วิจัยใหม่เผย แฮนยอแห่งเกาะเชจู มียีนพิเศษที่ทำให้ดำน้ำเก่งกว่าคนทั่วไป

วิจัยใหม่เผย แฮนยอแห่งเกาะเชจู มียีนพิเศษที่ทำให้ดำน้ำเก่งกว่าคนทั่วไป

“หญิงแกร่งแห่งท้องทะเล นักดำน้ำแฮนยอจากเกาะเชจู

มีการปรับตัวทางพันธุกรรมเพื่อให้ดำในน้ำที่เย็นยะเยือกได้อย่างปลอดภัย

ตั้งแต่การปืนเข้าในพื้นที่สูงไปจนถึงการดำน้ำเพื่อหาปลาได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณพิเศษเพิ่ม นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบวิธีใหม่ ๆ ที่ร่างกายมนุษย์กำลังปรับตัวทางพันธุกรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่รุนแรงเหล่านั้นได้ 

คุณคงเคยได้ยินเรื่องราวของมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนที่สูง ที่มีรูปร่างฮีโมโกลบินไม่เหมือนคนภาคพื้นดิน โดยสามารถนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเอาชีวิตรอดในพื้นที่ที่มีอากาศเบาบาง ขณะเดียวกันชาวบาจาวนักดำน้ำท้องถิ่นในอินโดนีเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ ก็มีม้ามที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ดำน้ำได้ดีขึ้น 

นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่ายังมีมนุษย์กลุ่มอื่นอีกหรือไม่ที่แสดงถึงการปรับตัวที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ ‘สตรีแห่งท้องทะเลแฮนยอ’ คือหนึ่งในการค้นพบใหม่ ตามรายงานที่เผยแพร่บนวารสาร Cell Report การดำน้ำที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนอาจเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของนักดำน้ำและลูก ๆ ของพวกเธอด้วยเพื่อดำน้ำได้อย่างปลอดภัย 

“แม้ปัจจุบันพวกเธอจะสวมชุดดำน้ำ แต่จนถึงช่วงทศวรรษ 1980 พวกเธอยังคงดำน้ำในชุดรัดรูปที่ทำจากฝ้าฝ้ายอยู่เลย” เมลิสสา อิลาร์โด (Melissa Ilardo) นักพันธุศาสตร์แห่งมหาวิทยลัยยูทาห์ ผู้เขียนรายงานใหม่ กล่าว 

สตรีแห่งท้องทะเล

นักดำน้ำกลุ่มนี้ที่เรียกกันว่า ‘แฮนยอ’ นั้นประกอบด้วยสมาชิกที่หลากหลาย แต่ทั้งหมดเป็นผู้หญิงที่มีอายุน้อยไปจนถึง 70 ปีบนเกาะเชจู พวกเธอใช้เวลาทั้งวันในการดำน้ำหาหอย ตามข้อมูลจากยูเนสโกระบุว่า แฮนยอจะดำน้ำรวมทั้งหมด 7 ชั่วโมงต่อวัน และบางครั้งก็อาจดำจนถึงอายุ 80 ปี 

แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือสตรีแห่งท้องทะเลเหล่านี้สามารถดำลงไปในน้ำที่มีอุณหภูมิราว 10 องศาเซลเซียสและลึกลงไปเกือบ 10 เมตรโดยไม่ใช้หน้ากากออกซิเจนหรืออุปกรณ์ดำน้ำพิเศษใด ๆ สมาชิกของกลุ่มจะได้เรียนรู้การดำน้ำกับแม่ตั้งแต่เล็ก และจะเริ่มฝึกอย่างเป็นทางการเมื่ออายุประมาณ 15 ปีไปจนตลอดชีวิต

“พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมกับท้องทะเล พวกเธอเป็นผู้ดูแลท้องทะเล และดูแลสิ่งแวดล้อมทางทะเลเป็นอย่างดี” อิลาร์โดกล่าว พร้อมเสริมว่านักดำน้ำแฮนยอจะหมุนเวียนสิ่งที่เก็บมาได้ตามฤดูกาล ทำให้ทรัพยากรมีเวลาได้ฟื้นฟู 

อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาตามสายเลือดนี้ไม่เป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ นักดำน้ำปัจจุบันมีอายุเฉลี่ย 70 ปีและอาจจะเป็นนักดำน้ำรุ่นสุดท้ายของแฮนยอ ดังนั้นมันจึงหมายความว่าการศึกษาความสามารถของพวกเธออาจกำลังใกล้หมดลงแล้ว

