เสียงจั๊กจั่นดังระงมบ่งบอกฤดูกาลแห่งความร้อน สัตว์ซึ่งมีวงจรชีวิตสั้น หลังจากฝังตัวอยู่ใต้ดินยาวนาน ก็ขึ้นมาลอกคราบเพื่อเปลี่ยนเข้าสู่ตัวเต็มวัย ผสมพันธุ์วางไข่ และตายจากไป ระยะเวลาที่ขึ้นมาอยู่เหนือผิวดินนั้นสั้นมาก หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เต็มไปด้วยเคมี หรือมีอินทรียวัตถุที่ผิวดินน้อย ก็ไม่เหมาะกับการขยายพันธุ์ของจั๊กจั่น ซึ่งเราจะเห็นได้ก็แต่ในที่ที่มีต้นไม้ใหญ่มากมาย

ที่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ และแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง ตำบลหนองกบ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ซึ่งก่อตั้งโดย Gulf Energy Development ได้เปลี่ยนที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวหนาแน่นไปด้วยต้นมะฮอกกานี แซมด้วยแนวยูคาลิปตัส และต้นไผ่ ได้กลายเป็นแหล่งอาศัยของจั๊กจั่น ยืนยันได้จากเสียงร้องลั่นป่าและคราบที่ลอกแล้วเกาะค้างอยู่ตามโคนต้นมะฮอกกานี จั๊กจั่นพันธุ์เล็กที่ไม่เป็นอันตรายต่อนาข้าวและพืชผัก ดูจะเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่อุทิศให้ธรรมชาติเกินกว่าครึ่ง

เมื่อโรงไฟฟ้ามาอยู่ร่วมกับชุมชน ก็ต้องทำตาม EIA หรือรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยจัดสรรพื้นที่สีเขียวเติมเต็มให้แก่ชุมชนรอบๆ ซึ่งส่วนมากจะทำนาข้าวเป็นหลัก ไม่เพียงทำตามกฎและความรับผิดชอบ แต่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น Gulf ต้องการอยู่อย่างสร้างประโยชน์ พาธรรรมชาติกลับคืนมาด้วยไม้ป่ายืนต้น รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อ ยอดอาชีพที่ชุมชนเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ด้วยวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ และการหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับชุมชน
ป่าต้องมาก่อน
หากจะเปลี่ยนระบบนิเวศให้เอื้อต่อการเพาะปลูก สิ่งที่ทำเป็นอย่างแรกคือการปลูกป่า ให้ธรรมชาติช่วยสร้างระบบนิเวศอันหลากหลาย เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และเป็นภูมิคุ้มกันรองรับการทำเกษตรแบบไม่พึ่งสารเคมี

บนพื้นที่ 48 ไร่ รอบโรงไฟฟ้า ถูกจัดสรรเป็นแปลงนาสาธิตและการใช้ประโยชน์ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ 12 ไร่ ที่เหลือคือป่าไม้ยืนต้น การที่เลือกมะฮอกกานี ยูคาลิปตัส และไผ่มาปลูกเป็นหลัก เพราะต้นเหล่านี้เติบโตเร็ว แข็งแรงดีท่ามกลางอากาศร้อน ทนน้ำท่วมขังในหน้าฝนได้ดี และยังเป็นพืชเศรษฐกิจอีกด้วย แต่ใช่ว่าพันธุ์ไม้ท้องถิ่นจะไม่ถูกนำมาปลูก ต้นไม้พื้นถิ่นภาคกลางอย่างประดู่ มะค่าโมง ยางนา และกระถินณรงค์ ก็นำมาปลูกเพิ่มความหลากหลายเช่นกัน

