NASA – GISTDA ร่วมศึกษาคุณภาพอากาศในไทยร่วมกัน ถือเป็นการนำเครื่องมือวิทยาศาสตร์
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.67 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมมือกับ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ NASA ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ) ได้ร่วมกันศึกษาคุณภาพอากาศในประเทศไทย
โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ) คือ โครงการที่ริเริ่มโดย NASA เรื่องของวิทยาศาสตร์และงานวิจัยที่ต้องการศึกษามลภาวะ คุณภาพอากาศ และในเรื่องปัญหาที่แก้ไม่ได้คือ PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบจนมีประชากรเสียชีวิตทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ ASIA – AQ เพื่อช่วยให้เข้าใจถึงปัจจัยที่ควบคุมคุณภาพทางอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ ของเอเชีย ผ่านการสังเกตและการสร้างแบบจำลองโดยการใช้แนวคิดที่หลากหลาย โดยจะมีแนวทางในการใช้เก็บตัวอย่างอนุภาคในอวกาศจากหลากหลายพื้นที่
ความร่วมมือระหว่าง NASA และ GISTDA เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เป็นความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่สะท้อนถึงความสำเร็จ จากความทุ่มเทที่ต้องการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาตร์ในการแก้ไขปัญหาในระดับประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งทุกวันนี้มลพิษทางอากาศนับว่ามีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
การบินสำรวจสภาพอากาศในประเทศไทย
โครงการ ASIA-AQ มีการขึ้นบินสำรวจเป็นเวลา 10 วัน โดยจะบิน 2 รอบต่อวัน เที่ยวบินละ 8 ชั่วโมง ตั้งแต่ 16-25 มีนาคม 2567 ในวันดังกล่าวประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณที่เครื่องบินผ่าน อย่างกรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ และพื้นที่โดยรอบ สามารถมองเห็นและได้ยินขณะที่เครื่องบินดำเนินการการเก็บข้อมูล เพื่อศึกษาคุณภาพอากาศ พฤติกรรมฝุ่น พฤติกรรมของประชากรในประเทศ และมีเครื่องบินบินสำรวจด้วยกันอยู่ 2 ลำ คือ NASA DC-8 ขึ้นชื่อว่าเป็นห้องปฏิบัติการลอยฟ้า จะทำหน้าที่บินสำหรับวิเคราะห์คุณภาพอากาศอย่างละเอียดเหนือพื้นผิวและวัดองค์ประกอบทางเคมีโดยละเอียดของบรรยากาศชั้นล่าง NASA GIII ตรวจจับระยะไกลของคุณภาพอากาศ นอกจากนี้โครงการ ASIA – AQ เป็นภารกิจท้าย ๆ ของเครื่องบิน NASA DC-8 ที่ถูกผลิตมาตั้งแต่ปี 1969 ปัจจุบันมีเครื่องบินแบบนี้อยู่ 2-3 ลำทั่วโลก
มีการสังเกตจากหลายมุมมอง โดยใช้ดาวเทียม Geostationary Environment Monitoring Spectrometer (Gems) ในการสังเกต วิจัยปฐมภูมิและทุติยภูมิกับประเทศอื่น ๆ ดาวเทียม Gems เครื่องวัดแบบวงจรค้างฟ้า วัดผลได้ตามพิกัด ละอองฝุ่น และสามารถยังใช้เครื่องมือจาก Gems ในการดูชั้นบรรยากาศ ดวงจันทร์ ดูดาวดวงอื่น ๆ การเจาะทะลุชั้นบรรยากาศ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัย ทั้งนี้ดาวเทียมเหล่านี้มีการเก็บข้อมูล 1 ครั้ง ต่อ 1 วัน เพื่อศึกษาข้อมูลสภาพพื้นดินและอวกาศ ข้อมูลจากดาวเทียมนั้นไม่สามารถให้ข้อมูลหรือคำตอบเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศได้ทั้งหมดจึงมีการนำเครื่องบินมาขึ้นบินเพื่อสำรวจคุณภาพอากาศ
PM 2.5 กับปัญหาที่ตามมา
PM 2.5 ไม่ได้เพิ่งมี 3-4 ปีที่ผ่าน ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว ขึ้นอยู่แต่ละสภาพอากาศ และฤดูกาล ในตอนนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการประสบปัญหานี้ ปัญหาของมลพิษไม่ได้อยู่แค่ที่จุดกำเนิด สามารถเดินทางเคลื่อนที่ไปได้ทุกที่ ทำให้ทางภาคเหนือของประเทศไทยที่ได้ประสบปัญหาอยู่ ณ ตอนนี้
เมื่อจบภารกิจจะมีการนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาและทำการวิจัย และจะมีการนำมาเปิดเผย เพื่อวิเคราะห์และศึกษาข้อมูลร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ดำเนินงานวิจัย หลังจากทำการวิจัยเสร็จสิ้นจะมีการตีพิมพ์ เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบถึงข้อมูล ปัญหาของมลภาวะ และแนวทางการแก้ไข โดยผ่าน NASA
ภายใต้โครงการ ASIA – AQ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่จัดขึ้นโดยทาง NASA ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ GISTDA เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติด้านอวกาศและดาวเทียมให้กับนิสิต นักศึกษา กิจกรรมการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานจากนักบินและนักวิทยาศาสตร์ NASA กับนักวิทยาศาสตร์ไทย และยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย โดยกิจกรรมเหล่านี้จะสามารถทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาและปัจจัยที่ควบคุมคุณภาพอากาศ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการ ASIA – AQ และกิจกรรมอื่น ๆ ได้ที่ Facebook: GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน)
เรียบเรียง กัญญารัตน์ นามแย้ม
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
รูป สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA