ค้นพบ ปลาพันธุ์ใหม่ สีนีออน
กลางมหาสมุทรแอตแลนติก ที่แนวปะการังความลึกหลายร้อยฟุต คือที่พำนักของเทพีกรีกผู้ครองความรักและความงาม ในร่างของ ปลาพันธุ์ใหม่ สีสันสดใส
ในรายงานการค้นพบใหม่ที่เผยแพร่ลงใน ZooKeys ทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนียตั้งชื่อปลากะรังจิ๋วที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่นี้ว่า Tosanoides aphrodite หรือ Aphrodite anthias พวกมันมีสีชมพูเหลืองสดใส และดึงดูดความสนใจของบรรดานักวิจัยเสียจนพวกเขาไม่ทันสังเกตว่าเหนือศีรษะกำลังมีฉลามความยาว 6 ฟุต ว่ายอยู่
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นปลาที่งดงามที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอ” Luiz Rocha นักมีนวิทยาผู้ศึกษาเกี่ยวกับปลา จากสถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนียกล่าวผ่านอีเมล์
ด้วยความรัก
ถิ่นอาศัยของปลา Aphrodite anthias อยู่บริเวณน่านน้ำรอบหมู่เกาะ Saint Paul กลุ่มเกาะที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากชายฝั่งบราซิลราว 933 กิโลเมตร
ย้อนกลับไปในฤดูร้อน ปี 2017 Rocha และเพื่อนร่วมวิจัยนาม Hudson Pinheiro ดำสำรวจแนวปะการังที่ระดับความลึก 120 เมตร ในการดำน้ำครั้งหนึ่งช่วงปลายเดือนมิถุนายน พวกเขาเห็นแถบสีชมพูเหลืองส่องประกายผ่านซอกของแนวปะการังที่หนาแน่น เมื่อเข้าไปสำรวจใกล้ๆ พวกเขาพบว่าเจ้าของสีนีออนดังกล่าวคือปลาความยาว 3 นิ้ว ด้วยลางสังหรณ์ Rocha คิดว่านี่ต้องเป็นปลาสายพันธุ์ใหม่แน่ๆ ดังนั้นในวันนั้นพวกเขาจึงพยายามจับมันเพื่อนำไปเป็นตัวอย่างวิจัย
ในที่สุด Pinheiro และ Rocha รวบรวมปลาตัวผู้โตเต็มวัยจากสายพันธุ์ดังกล่าวได้ 3 ตัว ปลาโตเต็มวัยเพศเมียอีก 2 ตัว และปลาเด็กเพศเมียอีก 2 ตัว โดยเพศแถบสีชมพูของเพศผู้จะมีสีที่สดและสว่างกว่าเพศเมียมาก
ด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์กลางมหาสมุทร ส่งผลให้เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว สถานที่แห่งนี้คือห้องปฏิบัติการทางธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบในการศึกษาสิ่งมีชีวิตทั้งบกบนและในทะเล นับตั้งแต่ปี 1977 เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์มากมายเดินทางมาเยือนหมู่เกาะแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ชาร์ล ดาร์วิน ผู้บันทึกความประทับใจที่เขาเห็นจากทะเลในปี 1832 ไว้ “ปลาฉลามและลูกเรือยังคงต่อสู้กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อแย่งส่วนแบ่งที่ดีที่สุดจากเบ็ดตกปลา” ส่วนหนึ่งจากหนังสือ in The Voyage of the Beagle ที่เขาเขียน
นับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา บราซิลก่อตั้งสถานีวิจัยเล็กๆ ขึ้นบนเกาะ เพื่อเพิ่มโอกาสให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ทำงานของพวกเขาได้สะดวกขึ้น ในการศึกษาระบบนิเวศของแนวปะการังแบบ mesophotic หรือแนวปะการังที่มีแสงส่องถึงน้อย ซึ่งปกติแล้วจะอยู่ที่ระดับความลึก 30 – 150 เมตร และแม้จะมีแสงน้อยกว่า ทว่าความหลากหลายทางชีวภาพที่มีนั้นไม่ได้แตกต่างจากแนวปะการังน้ำตื้นแต่อย่างใด ในการศึกษาก่อนหน้านักวิทยาศาสตร์พบปลาที่อาศัยอยูุ่ในแนวปะการังพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบที่อื่นมาก่อนถึง 7 ชนิด บริเวณหมู่เกาะ Saint Paul และล่าสุดปลา Aphrodite anthias คือชนิดที่แปด
“ความสวยงามของมันทำเราตกหลุมรักเข้าเต็มเปา เหมือนกับที่เทพกรีกหลงเสน่ห์ความงดงามของเทพีอโฟรไดที” ส่วนหนึ่งจากรายงานการค้นพบ
ด้าน Pinherio ผู้นำการวิจัยคาดหวังว่า การค้นพบปลา Aphrodite anthias จะช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้คนที่มีต่อระบบนิเวศแนวปะการังแสงน้อยมากขึ้น เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รายงานจากความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่เผยแพร่ลง Science ระบุว่า แม้แนวปะการังจะอยู่ในน้ำลึก แต่ก็ไม่อาจหนีพ้นจากภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมโดยน้ำมือมนุษย์ไปได้ เช่น มลพิษจากขยะ, การทำประมงเกินขนาด หรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นต้น เช่นเดียวกับที่ Rocha และ Pinheiro ดำน้ำสำรวจบริเวณหมู่เกาะ Saint Paul ในปี 2017 พวกเขาพบขยะและอุปกรณ์ประมงในบ้านของปลา Aphrodite anthias แม้จะเป็นเขตน้ำลึกก็ตาม
“ข้างล่างนั้นมีระบบนิเวศที่แตกต่างซุกซ่อนอยู่ แต่ในหลายพื้นที่ถูกทำลายโดยมนุษย์ไปแล้ว” Pinherio กล่าว
เรื่อง มิคาเอล เกรสโค
อ่านเพิ่มเติม