“เราสร้างความยั่งยืนผ่านแปลงนาสาธิตและชุมชนครับ สิ่งแรกคือสภาพแวดล้อมของโรงไฟฟ้ากับชุมชนโดยรอบที่กังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม Gulf จึงถ่ายทอดออกมาผ่านการทำเกษตร ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ถ้าสิ่งที่เขากิน เขาปลูก และเขาอยู่ มีความปลอดภัย จะสร้างความมั่นใจและความยั่งยืนให้ผู้คนทั้งในชุมชนและคนทำงานที่นี่”
คุณเชน – ชรัณ ตรัยพรรณ นักวิชาการเกษตร ศูนย์เรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่ และแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง เล่าให้ฟังถึงจุดประสงค์ของพื้นที่นี้ หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ด้านเกษตรอย่างเขา คือการวางแผนการจัดการในแปลงนา การทดสอบและคัดเลือกสายพันธุ์พืช การนำวิถีเกษตรอินทรีย์มาใช้ให้เห็นผลจริงในแง่มุมต่างๆ เพื่อส่งต่อความรู้ให้กับชุมชนโดยรอบ
เมื่อมีป่าโอบล้อมช่วยเปลี่ยนระบบนิเวศแล้ว การลงมือทำการเกษตรในศูนย์การเรียนรู้ฯ ก็เกิดขึ้น
เกษตรทฤษฎีใหม่ อาศัยภูมิปัญญาเดิม
ตามหลักการของเกษตรอินทรีย์ทฤษฎีใหม่ ต้องเริ่มจากการจัดสรรพื้นที่ โดยต้องมีแหล่งสำรองน้ำ 30% ที่อยู่อาศัย 10% ที่เหลืออีก 60 % คือพื้นที่ปลูกพืชไร่พืชสวนรวมกับเลี้ยงสัตว์ สำหรับที่นี่เน้นปลูกข้าวเป็นหลัก มีแปลงทดลองปลูกผัก โรงเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยมูลไส้เดือน และเตรียมเพิ่มพื้นที่เลี้ยงสัตว์

แปลงนาซึ่งใช้พื้นที่มากที่สุด โดยปลูกเพื่อทดลองสายพันธุ์ข้าว ที่เหมาะกับคุณภาพดิน โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ ได้ปลูกข้าวสายพันธุ์ กข 85, กข 79 ล่าสุดคือข้าวไรซ์เบอรี่ ในทุกฤดูเกี่ยวข้าว ก็จะทำกิจกรรมเชิญชุมชนเข้ามาร่วมงาน ให้ได้เห็นว่าวิถีเกษตรอินทรีย์ทำได้จริง และให้ผลผลิตดี และใช่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากทางศูนย์ฯ ฝ่ายเดียว แต่เกิดจากการร่วมมือกันของทั้งศูนย์ฯ และชุมชน

“เราแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันครับ ที่สระบุรีทำนา 3-4 ครั้งต่อปี แทบไม่ว่างกันเลย เขาจึงมีความเชี่ยวชาญ และมีวิสาหกิจชุมชนด้านการปลูกข้าว ก็มาแลกเปลี่ยนกับทีมงาน ล่าสุดก็มีการอบรมร่วมกัน คือ การใช้น้ำมูลไส้เดือนมาทำต้นกล้าข้าวนาโยน ซึ่งทำให้มีระบบรากโตกว่าการใช้ปุ๋ย เมื่อนำไปโยนในนาจะได้ต้นข้าวที่แข็งแรงกว่า เราเก็บเกี่ยวไปแล้ว ได้ผลผลิตค่อนข้างสูงเลยครับ” คุณเชนเล่า

ที่แปลงนาสาธิตแห่งนี้สร้างแหล่งสำรองน้ำเป็นของตัวเองเพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน เก็บไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง ไม้ไผ่ หน่อไม้ ผลไม้ใดๆ ในศูนย์ฯ ชาวบ้านข้างเคียงก็มาขอใช้ได้ เพียงแค่บอกกล่าว อยู่ร่วมกันแบบง่ายๆ พึ่งพาอาศัยกัน
ดินที่มีชีวิตในนาข้าวอินทรีย์
ดินที่สระบุรีเป็นดินเหนียว ก่อนปลูกข้าวจึงต้องปรับโครงสร้างดินด้วยการลงแกลบเป็นจำนวนมาก ตามด้วยปุ๋ยมูลไส้เดือน และน้ำหมัก เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน ให้ดินเหมาะแก่การเพาะปลูก นอกจากการปรับโครงสร้างดินแล้ว ยังเพิ่มไนโตรเจนให้กับดินอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยการปลูกปอเทืองปีละ 1 ครั้ง คั่นระหว่างการปลูกข้าว


