง ๆ ที่มันแสดงหลักฐานว่ามีน้ำอยู่เมื่อนานมาแล้ว ซึ่งเคยไหลผ่านพื้นผิวเป็นแม่น้ำ หรือรวมตัวกันในทะเลสาบและมหาสมุทร
ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่ามันอาจระเหยหายออกไปสู่อวกาศในรูปของไอน้ำ หรือบางคนคิดว่าอาจซ่อนอยู่ใต้ดิน หากการก่อตัวทางธรณีวิทยา MFF ถูกสร้างขึ้นจากชั้นน้ำแข็งและฝุ่นหนาหลายร้อยเมตรจริง ๆ มันก็ถูกปกป้องไว้อย่างหนาแน่น จนอาจกลายเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำหรับมนุษย์ที่ขึ้นไปอาศัยอยู่บนดาวอังคาร รวมถึงสร้างคำถามต่อไปด้วยว่าน้ำแข็งไปอยู่ที่นั่นได้อย่างไร
“การวิเคราะห์ล่าสุดนี้ท้าทายความเข้าใจของเราเกี่ยวกับ MFF และก่อให้เกิดคำถามมากมายพอ ๆ กับคำตอบอย่าง ชั้นหินเหล่านี้ก่อตัวนานแค่ไหน และดาวอังคารในตอนนั้นเป็นอย่างไร” โคลิน วิลสัน (Colin Wilson) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการมาร์สเอ็กซ์แพลสขององค์การอวกาศยุโรป กล่าว
การดำรงอยู่ของน้ำแข็งอาจเป็นผลมาจากแกนเคลื่อนที่ของดาวอังคาร ซึ่ง ปัจจุบันขั้วของดาวอังคารเอียงไปทางดวงอาทิตย์ 25 องศา (เทียบกับโลกซึ่งมีความเอียง 23.5 องศา) แต่ในอดีตอาจมีตั้งแต่มุมตื้นถึง 10 องศา ไปจนถึงมุมสุดขั้วถึง 60 องศา
โดยในช่วงที่มีความเอียงสูง เมื่อขั้วชี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าเส้นศูนย์สูตร อาจทำให้น้ำแข็งก่อตัวบนผิวเส้นศูนย์สูตรจำนวนมากได้ และก็อาจถูกเถ้ากับฝุ่นพัดกลบไว้ซึ่งยังคงปกคลุมอยู่จนถึงทุกวันนี้ นี่อาจเป็นที่มาของมัน
“หากได้รับการยืนยันว่าเป็นน้ำแข็ง แหล่งสะสมขนาดใหญ่นี้จะเปลี่ยนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิอากาศของดาวอังคาร แหล่งเก็บน้ำโบราณใด ๆ ก็ตามอาจเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับการสำรวจของมนุษย์หรือหุ่นยนต์” วิลสันเสริม
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.esa.int/Science_Exploration/Space_Science/Buried_water_ice_at_Mars_s_equator
https://www.space.com/mars-water-ice-equator-frozen-ocean