ค้นพบฟอสซิลกิ้งก่าเก่าแก่ที่สุดในโลก

ค้นพบฟอสซิลกิ้งก่าเก่าแก่ที่สุดในโลก

ค้นพบ ฟอสซิลกิ้งก่า เก่าแก่ที่สุดในโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่ากิ้งก่าตัวแรกสุดของโลกนั้นมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรจาก ฟอสซิลกิ้งก่า

ผลการศึกษาล่าสุดของฟอสซิลจากเทือกเขาแอลป์ เชื่อกันว่าตัวอย่างฟอสซิลชิ้นนี้เป็น “มารดาของกิ้งก่าทั้งปวง” เนื่องจากมันเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่วิวัฒน์ขึ้นมาเป็นสะควอมาตา (Squamata) หรือสัตว์จำพวกกิ้งก่า และงูในปัจจุบัน มันมีชื่อว่า Megachirella wachtleri ย้อนอายุไปได้ไกลถึง 240 ล้านปี รายงานการค้นพบล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Nature

 

พบฟอสซิลกิ้งก่าที่ไหน?

ฟอสซิล Magechirella ถูกพบในเทือกเขาแอลป์ของอิตาลีเมื่อ 20 ปีก่อน ในตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันอาจเป็นสัตว์ที่เป็นญาติกับสะควอมาตา แต่ไม่มีหลักฐานมากพอที่จะระบุว่าเป็นบรรพบุรุษของสัตว์อะไร ตลอดจนรูปลักษณ์ของมันเป็นอย่างไรยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด และนักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่เข้าใจถึงวิวัฒนาการของมันครอบคลุมแน่ชัด

ตัวอย่างของฟอสซิลถูกนำมาตรวจสอบด้วยเทคโนโลยีซีทีสแกน ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เห็นรายละเอียดของฟอสซิลชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงคุณลักษณะของสะควอมาตาโบราณ

ฟอสซิลกิ้งก่า
ฟอสซิล Megachirella wachtleri ช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยาเขียนประวัติศาสตร์ของกิ้งก่าและงูใหม่
ภาพถ่ายโดย พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, Trento, อิตาลี

 

ทราบได้อย่างไรว่ามันเป็นกิ้งก่า?

Tiago Simões หัวหน้าทีมวิจัยใช้เวลาสี่ปีในการศึกษาร่วมกับ Michael Caldwell นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอลเบอร์ตา ผู้รวบรวมข้อมูลของสายพันธุ์สัตว์เลื้อยคลานที่ใหญ่ที่สุดทั้งมีชีวิตอยู่ และสูญพันธุ์ไปแล้วของงูและกิ้งก่า

“ผมใช้เวลากว่า 40 วัน เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์และมหาวิทยาลัยมากกว่า 50 แห่ง ใน 17 ประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูลของฟอสซิลและสัตว์เลื้อยคลานที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อทำความเข้าใจว่าวิวัฒนาการในช่วงแรกเริ่มของสัตว์เลื้อยคลาน และกิ้งก่านั้นเป็นอย่างไร” Simões รายงานแก่ AFP

และด้วยเทคโนโลยีซีทีสแกน ทางทีมวิจัยได้สร้างโมเดลสามมิติแสดงสรีรวิทยาของกิ้งก่าโบราณนี้ขึ้นมา ซึ่งอนุมานได้ว่าพวกมันเป็นวิวัฒนาการชุดแรกเริ่มของสัตว์เลื้อยคลาน ก่อนที่กิ้งก่า และงูจะแยกสายวิวัฒนาการออกจากกัน

ภาพกราฟิกของ Megachirella wachtleri ในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติเมื่อ 240 ล้านปีก่อน
กราฟิกโดย Davide Bonadonna, Nature

 

ทำไมการค้นพบครั้งนี้จึงสำคัญ?

สะควอมาตาคือหนึ่งในสัตว์ที่มีความหลากหลาย และแพร่ขยายสายพันธุ์มากที่สุดบนโลกนี้ แต่ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์มีองค์ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการแรกเริ่มของพวกมันน้อยมาก การค้นพบครั้งนี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยาเข้าใจมากขึ้นว่า กิ้งก่าและงูเอาชีวิตรอดในยุคแรกเริ่ม และวิวัฒนาการจนขยายสายพันธุ์มากมายดังที่เห็นในทุกวันนี้ได้อย่างไร

“ตัวอย่างฟอสซิลชิ้นนี้เก่าแก่กว่าฟอสซิลกิ้งก่าที่เก่าแก่ที่สุดถึง 75 ล้านปี” Simões กล่าวระหว่างการแถลงข่าว นอกจากนั้น Caldwell ยังเสริมว่าสำหรับนักบรรพชีวินวิทยาแล้ว การค้นพบ Megachirella นั้นเทียบเท่าได้กับศิลาโรเซตตา (ศิลาจารึกเมื่อสมัย 196 ปี ก่อนคริสต์กาล ซึ่งเป็นกุญแจไขปริศนาอักษรไฮเออโรกลีฟอียิปต์) เนื่องจากว่าฟอสซิลชิ้นนี้ช่วยพวกเขาให้เข้าใจแผนผังต้นไม้ของสัตว์เลื้อยคลานมากยิ่งขึ้น

เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์

 

อ่านเพิ่มเติม

กิ้งก่าโบราณเองก็สลัดหางเพื่อหนีจากผู้ล่า

Recommend