“หัวหน้าไม่ใช้สารเคมีกำจัดหอยเลยครับ” คุณสมัย วงศ์ชัยยะ เกษตรกรประจำศูนย์ฯเล่าให้ฟังเมื่อเราถามว่า ขณะที่นารอบๆ ยังใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ทั้งปุ๋ย ทั้งยาฆ่าแมลง แล้วที่นี่ทำอย่างไร หอยเชอรี่คือศัตรูข้าว ที่จะโตเยอะในช่วงปล่อยน้ำเข้านา ที่นี่ใช้วิธีขอเป็ดไข่ไล่ทุ่งของบ้านใกล้เรือนเคียงมาลงกินหอยเชอรี่ในนาก่อนปลูกข้าว แค่ 3 วันก็หมดแล้ว คุณสมัยว่าอย่างนั้น

การทำลายตอซังหลังเก็บเกี่ยวเป็นอีกเรื่องที่ทางศูนย์ฯ ให้ความสำคัญมาก เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างมลพิษทางอากาศ พวกเขาใช้การไถกลบ แล้วหมักนาด้วยมูลไส้เดือนและน้ำหมัก ช่วยสร้างจุลินทรีย์ในการย่อยสลาย และได้อินทรีย์วัตถุบำรุงดินไปในตัว เมื่อเป็นวิธีที่ใช้ได้ดี ทางศูนย์ฯ จึงสื่อสารเรื่องนี้กับชุมชน ก็มีบางแห่งที่ปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้ แต่ในหลายๆ ที่ก็ยังใช้วิธีเผาอยู่ นั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ สื่อสารกันต่อไป

ดินที่มีชีวิตย่อมมีทั้งความสมบูรณ์และความแข็งแรง เปิดโอกาสทั้งพืชและสัตว์เติบโต แม้จะมีศัตรูพืชอยู่บ้าง แต่ข้าวก็มีภูมิคุ้มกันพอตัว ที่นี่จึงไม่ใช้สารเคมีเลย และปีที่ผ่านมา สามารถเก็บเกี่ยวข้าวไรซ์เบอรี่ แบบยังไม่คัดและสีข้าว ได้น้ำหนักราว 2 ตัน ถือว่าดีทีเดียวกับพื้นที่นาขนาดนี้
เกษตรจะครบวงจรจริง ต้องเอาเข้าปากคนให้ได้
นอกจากนาข้าวแล้ว ที่นี่ยังทดลองปลูกพืชต่างๆ ในสภาพดิน น้ำ และอากาศของบ้านหนองกบ คุณเชนเป็นคนเชียงใหม่ เขาคุ้นเคยกับพืชผักเมืองหนาวอยู่แล้ว เขาจึงลองปลูกผักที่เติบโตดีในอากาศเย็นอย่างสวิสชาร์ต และดอกไม้กินได้อย่างบีโกเนียใบมัน พืชหนาวที่กินได้ทั้งใบและดอก ก็ได้ผลน่าทึ่งว่า พืช 2 ชนิดนี้โตดีท่ามกลางแดดร้อนระอุ โดยปลอดสารเคมี บำรุงด้วยปุ๋ยหมัก และกำจัดศัตรูพืชด้วยน้ำส้มควันไม้เท่านั้น ผักหลายชนิดอื่นๆ ก็เติบโตได้ดี แม้จะไม่ประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่นั่นก็เป็นการเรียนรู้เพื่อหาวิธีกันต่อไป

เพื่อให้ชุมชนได้รู้จักกับดอกไม้กินได้และผักปลอดสารทั้งหลายในศูนย์ฯ จึงอาศัยการจัดกิจกรรม แค่ชวนมาดูวิธีปลูกไม่พอ แต่ให้ชิมด้วย ผลออกมาว่าชาวบ้านชื่นชอบมาก ชอบเพราะความอร่อย ปลอดสารเคมี ที่สำคัญคือราคาดี อย่างสวิสชาร์ต ราคากิโลกรัมละ 180 บาทขึ้นไป ยิ่งปลูกด้วยกระบวนการอินทรีย์ที่ควบคุมอย่างดีราคาจะสูงไปถึงกิโลกรัมละหลายร้อยบาท