ปรับตัวในสภาวะสุดขั้ว

ร่างกายมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสภาวะสุดขั้วเช่น ระดับความสูงและอุณหภูมิที่เย็นจัดได้อย่างน่าทึ่ง

“มนุษย์เป็นเหมือนซูเปอร์พลาสติก เราอาศัยอยู่ทุกที่” โจชัว เทรมเบลย์ (Joshua Tremblay) นักวิจัยด้านระบบหัวใจและหลอดเลือดจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย กล่าว “เราทำได้ดีมากในการปรับตัว ไม่ใช่แค่ทางพฤติกรรมหรือทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทางสรีรวิทยาด้วย” 

ในการศึกษาที่ทำการผู้เลี้ยงกวางเรนเดียร์ในฟินแลนด์นั้น ผู้เลี้ยงจะต้องเจอกับความหนาวเย็นจัด ๆ บ่อยครั้ง คารา โอโคบ็อกค์ (Cara Ocobock) นักมานุษวิทยาจากมหาวิทยาลัยเนอเทรอดามระบุว่า ร่างกายของผู้เลี้ยงจะมีไขมันชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่กักเก็บความร้อนโดยเฉพาะ

เช่นเดียวกัน เทรมเบลย์ กล่าวว่าประชากรบางกลุ่มทื่อาศัยอยู่บนระดับความสูงมีการปรับตัวทางสรีรวิทยาและทางพันธุกรรมต่อระดับออกซิเจนในบรรยากาศที่ค่อนข้างต่ำ แต่การปรับตัวนั้นแตกต่างกันไปโดยผู้ที่อาศัยอยู่ในเทือกเขาแอนดีสมีการผลิตเม็ดเลือดแดงมากขึ้น 

ขณะที่ผู้คนในทิเบตอาจเน้นไปที่ความเข้มข้นของฮีโมโกลบินมากกว่า ซึ่งทั้งสองอย่างต่างก็ทำให้พวกเขาขนส่งออกซิเจนในเลือดได้มากขึ้น รวมไปถึงนักดำน้ำชาวบาจาวหรือ ‘ชนเร่ร่อนในท้องทะเล’ ที่มีม้ามใหญ่ขึ้นเพื่อให้เม็ดเลือดแดงและออกซิเจนไหลเวียนในระหว่างการดำน้ำได้ดีขึ้น 

พลังพิเศษในการดำน้ำของแฮนยอ

เพื่อทดสอบความสามารถของหญิงแกร่งแห่งท้องทะเล อิลาร์โด ได้ร่วมมือกับ จู ยอง ลี (Joo Young Lee) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ผู้ที่ทำงานร่วมกับแฮนยอมานานกว่าทศวรรษ โดยทำการเปรียบเทียบจีโนมของนักดำน้ำแฮนยอ 30 คน คนที่ไม่ใช่แฮนยอแต่มาจากเกาะเชจู 30 คน และคนที่มาจากเกาหลีแผ่นดินใหญ่ 31 คน 

ผู้เข้าร่วมทั้งหมดมีอายุเฉลี่ย 65 คน ซึ่งนอกจากการตรวจสอบทางพันธุกรรมแล้ว ผู้เข้าร่วมทุกคนยังจะได้ทำการจำลองการดำน้ำ โดยต้องจุ่มใบหน้าลงในอ่างน้ำเย็นพร้อมกับกลั้นหายใจ มันเผยให้เห็นว่าแฮนยอมีอัตราการเต้นของหัวใจลดลงประมาณร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ 

ยีนนี้ช่วยให้พวกเธอกลั้นหายใจได้นานขึ้นจำกัดออกซิเจนที่ร่างกายต้องการและลดภาระของหัวใจ นักวิทยาศาสตร์ตั้งทฤษฎีว่าความสามารถนี้เป็นผลจากการฝึกฝนตลอดชีวิต เนื่องจากผู้ที่มาจากเกาะเชจูและไม่ได้เป็นแฮนยอก็ไม่สามารถลดระดับการเต้นของหัวใจได้เช่นกัน

“ความแตกต่างของอัตราการเต้นของหัวใจนั้นชัดเจนมาก” อิลาร์โด กล่าว “เรามีบุคคลหนึ่งที่มีอัตราการเต้นของหัวใจลดลงมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีแค่ในเวลา 15 วินาที” 

