อาลัย “อินูกา” หมีขั้วโลกตัวแรกที่เกิดในเขตร้อน

อาลัย “อินูกา” หมีขั้วโลกตัวแรกที่เกิดในเขตร้อน

อาลัย อินูกา หมีขั้วโลกตัวแรกที่เกิดในเขตร้อน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2018 เป็นวันสุดท้ายของ “อินูกา” หมีขั้วโลกชื่อดังแห่งประเทศสิงคโปร์ โดยมันได้จากโลกนี้ไปท่ามกลางความดูแลจากบรรดาเจ้าหน้าที่ที่ผูกพัน หลังสุขภาพย่ำแย่ลงอย่างหนักจากความชรา ด้วยอายุ 27 ปี ของหมีขั้วโลกตัวนี้้ทียบเท่าได้กับมนุษย์ที่มีอายุ 70 ปี

อินูกาถือเป็นหมีขั้วโลกตัวแรกที่เกิดในสวนสัตว์ของสิงคโปร์ ทั้งยังเป็นหมีขั้วโลกตัวแรกที่เกิดในภูมิภาคเขตร้อนอีกด้วย อินูกาเป็นดาวเด่นของสวนสัตว์ที่มีผู้ชมเดินทางมาชมมันมากมาย ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากบรรดานักอนุรักษ์สัตว์ป่า

ผลการตรวจร่างกายล่าสุดเผยให้เห็นว่า อินูกา ทุกข์ทรมานจากโรคข้อต่ออักเสบ, ฟันผุและการติดเชื้อในหู รวมไปถึงขาของมันยังไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ไหว และยังมีบาดแผลบริเวณอุ้งเท้าและหน้าท้องอีกด้วย

“แม้ว่าเราจะต้องการยื้อชีวิตของอินูกาไว้ให้นานที่สุด แต่การช่วยมันไม่ให้ต้องทุกข์ทรมานก็คือความรับผิดชอบของเราเช่นกัน” Cheng Wen-haur ผู้อำนวยการสวนสัตว์กล่าว ดังนั้นแล้วในการรักษาครั้งล่าสุด เมื่ออาการของอินูกายังคงไม่ดีขึ้น ในที่สุดสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจไม่ปลุกมันขึ้นจากฤทธิ์ของยาสลบ และปล่อยให้อินูกาได้จากไปอย่างสงบ ซึ่งจากภาพถ่ายแสดงให้เห็นมือของเจ้าหน้าที่หญิงท่านหนึ่งที่ยังคงแตะอุ้งเท้าของมันไว้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

อินูกา
หนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลแตะที่อุ้งเท้าของมันและกล่าวคำบอกลา
ขอบคุณภาพถ่ายจาก Wildlife Reserves Singapore

ด้านชาวสิงคโปร์จำนวนมากพากันไว้อาลัยให้แก่การจากไปของหมีขั้วโลกผู้โด่งดัง โดยทางสวนสัตว์จะมีการจัดพิธีรำลึกถึงอินูกาอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เมษายน

ความตายของอินูกาถือเป็นการสิ้นสุดโชว์หมีขั้วโลกจากสวนสัตว์ในสิงคโปร์ด้วย ทั้งนี้ปกติแล้วหมีขั้วโลกตามธรรมชาติจะมีอายุราว 15 – 18 ปีเท่านั้น แต่อินูกามีอายุถึง 27 ปี ซึ่งถือว่าแก่ชรามาก ปัจจุบันมีหมีขั้วโลกอาศัยอยู่ตามธรรมชาติราว 22,000 ตัว ในถิ่นอาศัยที่มีภูมิอากาศหนาเย็น เช่นในขั้วโลกเหนือ, แคนาดา และรัสเซีย มีสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable)

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศคือปัจจัยสำคัญที่กำลังคร่าชีวิตของหมีขั้วโลก เมื่อแผ่นน้ำแข็งที่เป็นถิ่นอาศัยและหากินของพวกมันละลายหดตัวลง ส่งผลให้หมีขั้วโลกต้องว่ายน้ำไกลขึ้นเพื่อหาอาหาร ก่อนหน้านี้ภาพถ่ายของหมีขั้วโลกผอมโซก็กลายเป็นไวรัลที่ชวนให้ผู้คนบนโลกออนไลน์หันมาตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของตนมาแล้ว

(ชะตากรรมของ แรดขาวเหนือ จะเป็นอย่างไร เมื่อตัวผู้ตัวสุดท้ายของสายพันธุ์ตายลง)

อินูกา
เจ้าหน้าที่สวนสัตว์วางดอกไม้ไว้อาลัยหน้าภาพถ่ายของอินูกา ในสวนสัตว์สิงคโปร์
ขอบคุณภาพถ่ายจาก Gaya Chandramohan
อินูกา
พิธีรำลึกถึงอินูกาถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2018
ขอบคุณภาพถ่ายจาก Gaya Chandramohan
อินูกา
เด็กๆ ร่วมรำลึกถึงหมีขั้วโลกที่โด่งดังที่สุดในสิงคโปร์ด้วย
ขอบคุณภาพถ่ายจาก Gaya Chandramohan

 

ขอบคุณข้อมูล

https://www.straitstimes.com/singapore/inuka-died-surrounded-by-his-keepers-singapore-zoo-releases-photos-of-polar-bears-last

https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/inuka-polar-bear-private-memorial-singapore-zoo-10177758

http://www.bbc.com/news/world-asia-43890078

 

อ่านเพิ่มเติม

“หมีขั้วโลกผอมโซ” ประจักษ์พยานของภาวะโลกร้อน

Recommend