เทคโนโลยีก้าวล้ำของเรือ โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์ งบหลายพันล้านดอลลาร์ ปฏิวัติวงการสำรวจเบื้องลึกของมหาสมุทรอย่างไร

เทคโนโลยีก้าวล้ำของเรือ โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์ งบหลายพันล้านดอลลาร์ ปฏิวัติวงการสำรวจเบื้องลึกของมหาสมุทรอย่างไร

เบื้องลึกการสำรวจด้วยเทคโนโลยีอันก้าวล้ำเพื่อไขปริศนาทะเลลึก ถิ่นอาศัยที่มีการสำรวจน้อยที่สุดในโลก

เช้าอันอบอุ่นวันหนึ่งของเดือนมิถุนายน เรือวิจัยเอกชนยาว 87 เมตรออกเดินทางจากอะโซร์ส  หมู่เกาะที่เรียงตัวขึ้นไปจากมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ ห่างจากแผ่นดินใหญ่ของโปรตุเกสไปทางตะวันตกประมาณ 1,600 กิโลเมตร โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์ (OceanXplorer) ลำสีขาววาววับ ลอยตระหง่านเหนือผืนน้ำ ดูคล้ายเรือยอชต์ดัดแปลงที่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์อยู่บริเวณหัวเรือและมียานสำรวจทะเลลึกสีเหลืองสองลำอยู่ท้ายเรือ   ใต้ผิวน้ำ ตัวเรือติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณโซนาร์ความละเอียดสูงที่ใช้ในการทำแผนที่ภูมิประเทศใต้น้ำ

เรือ โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์ ออกปฏิบัติภารกิจพิเศษ นั่นคือการติดแท็กและเก็บข้อมูลจากฉลามเหงือกหกช่องจมูกทู่ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ หรือห้วงน้ำที่ลึกมากเสียจนพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมันยังเป็นปริศนา สัตว์ผู้ล่าจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งบรรพบุรุษปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อ 200 ล้านปีก่อนเหล่านี้ อาจยาวได้ถึง 5.5 เมตร พวกมันซ่อนตัวในท้องทะเลลึกระดับปานกลาง หรือ “แดนสนธยา” ซึ่งเป็นเขตหนาวจัดที่อยู่ลึกลงไปกว่า 900 เมตรจนเกือบไร้แสงสว่าง ถึงกระนั้น ทุกเย็น ฉลามเหงือกหกช่องที่เคลื่อนที่ช้าและลอยตัวได้ดีจะเดินทางสามชั่วโมงขึ้นไปยังเขตน้ำตื้นกว่าเพื่อหากินตามแนวหินของภูเขาใต้ทะเลใกล้หมู่เกาะอะโซร์ส

นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ OceanX รวมถึง เมลิสสา มาร์เกซพยายามจะนำแท็กพร้อมกล้องไปติดบนตัวฉลามเหงือกหกช่องโดยการควบคุมผ่านยานดำน้ำที่ระดับความลึกมากกว่า 243 เมตร พวกเขาดำดิ่งลงไปด้วยหวังจะจับภาพพฤติกรรมตามธรรมชาติของฉลามเหล่านั้นภาพนิ่งจากวิดีโอของ OceanX

บนเรือมีลูกเรือเกือบ 70 คน รวมเมลิสซา มาร์เกซ นักชีววิทยาฉลามผู้เติบโตในเม็กซิโก โซเลกา ฟิแลนเดอร์ นักวิจัยทะเลลึกและนักนิเวศวิทยาจากแอฟริกาใต้ซึ่งค้นพบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดใหม่หลายชนิด  เอริก สแต็กโพล นวัตกรด้านเทคโนโลยีมหาสมุทรผู้เคยทำงานให้นาซาและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ กับนักวิทยาศาสตร์รับเชิญอีกสองคนจากมหาวิทยาลัยหมู่เกาะอะโซร์สของโปรตุเกส จอร์จิ ฟอนเตส กับเปโดร อะฟองโซ ผู้พัฒนาแท็กติดตามฉลามและบันทึกภาพเคลื่อนไหว

ทีมหวังจะได้พบฉลามเหงือกหกช่องอย่างน้อยหนึ่งตัว ติดแท็กกล้องให้มัน จากนั้นค่อยเก็บแท็กในภายหลังซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำสำเร็จมาก่อนในทะเลลึก  ภารกิจนี้ต้องอาศัยการดำลงไปหลายครั้งกับยานดำน้ำ “บับเบิลซับ” (bubble sub) ที่ได้ชื่อจากรูปทรงกลม ๆ สร้างจากอะคริลิกและมีห้องสำหรับผู้โดยสาร  กระนั้น พวกเขาก็จะเห็นโลกที่ซ่อนเร้นเพียงแค่แวบหนึ่ง แท็กจะหลุดออกโดยอัตโนมัติหลังผ่านไป 12 ชั่วโมงและลอยขึ้นสู่ผิวน้ำให้เก็บได้สะดวก  อย่างไรก็ตาม การเก็บกู้ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในภารกิจครั้งแรกทางวิทยาศาสตร์ในจำนวนหลายครั้งสำหรับทีมงานซึ่งทำงานให้โครงการริเริ่มขององค์กรไม่แสวงกำไรชื่อ โอเชียนเอ็กซ์ (OceanX)  ในช่วงสองสามปีมานี้ นักวิจัยของโครงการถ่ายคลิปอันน่าเร้าใจของวาฬเพชฌฆาตขณะไล่ล่าวาฬหลังค่อม และในอีกภารกิจหนึ่งใช้การบันทึกเสียงเพื่อศึกษาว่า วาฬหลังค่อมเพศผู้อาจอาศัยภูมิประเทศใต้ทะเลช่วยในการขยายเสียงเพลงหาคู่ของมันอย่างไร พวกเขายังจับภาพเคลื่อนไหวที่หายากของหมึกกล้วยยักษ์เดนาในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของมันด้วย

โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์ เป็นเรือธงของโอเชียนเอ็กซ์ กิจการร่วมทุนด้านสื่อกับการสำรวจที่ร่วมก่อตั้งโดยเรย์ ดาลิโอ มหาเศรษฐีพันล้านผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์บริดจ์วอเทอร์แอสโซซิเอตส์ กับลูกชาย มาร์ก ผู้เคยผลิตรายการให้เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก มาก่อน  โอเชียนเอ็กซ์เปิดตัวเมื่อปี 2018 โดยมีเป้าหมายตามที่ระบุไว้ว่า “เพื่อสำรวจมหาสมุทรและนำกลับมาสู่โลก” พันธกิจนี้หมายรวมถึงการดัดแปลงเรือสนับสนุนแท่นขุดเจาะน้ำมันของนอร์เวย์ให้กลายเป็นศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่และฉากถ่ายทำภาพยนตร์  คณะที่ปรึกษาของโอเชียนเอ็กซ์รวมถึงเจมส์ แคเมอรอน ผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดอย่าง อวตาร และ ไททานิก ด้วย

นอกจากเฮลิคอปเตอร์และยานบับเบิลซับซึ่งสามารถพานักสำรวจลงไปใต้น้ำได้ถึง 1,000 เมตร บนเรือยังมียานสำรวจใต้น้ำควบคุมจากระยะไกล หรืออาร์โอวี (Remote Operated Vehicle: ROV) สำหรับบันทึกภาพที่ระดับความลึกมากกว่านั้นมาก ห้องปฏิบัติการทั้งเปียกและแห้ง  โต๊ะแสดงภาพโฮโลแกรมให้นักวิจัยสร้างแบบจำลองคุณภาพสูงจากข้อมูลที่รวบรวมมาได้  ตลอดจนไฟคุณภาพระดับถ่ายทำภาพยนตร์กว่า 3,000 ดวงติดไว้ตลอดลำเรือ

แม่วาฬหลังค่อมจะอยู่กับลูกราวหนึ่งปี องค์กรไม่แสวงกำไร โอเชียนเอ็กซ์ ถ่ายคลิปแม่ลูกคู่หนึ่งที่ถูกวาฬเพชฌาตไล่ล่า และสืบค้นว่ารูปร่างลักษณะของพื้นสมุทรช่วยขยายเสียงเพลงของวาฬชนิดนี้หรือไม่
ภาพถ่าย: ไบรอัน สเกอร์รี, NATIONAL GEOGRAPHIC IMAGE COLLECTION

และตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 ผู้ชมทั่วโลกสามารถติดตามชมผลการสำรวจฉลามเหงือกหกช่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์ส (OceanXplorers) ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกได้  “การทำความเข้าใจมหาสมุทรและสรรพสัตว์ที่พักพิงไม่เคยจำเป็นเร่งด่วนเท่านี้มาก่อน” แคเมอรอนเกริ่นไว้ในซีรีส์  “เพราะชีวิตของพวกมันและของพวกเราขึ้นอยู่กับมหาสมุทรครับ”

เรือ โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์ ได้แรงบันดาลใจจากงานของฌาก-อีฟ กุสโต กับหลุย มาล ซึ่งร่วมกันนำ The Silent World (โลกเงียบ) หนังสือขายดีของกุสโตเมื่อเกือบ 70 ปีก่อนมาสร้างเป็นภาพยนตร์  และนั่นคือหนังสารคดีใต้น้ำเรื่องแรก ๆ ที่ถ่ายเป็นสีและจุดประกายให้ผู้คนทั่วโลกเกิดความสนใจมหาสมุทร หนึ่งในนั้นก็คือเรย์ ดาลิโอ ผู้ชื่นชอบผลงานของกุสโตและถ่ายทอดความกระตือรือร้นนี้ให้ลูกชาย “เราจะสร้างกระแสกุสโตในโลกสมัยใหม่อย่างไรครับ” มาร์ก ดาลิโอ ตั้งคำถาม

โลกยุคใหม่อาจใช้ประโยชน์จาก โลกเงียบ ฉบับปรับปรุงใหม่ได้  เทคโนโลยีใหม่ ๆ ใกล้พาเราไปสู่การค้นพบสำคัญ ๆ ทางวิทยาศาสตร์แล้ว แต่จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีเงินทุนสนับสนุนเท่านั้น  นั่นหมายความว่าผู้คนจำเป็นต้องใส่ใจและเรียกร้องให้เกิดการลงมือทำ การจุดกระแสเหล่านี้ผ่านสารคดีชุดหกตอนความยาว 30 นาทีอาจฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่อย่างที่ปรากฏในฟุตเทจ การเดินทางแต่ละครั้งอาจนำไปสู่การค้นพบน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้นไปอีก

เวลาประมาณ 22:30 น. กล้องเริ่มบันทึกภาพจากทุกมุม ขณะที่ เนปจูน หนึ่งในยานดำน้ำบับเบิลซับขนาดสามที่นั่งของ โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์ ซึ่งถูกหย่อนลงมาจากปั้นจั่นขนาดใหญ่ ลอยอยู่เหนือมหาสมุทรดำมืด  ภายใน มาร์เกซ นักชีววิทยาฉลาม นั่งข้าง ๆ อะฟองโซ นักชีววิทยาทางทะเลและผู้บังคับยานดำน้ำ มาร์เกซกับอะฟองโซไม่เคยมีโอกาสดำลงไปสำรวจหาฉลามเหงือกหกช่องจากยานดำน้ำมาก่อน  กล้องหลายตัวจับภาพตอนคนทั้งสองเบิกตาโพลงขณะที่ยานดำน้ำซึ่งถูกหย่อนลงสู่มหาสมุทรหายไปใต้ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว

ขั้นตอนแรกของการติดแท็กให้ฉลามเหงือกหกช่อง คือการสำรวจประชากรฉลามในบริเวณที่รู้กันว่าพวกมันจะมารวมตัวกันในยามค่ำคืน หลังใช้เวลาหลายวันในห้วงน้ำที่ลึกกว่าของมหาสมุทร

เมื่อลงไปถึงแนวหินใต้น้ำแห่งหนึ่งที่อยู่ลึกลงไปกว่า 250 เมตร มาร์เกซกับอะฟองโซก็เห็นอะไรบางอย่างขนาดใหญ่เคลื่อนผ่านแสงไฟหน้าของยานดำน้ำไป

“ฉลาม ฉลาม ฉลาม!” มาร์เกซตะโกน ดูทั้งตื่นเต้นและตระหนกนิด ๆ  “ตัวเบ้อเริ่มเลย ตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยแน่นอน ยาว 4.5 เมตรน่าจะได้”

เธอรู้ทันทีว่าเป็นฉลามเพศเมียเพราะใต้ครีบท้องของมันไม่มีเดือย (clasper) หรืออวัยวะสืบพันธุ์อย่างที่ฉลามเพศผู้มี

