ตัวอย่างหนึ่งจากคาบสมุทรเกาหลีแสดงให้เห็นความหลากหลายของเชื้อรา Bd ที่มากกว่าเชื้อรา Bd จากภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก จึงตามมาซึ่งสมมุติฐานที่เชื่อกันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่อุบัติขึ้นของเชื้อราดังกล่าว จากนั้นทีมนักวิจัยพบการกลายพันธุ์ของมัน ในผลการวิจัยพวกเขาพบว่าบรรพบุรุษของ BdGPL ในทุกวันนี้ เกิดขึ้นในเอเชียเมื่อราวต้นศตวรรษที่ 20 จนกระทั่งเมื่อการส่งออกทั่วโลกเริ่มเป็นที่นิยมในทศวรรษ 1950 เชื้อราเหล่านี้จึงมีโอกาสได้เดินทางไปยังท้องถิ่นอื่น
ทีมนักวิจัยตั้งทฤษฎีว่า กิจกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อราในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วโลก ซึ่งนอกเหนือจากการขนส่งสินค้าแล้ว ยังรวมถึงความนิยมในการส่งกบข้ามประเทศในฐานะตัวทดสอบการตั้งครรภ์, อาหาร, สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ในอุตสาหกรรม ตลอดจนความขัดแย้งอย่างสงครามเกาหลีก็มีส่วนเช่นกัน ซึ่งในความขัดแย้งครั้งนั้นมีทหารเดินทางเข้าไปในภูมิภาคถึงหลายล้านคน และเมื่อกลับออกมาบรรดาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบางส่วนก็ติดมากับข้าวของและอุปกรณ์ด้วย
แม้จะมีแนวทางการแนะนำจากองค์การค้าระหว่างประเทศ แต่เห็นได้ชัดว่าการแพร่ระบาดยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งในการลงพื้นที่ตรวจสอบของทีมวิจัยตามตลาดและร้านขายสัตว์เลี้ยงในเบลเยียม, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และเม็กซิโกเอง พวกเขาพบกบและคางคกจำนวนมากที่ติดเชื้อรา Bd และในจำนวนนี้รวมถึงเชื้อราอันตราย BdGPL เช่นกัน
จตุรอาชาวันสิ้นโลกของกบ
มีการทดลองใช้สารฆ่าเชื้อเฉพาะสำหรับเชื้อรา Bd ในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตามธรรมชาติ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาวิธีแก้ไขวิกฤติดังกล่าวได้ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขาพอจะทำได้ขณะนี้คือป้องกันไม่ให้การระบาดแพร่ไปในวงกว้างมากกว่านี้
ในปี 2013 นักวิจัยค้นพบ B. salamandrivorans เชื้อราสายพันธุ์พี่น้องของ Bd ที่มีชื่อย่อว่า Bsal ชื่อของมันแปลได้ว่า “การสวาปามซาลาแมนเดอร์” ซึ่งแค่ชื่อคงพอบอกความสามารถของมันได้ ตั้งแต่ปี 2009 – 2012 เจ้าเชื้อราชนิดนี้คร่าชีวิตของประชากรซาลาแมนเดอร์สายพันธุ์ Dutch fire ไปแล้วมากกว่า 99%
ในปี 2016 กรมสัตว์ป่าของสหรัฐอเมริกาประกาศแบนการนำเข้าซาลาแมนเดอร์จำนวน 201 สายพันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อรา Bsal เข้าประเทศ อย่างไรก็ตามผลการตัดสินของศาลอุทธรณ์ในปี 2017 ชี้ว่าหากซาลาแมนเดอร์เหล่านั้นถูกนำเข้ามาก่อนการประกาศแบน การขนส่งดังกล่าวก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมายแต่อย่างใด
นอกจากนี้ในผลการศึกษาใหม่ยังเน้นย้ำถึงภัยคุกคามจากเชื้อราลูกผสมของ Bd อีกด้วย ในงานวิจัยก่อนหน้านี้ทีมนักวิจัยทราบว่าเชื้อรา Bd สายพันธุ์บราซิลอาจผสมเข้ากับสายพันธุ์อันตราย BdGPL และขณะนี้ทีมนักวิจัยพบว่าสิ่งที่พวกเขากังวลนั้นเกิดขึ้นแล้วกับเชื้อรา Bd สายพันธุ์แอฟริกา ซึ่งไม่มีใครทราบว่าผลกระทบจากเชื้อราลูกผสมเหล่านี้จะร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน?
“สำหรับฉันนี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด” Karen Lips ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจากสาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์กล่าว
จะช่วยสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำต้องหยุดการค้าขาย?
เชื้อรา BdGPL ระบาดในสหรัฐฯ แล้วขณะนี้ และศูนย์บริการอนุรักษ์ปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังติดตามการระบาดของมันอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ได้ป้องกันการมาถึงของสายพันธุ์พี่น้องของมัน และในเดือนมีนาคม ปี 2017 คำประกาศแบนห้ามนำเข้าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั้งหมดก็ถูกเปลี่ยนเป็นสามารถนำเข้าได้เฉพาะสัตว์ที่ปลอดเชื้อรา Bd แทน
“เจ้าเชื้อรา Bd มันแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติของสหรัฐฯ อยู่แล้ว ดังนั้นกฎห้ามการนำเข้าอะไรนั่นมีส่วนช่วยบรรดาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำท้องถิ่นได้น้อยมาก” Dave Miko หัวหน้าแผนกประมงและสัตว์น้ำจากศูนย์บริการอนุรักษ์ปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวระหว่างการแถลงข่าว
“ในการศึกษาใหม่พบว่าไม่ได้มี Bd แค่ชนิดเดียว” Lips กล่าวแย้ง ในฐานะผู้สนับสนุนการต่ออายุกฎห้ามการนำเข้า “และในเมื่อเรามีอยู่แล้ว ยิ่งควรป้องกันไม่ให้สายพันธุ์อื่นเข้ามาอีก มิฉะนั้นแล้วอะไรๆ จะยิ่งแย่ลง” หรืออย่างน้อยที่สุด Lips กล่าวว่าองค์กรการค้าสากลควรตรวจสอบว่าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ถูกนำเข้านั้นติดเชื้อ Bd หรือไม่ ซึ่งนโยบายดังกล่าวยังไม่ได้เกิดขึ้นในขณะนี้ หรือแม้แต่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ตรวจสุขภาพของบรรดาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ถูกนำเข้าในฐานะสัตว์เลี้ยงเช่นกัน
แต่สำหรับ O’Hanlon และ Fisher แล้ว ทางออกที่ดีที่สุดคือการแบนการนำเข้าอย่างสมบูรณ์ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ในฐานะสัตว์เลี้ยงแปลก “เราต้องการให้องค์กรเหล่านั้นมีกำไรจากการค้าขายสัตว์ เพียงเพราะแค่การมีพวกมันในห้องนั่งเล่นนั้น ‘มันดูเท่ดี’ จริงๆ หรือ” Fisher กล่าว “ดูเหมือนเป็นงานอดิเรกที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนอะไร แต่อันที่จริงเรากำลังทำให้ระบบนิเวศทั้งหมดตกอยู่ในความเสี่ยง”
เรื่อง มิคาเอล เกรสโค
อ่านเพิ่มเติม
กบมีพิษรอดจากพิษตัวเองได้อย่างไร?
https://www.facebook.com/NationalGeographicThailand/