ระเบิด ‘ดาวอังคาร’ ด้วย ‘กลิตเตอร์’ นักวิทยาศาสตร์เชื่อมีโอกาสเปลี่ยนดาวเคราะห์สีแดงที่แห้งแล้งและหนาวเย็นให้เขียวขจีพร้อมอยู่อาศัย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ดาวอังคาร (Mars) กลายเป็นเป้าหมายใหม่ในการสำรวจอวกาศทั้งจาก ‘นาซา’ (NASA) และบริษัทเอกชนอย่าง SpaceX ซึ่งมุ่งมั่นที่จะไปดาวอังคารด้วยเช่นกัน โดยพวกเขาทำการสำรวจเพื่อหาความเป็นไปได้ในการสร้างอาณานิคมของมนุษย์ในอนาคต แม้ว่าจากดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้มีปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งนั่นคือสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายและไม่เหมาะกับสิ่งมีชีวิตใด ๆ เลย
บนดาวอังคารนั้น มีชั้นบรรยากาศที่เบาบางอย่างมากโดยมีความดันบรรยากาศเพียง 0.6 เปอร์เซ็นของโลกที่ระดับน้ำทะเลเท่านั้น และแม้จะประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 95 เปอร์เซ็น แต่ด้วยความบางของมันทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้หนาวเย็นอย่างไม่น่าเชื่อ โดยมีอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยอยู่ที่ -62 องศาเซลเซียส (°C) และยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ -126°C ซึ่งเป็นอุณหภูมิขั้วดาวอังคารไปจนถึง 20°C ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรตอนกลางวัน ดังนั้นเพื่อเปลี่ยนให้เป็นบ้านที่อาศัยอยู่ได้ เราต้องทำให้อุณหภูมิเหล่านั้นคงที่ ซึ่งทั้งนี้งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเธิร์น เผยแพร่ในวารสาร Science Advances เสนอว่า พวกเขาสามารถทำได้ด้วยแนวทางใหม่
“เราแสดงให้เห็นในที่นี่ว่า ละอองลอยเทียมที่ทำให้จากวัสดุที่มีอยู่ทั่วไปบนดาวอังคาร เช่น นาโนแท่งนำไฟฟ้าที่มีความยาวประมาณ 9 ไมโครเมตร สามารถทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าก๊าซที่ดีที่สุดถึง 5,000 เท่า” ซามาเนฮ์ อันซารี (Samaneh Ansari) วิศวกรไฟฟ้าของทีมวิจัย กล่าว
แท่งโลหะเหล่านี้สามารถจินตนาการได้ง่าย ๆ ว่า พวกมันเป็นเหมือนกลิตเตอร์ที่มนุษย์โลกใช้โปรยเพื่อความสวยงามซึ่งสร้างไมโครพลาสติกและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลิตเตอร์ที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการระเบิดบนดาวอังคารนั้นคือ ฝุ่นดาวอังคาร ที่มีธาตุเหล็กและอลูมิเนียมสูงซึ่งมีอยู่เต็มไปหมด
วิธีการ คือ การสร้างมันเป็นจำนวนมาก และยิงมันขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ กลิตเตอร์เล็ก ๆ เหล่านี้จะลอยอยู่และเก็บแสงแดดไว้ได้ กลายเป็นเหมือนฮีทเตอร์ที่ให้ความร้อน
อย่างไรก็ตามแท่งนาโนเหล่านี้ทีมวิจัยคำนวณว่าอยู่ได้นานกว่าฝุ่นธรรมชาติถึง 10 เท่าหากปล่อยด้วยอัตราคงที่ในระดับ 30 ลิตรต่อวินาที ภายในเวลา 10 ปีก็ทำให้ความดันบรรยากาศของดาวอังคารเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นได้แล้ว ซึ่งจะคงอยู่นานหลายทศวรรษ
“อนุภาคดังกล่าวจะกระจายแสงอาทิตย์ไปข้างหน้า และปิดกั้นอินฟราเรดความร้อนที่พุ่งขึ้นมาด้านบนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” แอนซารี กล่าวและว่า “เช่นเดียวกับฝุ่นธรรมชาติของดาวอังคาร อนุภาคนาโนเหล่านี้จะถูกพัดพาขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารได้ง่าย ทำให้สามารถส่งขึ้นจากบริเวณใกล้พื้นผิวได้”
ทีมวิจัยระบุว่า หากใช้วิธีดังกล่าว อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอีกราว 30 องศาเคลวินจากปัจจุบันซึ่งเพียงพอต่อการละลายน้ำแข็งที่ขั้วดาวอังคารกับมีความดันบรรยากาศที่เหมาะสม และเมื่อเป็นเช่นนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถนำแบคทีเรียมาสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างออกซิเจนให้มนุษย์หายใจได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อเฟื้อต่อสิ่งมีชีวิต
อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้เน้นย้ำว่ากระบวนการเหล่านั้นต้องใช้เวลานานหลายปีซึ่งอาจมากถึงนับร้อยปีตั้งแต่การรวบรวมวัสดุเพื่อสร้างแท่งโลหะจำนวนมาก ไปจนถึงการยิงมันขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศและรอคอยให้ดาวอังคารอุ่นขึ้น
“หากสามารถสร้างชีวมณฑลสังเคราะห์แสงบนพื้นผิวของดาวอังคารได้ บางทีอาจด้วยความช่วยเหลือของชีววิทยาสังเคราะห์ ซึ่งนั่นสามารถเพิ่มศักยภาพในการดำรงอยู่ของมนุษย์ในระบบสุริยะได้” ทีมวิจัย กล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น นักวิทยาศาตร์ยังไปไกลกว่าดาวอังคาร โดยพวกเขาเสนอไว้ให้เป็นข้อสังเกตเล็ก ๆ ว่าวิธีนี้อาจใช้ได้กับการมองหามนุษย์ต่างดาวในห้วงอวกาศลึกด้วยเช่นกัน ที่อาจใช้เทคโนโลยีนาโนในการปรับสภาพดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในการสร้างอาณานิคม
“ประสิทธิภาพของการเพิ่มอุณหภูมิของอุนภาคนาโนบ่งชี้ว่า สิ่งมีชีวิตใด ๆ ที่มีเป้าหมายในสร้างดาวเคราะห์ให้อุ่นขึ้นอย่างจริงจังนั้นมีแนวโน้มที่จะใช้แนวทางนี้ โดยการวิจัยนี้เปิดช่องทางใหม่ ๆ สำหรับการสำรวจ และอาจนำเราเข้าใกล้ความฝันที่ยาวนานในการสร้างอาณานิคมมนุษย์อย่างยั่งยืนบนดาวอังคารอีกหนึ่งก้าว”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ การเก็บตัวอย่างจากปล่องภูเขาไฟ Gale บนดาวอังคารที่เห็นในภาพนี้ ซึ่งอุดมด้วยไอโซโทปคาร์บอนเบา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตบนโลก โดย NASA/Caltech-JPL/MSSS เผยแพร่ใน National Geographic
ที่มา
https://www.science.org
https://www.sciencealert.com
https://www.newscientist.com
https://phys.org
https://www.newsweek.com