ตามติดชีวิต นักจับผีเสื้อ
ผีเสื้อหางติ่งมยุรา (Papilio blumei) อาศัยอยู่บนเกาะซูลาเวซีของอินโดนีเซียเพียงแห่งเดียว และในระดับความสูงเฉพาะเท่านั้น บ้านที่เป็นภูเขาของพวกมันเป็นหินผาสูงชันปกคลุมด้วยชั้นดินบางๆ ชุ่มโชก ลำพังแค่การยึดจับแต่ละครั้งหรือก้าวย่างแต่ละก้าวก็อาจทำให้เกิดโคลนถล่มขนาดย่อมๆ ได้ ขณะเดินทางไปตามเส้นทางระหว่างหุบเขากับยอดเขา ผมก็เข้าใจเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ข้อหนึ่งว่า ทำไมผีเสื้อบางชนิดถึงมีราคาค่างวด และเหตุใดจึงมีตลาดมืดรองรับผีเสื้อที่หายากจากบรรดา นักจับผีเสื้อ
ชาย นักจับผีเสื้อ ชื่อ จัสมิน ไซนุดดิน หยุดชั่วครู่ก่อนเอ่ยปากว่า “ปีนขึ้นไปอีกหน่อยก็ถึงแล้ว” จัสมินอาศัยอยู่บนเกาะนี้มาทั้งชีวิต และตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เขาสร้างเครือข่ายผู้ให้เบาะแส คนขนส่ง และคนจับ เพื่อส่งผีเสื้อจากยอดเขาในท้องถิ่นไปสู่มือนักสะสมทั่วโลก
เขาเริ่มต้นเช้าวันนี้ที่มากัสซาร์ เมืองปลายสุดทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ รถตู้ที่นำเขากับผู้ช่วยอีกหลายคนแล่นมาตามเส้นทางคดเคี้ยว ห่างไกลจากความร้อนของที่ราบลุ่มเบื้องล่าง บุกป่า ฝ่าดง จนมาถึงหมู่บ้านบนเขา ซึ่งถนนสูงชันและลื่นเกินกว่าจะขับรถไปต่อได้ ที่นี่เอง จัสมินจัดการย้ายอุปกรณ์และทีมงานขึ้นซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์หกคัน โดยมีเด็กชายตัวเล็กๆ เป็นสารถี ถนนร่วนซุยและแคบลงจนกลายเป็นทางแคบๆ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสะพานเชือกกับไม้กระดานซึ่งมอเตอร์ไซค์ผ่านไปได้ทีละคันเท่านั้น จนสุดทางที่หมู่บ้านถัดไป ทุกคนลงจากรถหิ้วถุงข้าวกับเหยือกน้ำติดมือไป แล้วเริ่มปีนเขา
ในที่สุดเมื่อลาดเขาเริ่มกลายเป็นนาข้าวขั้นบันได จุดหมายของจัสมินก็ปรากฏอยู่ข้างบน เป็นกระท่อมเสาสูงที่เขาสร้างเอง จัสมินกับผู้ช่วยเริ่มปีนขอนไม้ขึ้นไปยังกระท่อมทีละคน เมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้า จัสมินก็นอนแผ่หราอยู่บนพื้นกระท่อม เขาอายุเข้าวัยกลางคนแล้ว และการแบกสัมภาระขึ้นไปก็ยากขึ้นทุกเที่ยว เขาบอกว่าวันรุ่งขึ้นทุกคนค่อยออกล่าผีเสื้ออย่างจริงจัง แต่ตอนนี้ หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งกับหญิงสาวอีกคนกำลังหุงหาอาหาร

