สัตว์ผสมพันธุ์ในน้ำได้อย่างไร
คุณอาจมองว่าเป็นเรื่องง่าย แต่กิจกรรมทางเพศเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับสัตว์น้ำ
เหนือสิ่งอื่นใด มันเป็นเรื่องยากอยู่พอสมควรที่จะประคองตัวให้อยู่กับที่ในสภาวะลอยตัว และจะต้องพยายามไม่ให้หลุดออกจากกัน
เมื่อไม่นานมานี้ ดารา ออร์บัช นักชีววิทยาทางทะเล นำเสนองานวิจัยที่ค้นพบความสำเร็จของการสืบพันธุ์ในโลมา จึงเป็นข้อสังเกตว่า สัตว์ที่มีขนาดใหญ่จัดการกับการผสมพันธุ์ใต้น้ำได้อย่างไร
คีตาเชียนผู้ว่องไว

ความท้ายทายอย่างแรกในการผสมพันธุ์ใต้น้ำคือการให้ทั้งคู่อยู่ในท่าที่เหมาะสม “มันไม่เหมือนกับสภาวะที่อยู่บนบก” ออร์บัช จากมหาวิทยาลัยดาลูซี ในโนวาสโกเทีย กล่าว สัตว์ในกลุ่มคีตาเชียน หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในทะเล เช่น โลมาและวาฬ “ไม่มีแขนขาที่ช่วยพยุงให้คู่ของตัวเองอยู่ในท่าที่เหมาะสม” เธออธิบาย ดังนั้น การวางตำแหน่งของร่างกายและมุมองศาเป็นเรื่องที่สำคัญ
ท่าผสมพันธุ์ที่ใช้ท้องชนท้องอาจทำให้ตัวเมียลอยขึ้น ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสืบพันธุ์ ทั้งคู่จึงต้องหันหน้าไปทางเดียวกัน “แล้วตัวผู้จะเคลื่อนไหวองคชาติไปรอบๆ ตัวเพศเมีย” แพตทริเซีย เบร็นนัน นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ จากมหาวิทลัยโฮลยอก กล่าว เธอยังเป็นนักวิจัยร่วมกับออร์บัชด้วย
“ตัวผู้สามารถเคลื่อนไหวองคชาติได้ค่ะ” เธอบอก พวกมันต้องควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสอดใส่องคชาติเข้าไปในปากมดลูกอันซับซ้อนของตัวเมีย ซึ่งทำหน้าที่เก็บสเปิร์มของตัวผู้ไว้ และเลือกว่าจะปล่อยสเปิร์มไปผสมกับไข่ในช่องคลอดหรือปล่อยให้สเปิร์มตาย
องคชาติของโลมาเป็นกล้ามเนื้อที่ประกอบด้วยเส้นใยที่มีความยืดหยุ่น หมายความว่า ในเนื้อเยื่อที่ใช้แข็งตัวนั้น เต็มไปด้วยคอลลาเจนและอีลาสติน และสามารถโผล่ออกมาได้ทันที การมีลักษณะเช่นนี้ ช่วยให้องคชาติต้านกับแรงเฉื่อยในน้ำได้ดี ส่งผลให้การผสมพันธุ์มีประสิทธิภาพ ออร์บัชอธิบาย
ในการผสมพันธุ์แต่ละครั้ง โลมาใช้เวลาเข้าคู่กันไม่นาน เป็นผลจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติที่ทำให้โลมา “สามารถหลั่งสเปิร์มได้อย่างรวดเร็ว” เนื่องจากการจัดท่าผสมพันธุ์ไม่สามารถคงอยู่ได้เป็นเวลานาน และโลมาจำเป็นต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ
ลักษณะการผสมพันธุ์กันอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ยังปรากฎในวาฬอีกด้วย (ดูเพิ่มเติมใน Watch the Elaborate Courtship of Three Gray Whales)
กัดแห่งรัก

ฉลามเป็นปลาที่มีการปฏิสนธิภายใน นั่นคือ ตัวผู้สอดใส่อวัยวะนำสเปิร์มข้างใดข้างหนึ่ง (clasper) เข้าไปช่องสืบพันธุ์ของตัวเมีย โดยเริ่มแรกพวกมันต้องยึดกันให้ติดก่อน
“ฉลามตัวผู้จะกัดครีบของตัวเมียเอาไว้ เพื่อให้มั่นใจว่า ในขณะผสมพันธุ์จะไม่หลุดออกจากกัน” เบร็นนันบอก ฉลามตัวเมียจะมีผิวหนังที่หนากว่าตัวผู้ ทำให้มันสามารถรับมือกับฟันอันแหลมคมของตัวผู้ได้
นอกจากนี้ ฉลามยังจำเป็นต้องเคลื่อนตัวตลอดเวลาเพื่อการหายใจ ดังนั้น ในขณะเข้าคู่กัน พวกมันจึงเลือกทำกิจกรรมในกระแสน้ำที่แรงพอจะไหลผ่านช่องเหงือก เพื่อป้องกันการขาดอากาศหายใจ
รัดครีบของคุณให้แน่น

เต่าทะเลมีกระดองขนาดใหญ่เป็นอุปสรรคทางกายภาพต่อกิจกรรมทางเพศ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตัวผู้จึงจำเป็นต้องรัดตัวเมียให้แน่น การสืบพันธุ์ในสัตว์เลื้อยคลานต้องทำผ่านช่องเปิดทวาร (cloaca) กล่าวคือ การสืบพันธุ์และการขับถ่ายของเสียเกิดขึ้นที่ช่องทวารเดียวกัน เต่าทะเลตัวผู้จะแนบช่องเปิดทวารเข้ากับตัวเมียแล้วสอดองคชาติเข้าทางด้านใต้กระดอง
กิจกรรมทางเพศของเต่าทะเลไม่ใช่เรื่องที่ต้องปกปิด “เต่าตัวผู้จะมีตะขอที่ครีบคู่หน้า เพื่อใช้ยึดเกาะตัวเมีย” ในขณะที่เกาะอยู่กับตัวเมีย ตัวผู้จะส่งเสียงร้องคำรามเพื่อเป็นการกระตุ้นตัวเมีย
น้ำหนักใต้น้ำ

สำหรับฮิปโปโปเตมัส การมีเพศสัมพันธ์ในน้ำเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า เนื่องจากการอยู่ในน้ำช่วยให้มีแรงลอยตัว น้ำหนักตัวที่หนักเกินไปทำให้การผสมพันธุ์บนบกกลายเป็นเรื่องที่ไม่เริงใจ
ฮิปโปเพศผู้ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักถึง 1,500 กิโลกรัม และตัวเมียยังสามารถให้กำเนิดลูกใต้น้ำได้ ซึ่งช่วยให้น้ำหนักแรกคลอดของลูกอ่อน มีน้ำหนักได้ถึง 50 กิโลกรัม
คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ : ถ้าคุณรู้สึกอยากมีน้ำหนักตัวที่เบาลง คุณลองไปแช่ตัวในสระว่ายน้ำดูสิ
เรื่อง ลิซ แลงลีย์
อ่านเพิ่มเติม