เราทำเกษตรกันก็เพื่อสิ่งนี้ เพื่อป้อนอาหารสู่ผู้คนและเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงชีพ ถ้าอร่อย ปลอดภัย แล้วยังมีโอกาสทำเงินได้ ชาวบ้านก็ยิ่งให้ความสนใจ
คุณเชนอธิบายต่อว่า การต่อภาพเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เต็ม ยังต้องมีจิ๊กซอว์เพิ่ม
“ทำเกษตรต้องครบวงจร เหมือนเราต่อจิ๊กซอว์ บางอย่างต้องรอคน รอเวลา จิ๊กซอว์ของเกษตรทฤษฎีใหม่ คือต้องเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตที่ไม่ได้ขาย สามารถแบ่งส่วนมาแปรรูปให้คน ที่เหลือเป็นอาหารสัตว์ บางส่วนก็เป็นปุ๋ย เกษตรต้องหมุนเวียนทุกอย่าง ต้อง Zero Waste ไม่มีขยะ”


“ต่อไปเราจะเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ ไก่กินเศษผักได้ เอามูลไก่มาทำปุ๋ย ตอนนี้เราเลี้ยงกบ หอยขม และหอยเชอรี่สีทองที่กินได้ เราเลี้ยงแยกในบ่อ ปลูกแหนแดงให้สัตว์กิน และสัตว์ยังกินผักได้ทุกอย่าง เศษเหลือจากสัตว์กินก็นำไปทำปุ๋ยหมักได้ ไม่แค่ผัก ใบไม้ในป่าก็เอามาทำปุ๋ยหมักได้ด้วย ทำให้เราไม่ต้องใช้เคมีใดๆ เลย ชาวบ้านก็นำแนวคิดนี้ไปใช้ในพื้นที่เกษตรของตนเองได้”
แท้จริงแล้วเกษตรทฤษฎีใหม่คือการย้อนกลับไปหาความดั้งเดิมตามธรรมชาติ เพราะในธรรมชาติไม่มีขยะ ไม่ว่าต้นไม้ สัตว์ แมลง หรือสิ่งมีชีวิตระดับจุลินทรีย์ ต่างเป็นอาหาร ต่างช่วยย่อยสลาย ต่างพึ่งพากันให้เกิดชีวิตใหม่ หากสามารถทำเกษตรได้ครบวงจร ก็เท่ากับว่ารักษาทั้งความเป็นอยู่ของตนเองและธรรมชาติ


“ที่นี่เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งมีทุกอย่างแล้ว ถือว่าผ่านขั้นเริ่มต้นของการสร้างองค์ความรู้แล้ว เข้าสู่ขั้นพัฒนา คือการสร้างความร่วมมือจากชาวบ้าน เช่น สามารถยกระดับเป็นองค์กร หรือวิสาหกิจ สามารถวางแนวไปทางใดทางหนึ่ง เช่น ด้านแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร หรือด้านอาหาร เพราะอาหารเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของเกษตรอย่างชัดเจน”

“เกษตรจะครบวงจรจริง ต้องเอาเข้าปากคนให้ได้” คุณเชนย้ำถึงจุดยืนของการทำงานที่นี่ “เราต้องวางความคิดใหม่ว่า ทำเกษตรไม่ได้อดอยาก เพราะ ‘เกษตร’ แปลว่า อิ่ม คือสมบูรณ์ ในธรรมชาติมีทุกอย่างอยู่แล้ว เราต้องค่อยๆ สร้างขึ้นมา อย่าเพิ่งใจร้อน ใส่ปุ๋ยแล้วผลผลิตเยอะก็จริง ยาฆ่าแมลงก็ใช้ได้ผลเร็ว แต่ระยะยาวคือการทำลายดิน และการที่ต้องพึ่งสารเคมีก็คือการทำให้คนอื่นรวย ไม่ใช่เรารวย”
เมื่อเราสามารถใช้ธรรมชาติมาพึ่งพาตนเองได้ นี่จึงเรียกว่าเกษตรยั่งยืนที่แท้จริง นี่คือสิ่งที่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ และแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง ได้พยายามสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้ชุมชน สร้างองค์ความรู้ให้ชาวบ้านได้มาเรียนรู้ เพื่อต่อยอดสู่ความเป็นอยู่ที่ดีและมั่นคง