ทุกๆ คำพูดที่จัสมินเอ่ย ข้าวของทุกชิ้นที่เขาสัมผัส ทุกความทรงจำที่เขาสะสม ล้วนมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ผีเสื้อ เขาศึกษา ติดตาม และจับพวกมันมาตั้งแต่ตอนที่เจอชาวต่างชาติคนหนึ่งสมัยยังเป็นเด็ก ตอนนี้เขากลายเป็นคนจ่ายเงินให้กองทัพเด็กชายตัวน้อยที่ถือตาข่ายบางๆ เสียเอง จัสมินกับเด็กๆ เหล่านี้เป็นบันไดขั้นล่างสุดของตลาดค้าขายผีเสื้อ ซึ่งสิ้นสุดที่ห้องส่วนตัวและห้องประชุมคณะกรรมการของบริษัทในประเทศห่างไกล ที่ซึ่งนักสะสมผีเสื้อยอมจ่ายเงินหลายพันดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้ได้ผีเสื้อไปใส่กรอบกระจก
ในช่วงสองสามวันหลังจากนั้นที่กระท่อม เหล่านักจับผีเสื้อนำผีเสื้อที่จับได้มาให้จัสมินตรวจดู พวกเขามาจากทั่วทุกสารทิศ บางครั้งมากันตอนเช้า บางครั้งโผล่มาตอนพลบค่ำ
ส่วนใหญ่แล้วพวกเขานำผีเสื้อมาให้ดู แต่ก็มีผีเสื้อกลางคืนและแมลงอื่นๆ จำนวนหนึ่งด้วย เย็นวันหนึ่งขณะพระอาทิตย์กำลังตกดิน คนจับผีเสื้อสองสามคนนั่งคุยกับจัสมินบนเฉลียงสูง จู่ๆ ชายคนหนึ่งที่มีอายุมากกว่าคนอื่นก็ลุกพรวดขึ้น คว้าตาข่าย แล้วกระโจนลงพื้นข้างล่าง คนจับผีเสื้อคนอื่นๆ ส่งเสียงเชียร์ ขณะที่เขาวิ่งถลันขึ้นเนินไป มือกวัดแกว่งตาข่ายไปที่เงามืดรางๆ ในอากาศตรงหน้า
พอเขากลับมา คนอื่นๆ กรูเข้าไปดูสิ่งที่เขาจับได้ นั่นคือผีเสื้อปีกนก ผีเสื้อชนิดหายากและได้รับการคุ้มครอง “ตัวเล็กนิดเดียว” จัสมินบอก
ถึงกระนั้น มันก็ยังตัวใหญ่จนเต็มฝ่ามือผู้ชาย ปีกของมันดูหมองและกระดำกระด่าง จนกระทั่งจัสมินเลื่อนปีกคู่หน้าออกจากปีกคู่หลัง เผยให้เห็นแถบสีเหลืองอร่ามงดงามที่ซ่อนอยู่

วันรุ่งขึ้น จัสมินเดินทางลงเขาโดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ตลาดนอกเขตอุทยานบันติมูรุง ตลาดตั้งแผงกันอยู่ที่ปากทางเข้าอุทยานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบันติมูรุง ซึ่งเป็นประตูสู่อุทยานแห่งชาติชื่อเดียวกัน บรรยากาศในตลาดช่างตรงกันข้ามกับความโดดเดี่ยวเงียบสงบของเหล่านักจับผีเสื้อที่วางกับดักกลางหมอกบนเขาสูง เพราะที่นี่ทั้งอึกทึกครึกโครมและมีสีสัน พ่อค้าตะโกนเรียก “กุปุกุปุกุปุ-กุปุ!” – ผีเสื้อ ผีเสื้อ! ระหว่างที่ผู้คนเดินไปตามซอกซอยที่มีแผงตั้งเรียงรายเป็นแถว
ตลาดนี้มีลูกค้าสองกลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือนักท่องเที่ยวที่สวมเสื้อยืดลายผีเสื้อและจิบน้ำจากถ้วยรูปผีเสื้อ กินขนมหวานรูปผีเสื้อใต้ร่มลายผีเสื้อ อีกกลุ่มเป็นผู้ชายที่สวมเสื้อเชิ้ตติดกระดุมเรียบร้อย คนกลุ่มหลังนี้มาเพื่อทำธุรกิจ พวกเขาจะเดินพินิจพิเคราะห์ไปตามแผงที่จัดวางผีเสื้อให้เลือกซื้อหาหลายพันตัว บ้างใส่กรอบ บ้างบรรจุอยู่ในกล่อง