ตลอดแปดชั่วโมงใต้น้ำ ทีมพบฉลามเหงือกหกช่อง 11 ตัวที่ขึ้นจากน้ำลึกมาราว ๆ 550 เมตรเพื่อหาอาหาร ฉลามแต่ละตัวดูเหมือนมีนิสัยต่างกัน บางตัวเว้นระยะห่างจากยานดำน้ำ ขณะที่บางตัวว่ายตรงเข้าใส่ หรือกระทั่งพุ่งมาข้างใต้ยานดำน้ำ

ฉลามทั้งหมดเป็นเพศเมีย ยกเว้นฉลามวัยรุ่นตัวหนึ่ง ซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่า พวกมันอาจเดินทางเป็นฝูงเพศเดียวกันช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์

เป้าหมายที่มีศักยภาพเหล่านี้ไม่มีตัวไหนเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเลย “มันเฉื่อยจัง” มาร์เกซบอกขณะที่ฉลามตัวหนึ่งว่ายผ่านไป ต้องแสงไฟสว่างของยานดำน้ำ “ฉันเดาว่ามันกำลังสงวนพลังงานไว้ และน้ำข้างนอกก็เย็นจัด แค่สี่องศาเซลเซียสเท่านั้น”

ฉลามหัวค้อนใหญ่ (ซ้ายและล่างสุด) ว่ายไปตามพื้นสมุทรในหมู่เกาะบาฮามาส นักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งทำความเข้าใจสัตว์ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ของโอเชียนเอ็กซ์ติดตามฉลามหัวค้อนใหญ่ที่กำลังล่ากระเบน
ภาพถ่าย: เกลเล แบลร์, BIMINI SHARK LAB

ทะเลลึกคือถิ่นอาศัยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยพื้นที่กว่าร้อยละ 95 ของมหาสมุทร แต่กลับได้รับการสำรวจน้อยที่สุด  ในการประชุมว่าด้วยมหาสมุทรขององค์การสหประชาติ (United Nations Ocean Conference) ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2017 ภาคีนักวิทยาศาสตร์นานาชาติประกาศเจตนารมณ์ในการนำคลื่นเสียงโซนาร์หลายความถี่ (multibeam sonar) มาใช้สร้างแผนที่พื้นทะเลอย่างละเอียดให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2030  ตอนที่โครงการริเริ่มนี้เปิดตัวครั้งแรก เรามีแผนที่พื้นทะเลที่มีรายละเอียดมากพอเพียงร้อยละหกเท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ในปัจจุบัน โดยเป็นแผนที่ที่มีความละเอียดสูง และมีการเพิ่มภูมิประเทศใหม่ ๆ เข้ามาทุกวัน

ความพยายามนั้นอาจช่วยให้เราเข้าใจพื้นทะเลได้ดีขึ้น แต่ถ้าพูดถึงการอนุรักษ์มหาสมุทร นักวิจัยเผชิญความท้าทายเพิ่มเติมในการพยายามอนุรักษ์ระบบนิเวศที่เรายังสำรวจไม่มากพอ ชนิดพันธุ์ส่วนใหญ่ในมหาสมุทร ซึ่งจากการประเมินครั้งหนึ่งระบุว่า มีมากกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้รับการจำแนก แต่แทนที่จะทำเพียงแค่แจกแจงหรือทำรายการสิ่งที่ค้นพบ องค์กรหรือหน่วยงานสำรวจมหาสมุทรต่าง ๆ ยังพยายามเผยแพร่ความมหัศจรรย์ของสิ่งที่เรายังไม่รู้มากขึ้นด้วย พอถึงปี 2019 วิกเตอร์ เวสโกโว นักลงทุนหลักทรัพย์นอกตลาด ก็บังคับยานดำน้ำลงสู่จุดต่ำสุดของแอ่งมหาสมุทรทั้งห้า   ได้แล้ว โดยทำสถิติการดำน้ำแบบมีลูกเรือลึกที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อเขาลงไปถึงก้นร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ระดับความลึกเกือบ 11,000 เมตร

“เรามีความสามารถที่จะมองเห็น ได้ยิน และเก็บตัวอย่าง [มหาสมุทร] ในลักษณะต่างๆ ที่ไม่เคยทำได้มาก่อนครับ” คริส โชลิน ประธานและซีอีโอของสถาบันวิจัยมอนเทเรย์เบย์อะควาเรียม องค์กรไม่แสวงกำไรด้านสมุทรศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่งตอนกลางของแคลิฟอร์เนีย บอก

ยานดำน้ำ ดาวเทียม ยานสำรวจระยะไกลใต้น้ำ ยานดำน้ำอัตโนมัติแบบไร้คนขับ ไปจนถึงหอสังเกตการณ์ใต้ทะเล และโดรน เอื้อให้นักวิทยาศาสตร์และนักสำรวจเข้าถึงมหาสมุทรอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน ส่งผลให้ในแต่ละปีพวกเขาค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ ๆ ในทะเลเฉลี่ยราว 2,000 ชนิด

“สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาน่าทึ่งมากค่ะ” ชโยติกา วีรมณี บอก เธอเป็นผู้อำนวยการบริหารสถาบันมหาสมุทรชมิดท์ องค์กรไม่แสวงกำไรที่เน้นการศึกษาและการสำรวจ และไม่นานมานี้ก็มีส่วนในการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่กว่าหนึ่งร้อยชนิด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของใหม่ในโลกวิทยาศาสตร์ จากการสำรวจแนวเทือกเขาใต้สมุทรนอกชายฝั่งชิลี  “ข้อมูลเกี่ยวกับมหาสมุทรที่เราได้รับเพิ่มขึ้นแทบจะทวีคูณเลยค่ะ”

วาฬหัวทุยกลั้นหายใจได้นานถึงหนึ่งชั่วโมงและดำน้ำลึกจากพื้นผิวได้กว่าสองกิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์ของโอเชียนเอ็กซ์กำลังสนใจศึกษาว่า สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ล่าเหยื่อในน้ำลึกได้อย่างไร
ภาพถ่าย: ไบรอัน สเกอร์รี

เป้าหมายหนึ่งของโอเชียนเอ็กซ์ คือการตีแผ่การสูญเสียทางนวัตกรรมและสุขภาพของมนุษย์อย่างกว้างขวางที่อาจเกิดขึ้นหากชนิดพันธุ์สำคัญๆ สูญหายไปก่อนที่เราจะทันได้เรียนรู้เกี่ยวกับพวกมันมากขึ้น “มหาสมุทรเป็นเหมือนห้องสมุดดีเอ็นเอขนาดใหญ่ที่มนุษย์อาจนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การผลิตสิ่งต่างๆ ได้สารพัดครับ” วินเซนต์ เพียรีโบน  ซีอีโอร่วมของโอเชียนเอ็กซ์และอาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล บอก การสืบค้นสารประกอบจากสิ่งมีชีวิตในทะเลที่มีศักยภาพจะเป็นยาปฏิชีวนะและยาต้านไวรัส และกระทั่งส่วนประกอบของกระดูกเทียม กำลังดำเนินไปอย่างแข็งขัน

เรื่องส่วนใหญ่ที่เผยแพร่ออกไปตอนนี้คือ “ข่าวมรณกรรมของมหาสมุทร” ฟีลิป กุสโต จูเนียร์ นักสำรวจ ผู้กำกับภาพยนตร์ และหลานของ ฌาก-อีฟ กุสโต บอกและเสริมว่า “ผมคิดว่านั่นคืออุปสรรคในการจับจินตนาการของสาธารณชนครับ”

หลังจากยืนยันแน่ชัดว่า แนวหินใต้น้ำข้างต้นคือจุดหาอาหารของฉลามเหงือกหกช่อง ทีมก็พร้อมติดแท็กให้ฉลาม ประมาณเที่ยงคืนของอีกคืนหนึ่ง ยานดำน้ำ เนปจูน ก็นำมาร์เกซกับนักนิเวศวิทยาทางทะเลชื่อ ฟอนเตส  กลับไปยังแนวหินนั้นอีกครั้ง 

ครั้งนี้ พวกเขาผูกปลาเน่าไว้กับเสาโลหะที่ยื่นออกไปหน้ายานดำน้ำประมาณหนึ่งเมตรเพื่อล่อฉลาม

เมื่อฉลามเหงือกหกช่องตัวแรกมาถึง มันไม่สนใจเหยื่อล่อ แต่กลับสนใจเศษเนื้อที่หลุดและค่อยๆ ตกลงสู่ก้นทะเล และอยู่พ้นรัศมีการมองเห็น ครู่ต่อมา ฉลามอีกสองตัวปรากฏโดยตัวที่ใหญ่กว่าไล่ตัวเล็กกว่าออกไป อาจเพื่อป้องกันแหล่งอาหารใหม่ ถึงจุดหนึ่ง หางทรงสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดใหญ่ของมันก็ฟาดตัวยานดำน้ำดังปัง ทำให้ทุกคนที่อยู่ภายในยานที่ทำจากอะคริลิกหนา 16.5 เซนติเมตรสะดุ้งตกใจ

ยาน เนปจูน ติดตั้งปืนฉมวกที่มีแสงเลเซอร์ช่วยเล็งและสามารถยิงทะลุผิวหนังของฉลามเหงือกหกช่องได้ โดยปลายฉมวกติดอุปกรณ์ติดตาม ซึ่งเป็นห่อสีแดงเล็กๆ ทำด้วยโฟมแข็ง ข้างในบรรจุกล้องและเซนเซอร์ต่างๆ ที่สามารถตรวจวัดความเร็ว ความลึก และการเคลื่อนที่ของฉลามได้นานถึง 12 ชั่วโมง

เมื่อฉลามตัวใหญ่กว่าในสองตัวนั้นปรากฏให้เห็น ฟอนเตสก็กดปุ่มเพื่อยิงฉมวก แต่มันพลาดเป้าหมายที่ขยับตัวไปมาอย่างเฉียดฉิว

“ให้ตายเถอะ” เขาร้อง

มาร์เกซกุมขมับ  “ไม่อยากเชื่อเลย” เธอบ่น ก่อนส่งสัญญาณว่าฉลามอีกตัวกำลังเข้ามาใกล้ เมื่อเหลือฉมวกอีกเพียงดอกเดียว แรงกดดันจึงบังเกิด  ครั้งนี้ ฟอนเตสสามารถยิงฉมวกจนปักลำตัวใหญ่โตของฉลามได้  ในห้องควบคุมภารกิจบนเรือ โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์ สแต็กโพล ช่างเทคนิคหุ่นยนต์ใต้น้ำ และอะฟองโซ ซึ่งนั่งดูด้วยความตื่นเต้น แปะมือไฮไฟฟ์กันด้วยความดีใจ

ฉลามเหงือกหกช่องจมูกทู่น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักในช่วงเวลา 200 ล้านปี และยังคงลักษณะต่าง ๆ จากยุคจูแรสซิก  เมื่อฉลามที่ติดแท็กแล้วเข้ามาใกล้ยาน เนปจูน อีกครั้งเพื่อกินเหยื่อให้หมด กล้องก็จับภาพดวงตาของมันที่กลอกย้อนกลับเข้าไปในหัวขณะงับเหยื่อ ฉลามชนิดนี้ไม่เหมือนฉลามชนิดอื่น ๆ อีกมากที่มีเนื้อเยื่อยืดหดได้ช่วยป้องกันดวงตาขณะล่าเหยื่อ ตาของพวกมันก็เลยแค่…กลอกเข้าไปเท่านั้น สำหรับลูกเรือแล้ว นี่คือเครื่องเตือนใจอย่างลึกซึ้งให้ตระหนักถึงความแตกต่างของฉลามเหล่านี้

ความที่ฉลามเหงือกหกช่องลอยตัวได้ดีเป็นพิเศษ สมมุติฐานที่เป็นไปได้ข้อหนึ่งเกี่ยวกับวิธีล่าของฉลามเหล่านี้ก็คือพวกมันอาจลอยตัวขึ้นว่ายเลียบไปตามแนวสันเขาแคบ ๆ ในมหาสมุทร มองหาเงาร่างของสิ่งที่น่าจะเป็นเหยื่อที่พวกมันจะซุ่มโจมตีได้    

ปริศนาซ่อนอยู่ใต้เกลียวคลื่น ฉลามกรีนแลนด์มีอายุหลายร้อยปี แต่เราแทบไม่รู้เลยว่าพวกมันล่าเหยื่อและอยู่รอดได้อย่างไรในห้วงน้ำลึกอันเย็นเยียบของอาร์กติก ลูกเรือโอเชียนเอ็กซ์ติดแท็กให้ฉลาม เพื่อตรวจวัดการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ภาพถ่าย: มาริโอ ทาดินัก, NATIONAL GEOGRAPHIC

