ทุกๆ 80 ปี ดาว โนวา ดวงใหม่ จะปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า มันเป็นเหตุการณ์ครั้งเดียวในหนึ่งชีวิต และตอนนี้ก็ใกล้ถึงเวลาแล้ว อาจเกิดขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้าหรืออาจเป็นเดือนก็ได้
นักดาราศาสตร์ระบุว่า ‘ โนวา T Coronae Borealis’ ที่เกิดใหม่นี้จะสว่างจ้าพอจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และจากนั้นก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว เพื่อเตรียมตัวปรากฏขึ้นมาใหม่อีกครั้งใน 80 ปีข้างหน้า
สาเหตุของปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งนี้คือสิ่งเรียกกันว่า ‘โนวาที่เกิดซ้ำได้’ ชื่อ ‘T Coronae Borealis’ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า T CrB มันเป็นระบบดาวคู่ที่โคจรรอบกันในกลุ่มดาวกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (Corona Borealis หรือ Northern Crown) ที่อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 3,000 ปีแสง
โนวาที่เกิดซ้ำได้นี้ต่างจากโนวาคลาสสิกทั่วไปหรือที่มักเรียกกันว่า ‘ซุปเปอร์โนวา’ อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อดาวฤกษ์สิ้นอายุขัยแล้วระเบิดออกมา โดยโนวาที่เกิดซ้ำได้จะปะทุออกมาบ่อยครั้งกว่าซุปเปอร์โนวา นักวิทยาศาสตร์ระบุว่ามีโนวาที่เกิดซ้ำได้ในกาแล็กซีช้างเผือกเพียง 10 แห่งเท่านั้น และในกรณีของ T Coronae Borealis นี้เกิดการระเบิดครั้งล่าสุดไปเมื่อปี 1946 ดังนั้นในตอนนี้จึงใกล้เวลาของมันอีกครั้ง
อะไรทำให้วัตถุนี้ในจักรวาลระเบิดออก?
ปรากฏการณ์ของ T CrB นั้นไม่ได้เป็นผลจากการยุบตัวของดาวฤกษ์แล้วระเบิดออก แต่เป็นการเคลื่อนไหวบนท้องฟ้าระหว่างดาวฤกษ์สองดวงที่กำลังจะตายและโครจรรอบกันและกัน ดาวดวงหนึ่งเป็นดาวฤกษ์ยักษ์แดงที่มีขนาดใหญ่กว่า มันมีมวลขนาดใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา แต่ทว่าก็กำลังสูญเสียมวลและสสาร รวมถึงไฮโดรเจนกับฮีเลียมออกไป
สสารบางส่วนที่หลุดออกมาจะตกลงไปยังดาวแคระขาวที่โคจรรอบมัน ที่แม้ขนาดโดยประมาณเท่ากับโลก แต่ก็มีสสารมากกว่าดวงอาทิตย์ถึงร้อยละ 40 ทำให้มันมีความหนาแน่นอย่างไม่น่าเชื่อ
ขณะที่ดาวแคระขาวกลืนของที่หลุดออกมาจากเพื่อน อุณหภูมิของมันจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น จากนั้น ในที่สุดทุก ๆ 80 ปีโดยประมาณ มันจะถึงจุดวิกฤติ กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันอันทรงพลังจนสร้างการระเบิดจ้าที่มองเห็นไปได้ไกลในจักรวาล
“เราติดตามมัน และก็เห็นว่ามันกำลังทำอะไรบางอย่างที่น่าสนุกอยู่” ซัมเเนอร์ สตาร์ฟิลด์ (Sumner Starrfield) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา ผู้ที่ศึกษาระบบดาวนี้มาอย่างยาวนานตลอดอาชีพการงานของเขา กล่าว
“มันสว่างขึ้นไม่กี่ครั้งและตอนนี้ก็จางลงไปเล็กน้อย ซึ่งดูเหมือนว่ามันกำลังจะทำแบบเดียวกับที่เคยทำก่อนที่จะระเบิดในปี 1946 จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงสนใจมันมากขึ้นในทันใด” เขาเสริม กล่าวอีกนัย ในปี 1946 ระบบดาวนี้ก็สว่างขึ้นแล้วมืดลงเล็กน้อย ก่อนที่จะระเบิดครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้เช่นเดียวกัน นั่นทำให้นักดาราศาสตร์ยุคปัจจุบันตื่นเต้น
แล้วมันจะปรากฏให้เห็นเมื่อไหร่? และจะมองเห็นได้อย่างไร?
ไม่มีใครบอกเวลาแบบเฉพาะเจาะจงได้อย่างชัดเจนว่า T Coronae Borealis จะปะทุขึ้นเมื่อไหร่ ตามข้อมูลของ นาซา (NASA) ระบุว่ามันอาจเป็นเวลาวใดก็ได้ตั้งแต่ตอนนี้ ไปจนถึงเดือนกันยายน ขณะที่ศาสตราจารย์ สตาร์ฟิลด์ ตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นการคาดเดาที่ดี และไม่แน่มันอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่เราจะเห็นการระเบิดบนท้องฟ้า แต่เมื่อมันเกิดขึ้น เราก็ได้แต่หวังว่ามนุษย์โลกจะไม่พลาดโอกาสนี้
“จุดสูงสุดของมันเร็วมาก” เบรดเลย์ เชฟเฟอร์ (Bradley Schaefer) ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยรัฐหลุยส์เซียนา ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการชั้นนำด้าน T CrB อธิบาย “มัน (เกิดในช่วงเวลา) สั้น โดยจะคงความสว่างสูงสุดไว้ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง และจะเริ่มจางลงอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะจางหายไปจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าในเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น”
ดังนั้นถ้าคุณอยากมองเห็นด้วยตาเปล่าแบบเต็ม ๆ ก็จะมีเวลาเพียง 2-3 คืนเท่านั้น แต่สำหรับนักดาราศาสตร์ เมื่อมันเกิดการปะทุ ก็จะมีการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งทีมงานของสตาร์ฟิลด์ได้จองเวลากล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เวบบ์ เพื่อสังเกตและระบุข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกไว้เรียบร้อยแล้ว
แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ได้รับความช่วยจากเครือข่ายนักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ของพวกเขาในสวนหลังบ้างอย่าง สมาคม ‘American Association of Variable Star Observers (AAVSO)’ ที่คอยจับตาดูอย่างใกล้ชิดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
พวกเขาคอยทำการอัปโหลดข้อมูลใหม่ ๆ ไปยังฮับส่วนกลางโดยเฉลี่ยทุก ๆ 10 นาที ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่องว่าระบบนี้มีความสว่างมากน้อยเพียงใด และไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากเกิดการปะทุขึ้น พวกเขาจะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้เห็น
“เหตุผลที่ผู้คนจำนวนมากคอยสังเกตก็เพราะว่าผู้คนชอบเห็นอะไรที่มันระเบิด” ไบรอัน คลอพเพนเบิร์ก (Brian Kloppenberg) กรรมการบริหารของ AAVSO กล่าว “นักดาราศาสตร์สมัครเล่นจำนวนมากมีแรงผลักดันอย่างมากที่จะเป็นคนที่คนพบบางสิ่งบางอย่าง หรือเห็นเหตุการณ์แรก”
แต่ศาสตราจารย์ เชฟเฟอร์ มีแผนของตัวเองไว้แล้ว เขามุ่งมั่นที่จะไม่พลาดโอกาสนี้ในทันทีที่ได้รับข่าว ในปี 1946 นักดาราศาสตร์ผู้ที่ทำนายปรากฏการณ์ของ T CrB อย่าง เลสลี เพลเทียร์ (Leslie Peltier) ได้พลาดเหตุการณ์นี้ไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากอากาศหนาวจัด แต่ครั้งนี้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น
เมื่อเกิดการปะทุ พวกเขาคาดว่า T CrB จะสว่างพอ ๆ กับดาวเหนือซึ่งเป็นจุดที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวกระบวยเล็ก (Little Dipper) ที่โด่งดัง
“แน่นอน ผมจะรีบออกไปข้างนอกที่มืดและโปร่งใน (การปะทุ) ครั้งแรก เพราะผมต้องการให้การสังเกตของผมมีส่วนที่จะได้มองเห็นเส้นโค้งของแสงนั้น” เชฟเฟอร์ กล่าว “เมื่อคุณได้ยินว่า T CrB กำลังสว่างขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องมีกล้องโทรทรรศน์ แต่สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่เดินออกไปข้างนอกในคืนที่มืดมิด และปลอดโปร่ง จากนั้นก็เงยหน้าขึ้นมอง”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/science/article/t-coronae-borealis-rare-sky-phenomenon