แต่สิ่งที่พิเศษก็คือ การวิเคราะห์จีโนมแสดงให้เห็นว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในเกาะเชจู ไม่ว่าจะเป็นแฮนยอหรือไม่นั้น มีความแตกต่างทางพันธุกรรมจากผู้เข้าร่วมที่มาจากแผ่นดินใหญ่ โดยผู้ที่มาจากเกาะเชจูราว 1 ใน 3 หรือ 33% มียีน 2 รูปแบบที่ช่วยให้ร่างกายรับมือกับแรงกดดันจากการดำน้ำได้ 

รูปแบบแรกมีความเกี่ยวข้องกับการทนต่อความหนาวเย็น ซึ่งทำให้นักดำน้ำมีความเสี่ยงต่อภาวะอุุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติน้อยลง ขณะที่รูปแบบที่สองเกี่ยวข้องกับความดันโลหินไดแอสโตลิกที่ลดลง (แรงดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว) ซึ่งผู้ที่มาจากแผ่นดินใหญ่มียีนเหล่านี้อยู่เพียง 7% เท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่ายีนเหล่านี้อาจช่วยปกป้องแฮนยอให้ดำน้ำได้อย่างปลอดภัยโดยเฉพาะในขณะที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากปกติแล้วแฮนยอจะยังคงดำน้ำอยู่จนถึงวันที่คลอดลูกเลย การมียีนความดันต่ำนี้จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนอย่าง ครรภ์เป็นพิษ ที่อันตรายต่อทั้งแม่และลูกได้

“การดำน้ำสร้างความเครียดให้กับร่างกายมาก” อิลาร์โด กล่าว “และเราคิดว่ายีนที่มีความดันโลหินต่ำนี้อาจช่วยปกป้องร่างกายได้ ผ่านบทบาทที่ส่งผลต่อหลอดเลือด… ลดความเสี่ยงต่อแม่และทารก” 

ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเกาะเชจูน่าจะสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษกลุ่มเล็ก และถูกแยกจากแผ่นดินใหญ่เป็นเวลานาน ซึ่งน่าจะมีช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผู้คนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าหรือออกจากเกาะ จึงทำให้เกิดความแตกต่างทางพันธุกรรมเช่นนี้

การปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

การศึกษาครั้งนี้ทำให้ชาวแฮนยอกลายเป็นประชากรกลุ่มที่ 2 ที่ดูเหมือนจะมีวิวัฒนาการในการดำน้ำนอกเหนือจากชาวบาจาว 

“เป็นการแสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย วิวัฒนาการ และความยืดหยุ่นของมนุษย์ได้อย่างน่าทึ่ง” โอโคบ็อกค์ กล่าว 

ความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ชาวเกาะเชจูจำนวนมากมีอาจไม่เพียงแค่ช่วยในการดำน้ำเท่านั้น แต่ยังอาจเชื่อมโยงกับความจริงที่ว่าเกาะเชจูมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองต่ำที่สุดในเกาหลีทั้งหมดอีกด้วย

“จะเป็นเรื่องน่าทึ่งมาก หากผู้หญิงเหล่านี้ที่ดำน้ำระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นคนแกร่งอย่างที่พวกเธอเป็นอยู่ จะสามารถผลักดันปรากฏการณ์ทางสุขภาพนี้ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งเกาะได้จริง” อิลาร์โดกล่าว 

พร้อมเสริมว่าการทำความเข้าใจที่ดีขึ้นว่ายีนรูปแบบนี้ทำงานอย่างไรอาจช่วยให้ทราบแนวทางการรักษาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดได้

โอโคบ็อกค์ระบุว่าการสำรวจวิธีการที่ร่างกายมนุษย์เปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสภาวะที่รุนแรงยังมีความสำคัญในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เนื่องจากภาวะโลกร้อนและเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงนั้นเพิ่มขึ้นมากไม่ว่าจะเป็น พายุลูกเห็บและคลื่นความร้อน

“การเข้าใจศักยภาพของร่างกายมนุษย์ในการรับมือและบรรเทาอาการสุดขั้วเหล่านี้ให้ดีขึ้น จะช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้ดีขึ้น” โอโคบ็อกค์ กล่าว 

สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.cell.com

https://www.livescience.com

https://www.nationalgeographic.com


อ่านเพิ่มเติม : นักวิทยาศาสตร์ ค้นพบสีใหม่

ที่มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่สามารถมองเห็นได้

Recommend