ขณะที่การถ่ายทำพุ่งความสนใจไปยังแท็กกล้องสีแดง อุปกรณ์ในชุดเดียวกันยังมีแท็กธรรมดากว่าอีกชิ้นหนึ่งที่จะส่งข้อมูลการเคลื่อนที่ของฉลามต่อไปได้อีกเก้าเดือน เอื้อให้นักวิจัยศึกษาการอพยพตามแนวดิ่งของพวกมันเพิ่มเติมได้ การเฝ้าติดตามใต้น้ำเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถใช้อวนหรือเบ็ดจับฉลามน้ำลึกและลากขึ้นสู่ผิวน้ำได้ แต่การถูกลากขึ้นจากท้องทะเลลึกอาจทำให้พวกมันบาดเจ็บจากแรงดันอากาศที่ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้   อีกทั้งสัตว์ที่อยู่ในภาวะเครียดก็ไม่ใช่ตัวอย่างศึกษาที่ดีด้วย ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์ของโอเชียนเอ็กซ์จึงต้องการติดแท็กฉลามในสภาพแวดล้อมที่พวกมันใช้ชีวิตอยู่

หลังทบทวนข้อมูลในห้องควบคุมภารกิจ ปรากฏว่าข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ติดตามดูจะสนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับวิธีล่าเหยื่อของฉลามเหงือกหกช่อง พวกมันจะเคลื่อนตัวช้า ๆ โดยเร่งความเร็วขึ้นด้านบนเป็นระยะทางสั้น ๆ ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า มันกำลังซุ่มโจมตีเหยื่อจากเบื้องล่าง

ภารกิจของโอเชียนเอ็กซ์ไม่ได้มุ่งไปที่ฉลามและวาฬเท่านั้น บ่อยครั้งที่พวกเขาทำเรื่องสามัญธรรมดากว่าอย่างการทำแผนที่ ระหว่างติดแท็กให้ฉลามและถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับวาฬ  โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์  ยังใช้ระบบโซนาร์บนเรือเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพื้นสมุทรเพิ่มในฐานข้อมูลไปเรื่อย ๆ ด้วย ย้อนหลังไปเมื่อปี 2019 โอเชียนเอ็กซ์สำรวจระบบแนวปะการังใหญ่ที่สุดตลอดแนวชายฝั่งสหรัฐฯ และในปี 2023 ก็ออกเดินทางสู่น่านน้ำนอกหมู่เกาะอะโซร์สอีกครั้ง โดยเพิ่มข้อค้นพบใหม่ ๆ เกี่ยวกับเทือกเขาและสันเขาใต้ทะเล เพื่อสนับสนุนการประกาศให้พื้นที่ร้อยละ 30 ของเขตเศรษฐกิจจำเพาะในภูมิภาคเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล หรือเอ็มพีเอ (marine protected area: MPA)  นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานให้โอเชียนเอ็กซ์ตีพิมพ์งานวิจัยเกือบหนึ่งร้อยชิ้นตั้งแต่เรื่องปูชนิดต่าง ๆ ในแนวปะการัง ไปจนถึงจุลชีพที่อยู่รอบปล่องน้ำพุร้อนใต้มหาสมุทร

“ทะเล หลังจากร่ายมนตร์ขลังแล้ว จะติดตรึงอยู่ในข่ายแห่งความอัศจรรย์ตลอดไป” ฌาก-อีฟ กุสโต เขียนไว้ ในยุคสมัยที่ความสนใจของสาธารณชนอายุสั้นลงเรื่อย ๆ การย่อยข้อมูลที่ซับซ้อนอาจเป็นเรื่องยากขึ้น โอเชียนเอ็กซ์กำลังพยายามทำให้มนตร์ขลังนั้นคงอยู่ตลอดไป

