การลดลงของช้างเอเชีย อาจนำไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศป่าเขตร้อน

การลดลงของช้างเอเชีย อาจนำไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศป่าเขตร้อน

“เมื่อช้างเอเชียหายไป ระบบนิเวศของป่าเขตร้อนก็พังทลาย

ช้างเอเชียกำลังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลจากการตัดไม้ทำลายป่า

พวกมันสูญเสียที่อยู่อาศัยไปมากกว่า 64%” 

สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ชนิดนี้กำลังประสบปัญหาวิกฤตใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทราบกันเป็นอย่างดีว่าช้างนั้นมีบทบาทในฐาน ‘วิศวกรรมแห่งระบบนิเวศ’ ด้วยการเพิ่มความซับซ้อนทางโครงสร้างให้กับสิ่งแวลด้อม และแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไปทั่วพื้นที่ 

อย่างไรก็ตามยังมีความรู้ความเข้าใจบางมุมที่ยยังไม่ได้รับการศึกษามากพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขตร้อน ว่าโขลงช้างที่มีการรวมตัวจำนวนมากนั้นมีผลกระทบอย่างไรต่อพื้นที่บ้าง ช่องว่างดังกล่าวนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์วางแผนการอนุรักษ์เพื่อปกป้องพวกมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ดังนั้นเราจึงได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างช้างเอเชีย และการรวมตัวของชุมชนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม-ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับสายพันธุ์-ในป่าเขตร้อนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยใช้ข้อมูลการติดตามระยะยาวจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์” ทีมวิจัยจากสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนาของสถาบันจีน (Xishuangbanna Tropical Botanical Garden of the Chinese Academy; XTBG) กล่าว

ไม่มีช้างก็ไม่มีระบบนิเวศ

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Journal of Animal Ecology ทีมวิจัยได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ช้างเอเชีย (Elephas maximus) นั้นมีความเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์อย่างมีนัยสำคัญ และยังทำให้ชุมชนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในบริเวณนั้นมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น

ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องดักถ่ายที่รวบรวมตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2021 จากป่าเขตร้อนในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ข้อมูลดังกล่าวได้บันทึกเหตุการณ์สัตว์ป่าอิสระ 9,822 เหตุการณ์ โดยมีช้างเอเชียถูกบันทึกทั้งหมด 78 ครั้ง ในจำนวนนั้นมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 6,001 ครั้งในพื้นที่ที่มีช้างเอเชีย และ 3,821 ครั้งในพื้นที่ที่ไม่มีช้างเอเชีย 

จากข้อมูลเหล่านี้เมื่อเทียบกันแล้ว มันชี้ให้นักวิทยาศาสตร์เห็นอย่างชัดเจนว่า พื้นที่ที่มีช้างเอเชียนั้นมีเครือข่ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แข็งแกร่งกว่า พร้อมกับแสดงให้เห็นเช่นกันว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปฏิสัมพันธ์ทางนิเวศที่ซับซ้อนและยืดหยุ่นกว่า 

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าการมีช้างเอเชียอยู่ มีความสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์กีบเท้าและไพรเมตที่ได้รับประโยชน์สูงสุด แม้จะมีบางสายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดที่หลบเลี่ยงช้างเอเชียชั่วคราว

แต่ส่วนใหญ่แล้ว สัตว์อื่น ๆ ยังคงรูปแบบกิจกรรมประจำวันได้เสมอ ซึ่งบ่งชี้ว่าช้างเอเชียไม่ได้รับการมองว่าเป็นนักล่าหรือคู่แข่งที่น่ากลัวเลย ในระดับสายพันธุ์แล้ว ช้างเอเชียทำให้จำนวนสัตว์ในสายพันธุ์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ไม่ได้เพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ช้างเอเชียที่ลดลงยังอาจทำให้เครือข่ายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดไม่มีความมั่นคง

