สัตว์มหัศจรรย์แห่งทะเลใต้ผืนน้ำแข็ง อาร์กติก
ตามคำบอกเล่าของ Viktor Lyagushkin ช่างภาพชาวรัสเซีย สีของน้ำทะเลไวท์คือสีเขียว ต้องขอบคุณความอุดมสมบูรณ์ของไฟโทแพลงก์ตอนที่อาศัยอยู่ในทะเลใต้ผืนน้ำแข็งของภูมิภาค อาร์กติก
ตลอดระยะเวลา 28 วันในเดือนเมษายน Lyagushkin ใช้เวลาสามชั่วโมงหมดไปกับการดำน้ำสำรวจใต้ผืนน้ำแข็งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย เพื่อเก็บภาพของสัตว์มหัศจรรย์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น นางฟ้าทะเล, แมงกะพรุน, กุ้งโครงกระดูก, ปะการังอ่อน ไปจนถึงดอกไม้ทะเล
ตัวเขาบรรยายถึงช่วงเวลาอันน่าตื่นตาตื่นใจนี้ว่าไม่ต่างจากอลิซตอนที่กระโดดลงโพรงกระต่าย แล้วไปเจอโลกอันแปลกประหลาดเบื้องล่าง แม้รู้ดีว่าการดำน้ำใต้น้ำแข็งคือเรื่องอันตราย ทว่าบางช่วงเวลาธรรมชาติอันงดงามดึงดูดความสนใจ และให้ความรู้สึกราวกับเขากำลังลอยล่องอยู่ในสรวงสวรรค์ “มันวิเศษมากที่ได้ถ่ายภาพนางฟ้าทะเล” Lyagushkin เล่าถึงประสบการณ์เมื่อนางฟ้าทะเลมาเริงระบำอยู่ที่หน้ากล้องของเขา ในอีกหนึ่งประสบการณ์ดำน้ำ เขาได้เห็นปรากฏการณ์หิมะใต้น้ำ เมื่อหิมะตกลงในช่องน้ำแข็ง และไม่ละลายในน้ำเค็ม ขณะที่ด้านล่างมีแนวปะการังอ่อนทอดยาวไปตามพื้นมหาสมุทร
การทำงานในสภาพอากาศแบบสุดขั้วเป็นเรื่องท้าทาย นอกเหนือจากอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสจะเป็นอันตรายต่อร่างกายแล้ว มันยังส่งผลต่ออุปกรณ์อีกด้วย Lyagushkin ทำงานร่วมกับผู้ช่วยช่างภาพอีก 1 – 2 คน ในการดำน้ำแต่ละครั้งพวกเขาใช้ถังออกซิเจนถึง 11 ถัง อีกทั้งยังต้องพึ่งพาสัญญาณมือที่คิดค้นกันขึ้นมาเองสำหรับสื่อสารใต้น้ำโดยเฉพาะ เพื่อระบุว่าวัตถุที่ต้องการถ่ายอยู่ตรงไหน ตลอดจนต้องการอุปกรณ์ใดเพื่มเติม
และแม้ว่าตัวเขาจะถ่ายภาพใต้น้ำมามาก แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ Lyagushkin ทดลองใช้เลนส์ตาปลาแบบมาโคร ที่ช่วยให้เขาสามารถบันทึกรายละเอียดของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ได้ ผลที่ได้คือภาพถ่ายอันน่าทึ่งของสรรพสัตว์ในสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีสิ่งใดอาศัยอยู่
หนึ่งในรูปที่ช่างภาพชื่นชอบมากที่สุดคือภาพของหวีวุ้น (Mnemiopsis ctenophore) ที่กำลังลอยตัวใกล้น้ำแข็ง เขาตั้งชื่อให้มันว่า “Cosmic Brain” เพราะมันดูเหมือนหลุดออกมาจากนิยายวิทยาศาสตร์จริงๆ ด้วยขนาดเพียง 10 เซนติเมตรตรงหน้า ชวนให้ Lyagushkin คิดไปว่า นี่คือมันสมองยักษ์ของเอเลี่ยนที่อาศัยอยู่ในน้ำสีเขียวใช่ไหม?
ในชุดภาพถ่ายนี้ ตัวเขามุ่งนำเสนอ “โลกของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บนโลกใบใหญ่ร่วมกับเรา” นอกเหนือจากการบันทึกภาพวิถีชีวิตตามธรรมชาติแล้ว ชุดภาพถ่ายนี้ยังกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงประเด็นการอนุรักษ์อีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันเรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับพวกมันน้อยมาก และยิ่งมีโอกาสเรียนรู้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะการเปลี่บยแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังจะกวาดล้างพวกมันไปจากธรรมชาติ
ช่วงระยะเวลา 15 ปี ที่เขาเดินทางมาดำน้ำยังทะเลไวท์ Lyagushkin พบว่าฤดูการดำน้ำใต้ผืนน้ำแข็งหดสั้นลง อีกทั้งความนหาของผืนน้ำแข็งยังบางลงอีกด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งในเดือนกันยายนตัวเขาตั้งใจจะดำน้ำถ่ายภาพของแมงกะพรุน แต่กลับพบว่าพวกมันตายเป็นเบือจากอากาศผิดปกติในฤดูร้อน
เมื่ออันตรายจากภาวะโลกร้อนคืบคลานเข้ามาใกล้เช่นนี้ สำหรับ Lyagushkin แล้วในฐานะช่างภาพ “มันคงเป็นการดูแคลนความงดงามของพวกมัน หากเราไม่เริ่มต้นศึกษาและบันทึกภาพเอาไว้”
เรื่อง Sarah Stacke
อ่านเพิ่มเติม
สาหร่ายปริศนากำลังเปลี่ยน กรีนแลนด์ ให้เป็นสีชมพู