ดาลิโอ ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรไม่แสวงกำไรนี้ บอกว่า เขาอยากให้ โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์  “เป็นการเปิดตัวที่ไม่ใช่แค่เพียงรายการสารคดีเท่านั้น แต่หมายถึงความตื่นเต้นและความตระหนักรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับมหาสมุทรด้วย”  และเสริมว่าเขาอยาก “สร้างระลอกคลื่น” ที่นำคนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมและทำงานร่วมกัน ซึ่งหากทำได้ เขาบอกว่า “เราก็ใกล้จะถึงยุคทองแห่งการสำรวจมหาสมุทรแล้วจริงๆครับ”

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ของโครงการแบ่งปันสู่สาธารณชนดูเหมือนกำลังได้รับความสนใจ โอเชียนเอ็กซ์มีผู้ติดตามทางแพลตฟอร์มติ๊กต็อกกว่าสี่ล้านคนแล้ว

มัตติ โรดรีเกอ ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์ของโอเชียนเอ็กซ์ ตรวจดูตัวอย่างด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังสูงบนเรือ ห้องปฏิบัติการล้ำสมัยเช่นนี้มุ่งลดช่องว่างมหาศาลของความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล
ภาพถ่าย: แอนดี มันน์, OCEANX

ขณะดำลงไปกับยานดำน้ำอีกครั้ง มาร์เกซกับอะฟองโซเห็นฉลามเหงือกหกช่องขนาดใหญ่ตัวหนึ่งว่ายเลียบพื้นแนวหิน  นี่อาจเป็นการใช้เซนเซอร์ไฟฟ้าที่ปรับให้เหมาะได้อย่างดียิ่งในสมองของมันเพื่อตรวจหาความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในความมืดก็ได้  แต่แทนที่จะเห็นวิธีการกินอาหารตามที่ข้อมูลบ่งชี้ สิ่งที่เกิดหลังจากนั้นกลับแตกต่างออกไป ฉลามพลิกตัวอย่างรวดเร็ว เหวี่ยงหางขึ้นเหนือหัวก่อนฟาดไปมาเหมือนพยายามกดอะไรบางอย่างไว้กับพื้นอาจเป็นปลากระเบนที่ซ่อนอยู่ใต้ทรายก็ได้

เมื่อกลับขึ้นเรือ โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์ มาร์เกซกับทีมพูดคุยกันว่า วินาทีนั้นท้าทายความคาดหวังของพวกเขาอย่างไร แทนที่จะพิสูจน์ว่าข้อมูลชุดหนึ่งถูกหรือผิด ข้อเท็จจริงกลับน่าตื่นเต้นยิ่งกว่า นั่นคือฉลามเหงือกหกช่องอาจมีกลวิธีล่าเหยื่อหลากหลายให้เลือกใช้ก็ได้

“ข้อมูลจากแท็กที่ติดไว้บอกเราอย่างหนึ่งค่ะ” มาร์เกซบอกและเสริมว่า “แต่สิ่งที่เราเห็นกับตาบอกสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง” นี่คือข้อค้นพบที่ไม่ได้คาดคิดและเป็นเครื่องเตือนใจว่า สิ่งที่เรายังไม่รู้นั้นมีมากเพียงใด

เย็นย่ำวันหนึ่งแสงแดดอาบไล้หน้าผาหินของหมู่เกาะอะโซร์ส ขณะที่ โอเชียนเอ็กซ์พลอเรอร์ ทะยานต่อไปเรือลำใหญ่กลายเป็นเงาดำจากแสงสลัวลางที่สะท้อนบนมหาสมุทรโดยรอบ ท้ายที่สุด เรือจะมุ่งหน้ากลับสู่ท่าเรือเพื่อเติมน้ำมันและเริ่มภารกิจใหม่ โดยนำนักวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นอีกกลุ่มไปศึกษาห้วงลึก

ขณะที่เรือแล่นไปข้างหน้า มันดูเล็กจ้อยเมื่อเทียบกับมหาสมุทรที่แผ่ไกลออกไปถึงขอบฟ้าอันรองเรือง เกือบทุกวันที่ทะเลจะมีช่วงเวลาเช่นนี้ ช่วงเวลาที่เมื่ออยู่ในจังหวะและมุมมองพอเหมาะ เรือลำมหึมาพลันดูเล็กจ้อยเมื่อเราถอยห่างออกมา มหาสมุทรจะกว้างใหญ่ขึ้นเสมอ

เรื่อง แอนนี รอท

ภาพประกอบสร้างจากภาพถ่าย นีล เจมีสัน


Recommend