“การสูญพันธุ์ของช้างเอเชียอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกระบวนการทางนิเวศวิทยา และความสามารถในการฟื้นตัวของชุมชนสัตว์ การปกป้องช้างเอเชียเป็นสิ่งสำคัญในการอนุรักษ์ป่าเขตร้อนของเอเชีย” เฉวียน รุ่ยชาง (Quan Ruichang) หนึ่งในทีมวิจัย กล่าว

แต่ที่อยู่ของช้างกำลังหายไป

การศึกษาล่าสุดได้เน้นย้ำถึงประโยชน์จากช้างเอเชียที่มีผลต่อสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งมักถูกมองข้ามในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากช้างมักถูกมองว่าเป็น ‘ศัตรู’ ต่อพืชพรรณของมนุษย์มากกว่า ซึ่งน่าเศร้าเพราะปัญหานี้เกิดจากพื้นที่อยู่อาศัยของช้างหายไปเป็นจำนวนมาก

งานวิจัยในปี 2023 เผยให้เห็นว่าช้างได้สูญเสียบ้านของมันไปเกือบ 2 ใน 3 ทั่วเอเชีย อันเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ไปใช้ในการเกษตรและก่อสร้างโครงสร้างพื้นที่มากขึ้น โดยรวมแล้วหายไปกว่าร้อยละ 64 หรือ 3.3 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปี 1700 เป็นต้นมา

“สิ่งที่ผมกังวลก็คือ เราจะไปถึงจุดเปลี่ยนที่วัฒนธรรมแห่งการไม่เผชิญหน้ากัน จะถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมแห่งการต่อต้านและความรุนแรงจากทั้งสองสายพันธุ์” เชอมิน เดอ ซิลวา (Shermin de Silva) ผู้ก่อตั้งและประธานของ Trunks and Leaves องค์กรไม่แสวงกำไรเพื่อการอนุรักษ์ช้างป่าเอเชียและแหล่งที่อยู่อาศัย กล่าว

จีนเป็นประเทศที่บ้านของช้างหายไปมากที่สุดร้อยละ 94 รองลงมาคืออินเดียที่ร้อยละ 86 และมากกว่าครึ่งหนึ่งในบังกลาเทศ ไทย เวียดนาม การที่ป่าลดลงเหล่านี้นำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมนุษย์ได้ขยายพื้นที่อยู่อาศัยไปทับกับพื้นที่ช้าง

น่าเศร้าที่ช้างเอเชียเหล่านี้กำลังถูกกดดันรอบด้านจากทั้งพื้นที่อยู่อาศัยที่ลดน้อยลง และจากมนุษย์ที่เผชิญหน้ากันมากขึ้น “ในปี 1700 ช้างอาจสามารถเดินทางผ่านพื้นที่ ‘ที่เหมาะสม’ ได้ถึง 45% โดยไม่สะดุด แต่ในปี 2015 จำนวนดังกล่าวก็ลดลงเหลือเพียง 7.5% เท่านั้น” เดอ ซิลวา บอก

ท้ายที่สุด

ผลการศึกษาเหล่านี้เผยให้เห็นว่าช้างมีประโยชน์อย่างยิ่งในการอนุรักษ์ระบบนิเวศให้มีความอดุมสมบูรณ์ โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบและไพรเมต กล่าวอย่างง่าย เมื่อมีช้าง สัตว์อื่น ๆ ก็เจริญเติบโตไปด้วยเช่นกัน การปกป้องช้างจึงไม่ได้เป็นเพียงการรักษาสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเกือบทั้งหมด

“ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า ช้างเอเชียไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อพืชพรรณเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับชุมชนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แข็งแกร่งกว่าด้วย ดังนั้น การปกป้องช้างจึงเป็นการดำเนินการอนุรักษ์ที่สำคัญในการรักษาชุมชนสัตว์ให้แข็งแรงในป่าเขตร้อนของเอเชีย” ทีมวิจัยสรุป

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://besjournals.onlinelibrary.wiley.com

https://phys.org

https://edition.cnn.com

https://www.nature.com


อ่านเพิ่มเติม : ผลวิจัยใหม่ชี้ ปลาอาจทรมานนานถึง 22 นาที

ก่อนหมดสติ หลังถูกจับขึ้นจากน้ำ

Recommend