กฎหมายอินโดนีเซียซึ่งครอบคลุมการจับ ซื้อขาย และส่งออกผีเสื้อ มีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยข้อยกเว้นมากมาย ซึ่งอนุญาตแม้กระทั่งให้มีการซื้อขายได้ในบางกรณีซึ่งชนิดพันธุ์ผีเสื้อที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และได้รับเพาะพันธุ์เพื่อการค้า แต่ปัญหามีอยู่ว่าเราจะแยกแยะผีเสื้อที่เพาะเลี้ยงในฟาร์มจากผีเสื้อที่จับจากธรรมชาติได้อย่างไร
ขณะที่จัสมินเดินไปตามแผงลอย ผมถามเขาว่ามีการแยกแผงที่ถูกกฎหมายกับแผงผิดกฎหมาย (ตลาดมืด) หรือไม่ เขากอดอกแล้วประสานมือเข้าด้วยกัน เพื่อบอกว่าตลาดทั้งสองแยกกันไม่ออก

ถ้าเขาสังเกตเห็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองถูกนำมาวางขาย เขาจะชี้ให้ผมดูหรือเปล่า
เขาส่ายหัวและยิ้มน้อยๆ ก่อนจะเดินไปตามแผงลอย เอามือแตะกรอบผีเสื้อไปด้วยระหว่างที่เดินผ่าน
“นี่” เขาพูด “นี่…นี่…นี่…นี่…นี่…นี่…นี่…” เขาพูดถึงผีเสื้อราวครึ่งหนึ่งของที่นั่น
เมื่อชายใส่เสื้อเชิ้ตเอาจริง พวกเขาจะหลบเข้าไปในห้องที่อยู่หลังแผงเพื่อต่อรองราคากันอย่างลับๆ จัสมินเองก็เอาจริง ในห้องที่อยู่หลังแผงแผงหนึ่ง ชายอีกคนหยิบกล่องที่เต็มไปด้วยกระดาษเคลือบขี้ผึ้งรูปสามเหลี่ยมออกมาให้เขาดูหลายกล่อง ผีเสื้อเหล่านี้เริ่มต้นการเดินทางในตาข่ายของเด็กผู้ชายบนเกาะไกลโพ้น จากนั้นก็ถูกขนขึ้นรถตู้ที่มีคนขับเป็นคนกลาง แล้วมาแออัดรวมกันอยู่ที่นี่เป็นกองพะเนินเพื่อรอผู้ซื้อจากต่างแดน
รัฐบาลต้องรู้เรื่องตลาดค้าผีเสื้อแน่ๆ ใช่ไหม จัสมินยิ้มน้อยๆ อีกครั้ง แล้วเดินไปยืนข้างหน้าต่าง ก่อนจะชี้ออกไปที่ฝูงชน “ดูสิ ดูนั่น” เขาบอก เขากำลังชี้ให้เราดูตำรวจในเครื่องแบบ ซึ่งดูไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไร
เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่า เหตุใดผีเสื้อจึงทำให้ผู้คนหลงใหลได้ถึงเพียงนั้น ทำไมนักสะสมยุควิกตอเรียถึงคลั่งไคล้พวกมัน หรือนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นยอมอุทิศห้องทั้งห้องเพื่อเก็บพวกมัน
ผมนึกสงสัยว่า ความหลงใหลในผีเสื้อที่ดำรงอยู่มายาวนานอาจมาจากความไม่จีรังของพวกมัน ผีเสื้อดูราวกับล่องลอยอยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย ความเปราะบางเช่นนั้นทำให้พวกมันจับต้องได้ยากยามมีชีวิต และเมื่อไร้ชีวิตก็ดูไม่น่าพึงพอใจอีกต่อไป
เรื่อง แมททิว ทีก
ภาพถ่าย อีฟกีเนีย อาร์บูเกวา
อ่านเพิ่มเติม