ร้านค้าร้านนี้ตั้งอยู่ในตลาด ณ เมืองกว่างโจว ประเทศจีน ซึ่งมีความชำนาญด้านอวัยวะของกวาง รวมไปถึงเขากวางและเส้นเอ็นเพื่อนำมาใช้เป็นยาจีนสูตรดั้งเดิม
ภาพถ่ายโดย FRITZ HOFFMANN
การแพทย์แผนจีน คุกคามชีวิตเหล่าสัตว์ป่า
การดูแลสุขภาพแบบดั้งเดิมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
กลายเป็นตัวขับเคลื่อนให้สัตว์หลากหลายชนิดเข้าข่ายสูญพันธุ์
การแพทย์แผนจีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ TCM (Traditional Chinese Medicine) เป็นระบบการรักษาสุขภาพที่ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่สามก่อนคริสตกาล โดยระบบนี้พัฒนามาจากงานเขียนของหมอโบราณ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มบันทึกจากการสังเกตส่วนต่างๆ ของร่างกาย หน้าที่ และปฏิกิริยาต่อการรักษาและการบำบัด รวมถึงวิธีรักษาด้วยสมุนไพร การนวดและการฝังเข็ม เป็นเวลามากกว่า 2,000 ปีที่เหล่าบรรดาหมอและนักวิชาการรุ่นต่อๆ มาได้ศึกษาและกลั่นกรองความรู้ ซึ่งผลลัพธ์คือหลักการของวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพทุกประเภทตั้งแต่โรคไข้หวัดจนถึงมะเร็ง ภาวะตั้งครรภ์จนถึงโรคในวัยชรา
ถึงแม้ว่าประเทศจีนจะมีวิชาแพทย์ที่ยึดตามหลักวิทยาศาสตร์มาอย่างช้านาน แต่การแพทย์แผนจีนก็ยังคงเป็นที่นิยมทั่วทุกภูมิภาคและมักถูกเสนอให้ใช้ในโรงพยาบาล หรือตามคลินิก ควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์ซึ่งใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้การแพทย์แผนจีนยังเป็นที่นิยมของประชาชนกว่า 180 ประเทศทั่วโลกและสร้างรายได้ทางอุตสาหกรรมเป็นจำนวนเงินราวๆ หกหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ทั้งที่การรักษาเช่นนี้คงอยู่กับมนุษย์มาหลายชั่วอายุคน แต่ความนิยมนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม วงการแพทย์อย่างชุมชนการอนุรักษ์สำหรับการใช้สารที่ได้มาจากสัตว์กลับวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยาจีนแผนโนราณนั้นขาดประสิทธิภาพในการใช้งาน
ผลกระทบของการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนส่งผลต่อสัตว์
ความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แผนจีนที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ ในบางกรณี การล่าสัตว์เพื่อนำอวัยวะมาประกอบเป็นยาจีนโบราณเป็นสาเหตุหลักอันทำให้สัตว์เผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ตัวอย่างเช่น ตัวนิ่ม (pangolin) จำนวนกว่าล้านตัวที่ถูกลักลอบล่าสัตว์ในปี 2000 และ 2013 ซึ่งเกล็ดบนลำตัวของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะถูกบดเป็นผงเพื่อนำไปช่วยรักษาโรคไขข้อและโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ นอกจากนี้ การล่านอแรดและกระดูกเสือ นั้นเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพราะประชาชนส่วนหนึ่งเชื่อว่ามันช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยให้หายได้
อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการรักษาเหล่านี้มีประสิทธิภาพ เพราะในบางกรณีผู้ป่วยอาจเห็นผลลัพธ์เนื่องจากผลของยาหลอก (ยาซึ่งไม่มีฤทธิ์ทางยา) ต่อมาคือหมีหมา (Malayan sun bear) และ หมีควาย (Asiatic Black Bear) ต้องถูกสกัดน้ำดีออกจากถุงน้ำดีเพื่อนำไปปรุงยาบำรุงตับของมนุษย์ และช่วยในการรักษาโรคต่างๆ โดยในระหว่างกระบวนการอันทรมาน หมีเหล่านี้จะถูกจับขังอยู่ในกรงขนาดเล็ก จากนั้นมีสายหรือท่อที่สอดเข้าไปในลำตัวของพวกมันเพื่อกลั่นน้ำดีออกมา
ลดใช้ยาจีนแผนโบราณ
จากวิกฤตมากมายที่มีผู้บุกรุกป่าเพื่อเข้าไปล่าสัตว์ ทำให้หลากหลายประเทศร่วมกันรณรงค์หยุดเข่นฆ่าหรือจับสัตว์เพื่อนำไปใช้ประโยขน์ในทางการแพทย์แผนโบราณ สนธิสัญญาไซเตส (the Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ได้สั่งห้ามไม่ให้ค้าขายสัตว์หรืออวัยวะของสัตว์ใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีกฎระเบียบเผยแพร่ออกมา การลักลอบค้าสัตว์ป่าก็ยังมีให้เห็นในข่าวอย่างเช่นทุกวัน ยาจีนแผนโบราณจึงกลายเป็นสินค้าในตลาดมืดแสนอันตรายที่สร้างมูลค่ามหาศาล
ชุมชนมากมายที่เคยมีประวัติการใช้ยาจีนแผนโบราณจึงพยายามยกเลิกใช้ยาเหล่านี้ ในปี 1993 นอแรดและกระดูกเสือถูกถอดออกจากตำรับการแพทย์แผนจีน และในปี 2010 สมาคมแพทย์แผนจีนได้ออกแถลงการณ์กระตุ้นให้สมาชิกหยุดใช้กระดูกเสือหรือส่วนอื่นๆ จากสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
นักธุรกิจในประเทศจีน รวมไปถึงประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียได้เริ่มทำฟาร์มหมีและฟาร์มเสือซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเพื่อป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่า อย่างไรก็ตามวิธีเช่นนี้กลับไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าสัตว์จำนวนมากใน “ฟาร์ม” ที่ถูกจับมาจากป่าอาจได้รับการเลี้ยงดูอย่างไร้มนุษยธรรมและมักถูกฆ่าเพื่อนำชิ้นส่วนไปเป็นสินค้าส่งสู่ตลาดมืด
เรื่อง Jani Actman
***แปลและเรียบเรียงโดย กุลธิดา ปัญญาเชษฐานนท์
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย