ตั้งแต่กบลูกดอกสีเขียวนีออนไปจนถึงผีเสื้อจักรพรรดิ สิ่งมีชีวิตสีสันฉูดฉาดที่สุดในธรรมชาติบางชนิด วิวัฒนาการสีสันขึ้นมาเพื่อเป็นคำเตือนกับผู้ล่าว่า “อย่ายุ่งกับฉันนะ” เช่นเดียวกับ หมึกสายวงฟ้า หรือหมึกบลูริง ซึ่งมีสีสันสดใส และพบได้บ่อยที่นอกชายฝั่งเคียมา รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
เมื่อ หมึกสายวงฟ้า ถูกคุกคามจากผู้ล่า วงแหวนสีน้ำเงินจะกะพริบวาววามไปทั่วร่างกายของพวกมัน เพื่อเป็นคำเตือนที่แสดงออกตามวิวัฒนาการ สำหรับผู้ล่าที่อาจจะกำลังคิดว่า หมึกบลูริงจะเป็นมื้ออาหารมื้อถัดไป หรือในกรณีของมนุษย์ สีน้ำเงินโดดเด่นฉูดฉาดดึงดูดความอยากรู้อยากเห็นของเราได้เสมอ
ตั้งแต่ทะเลญี่ปุ่นจนถึงออสเตรเลีย มีหมึกสายวงฟ้ากระจายพันธุ์อยู่อย่างน้อย 10 ชนิดพันธุ์ บางชนิดพบได้ตามชายฝั่งน้ำตื้น ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับมนุษย์มักลงไปใช้ประโยชน์จากบริเวณนั้น ในประเทศไทย สามารถพบหมึกสายวงฟ้าได้ทั่วทะเลไทย ส่วนใหญ่อยู่ตามพื้นท้องทะเล หรือบางครั้งพวกมันติดมากับเรืออวนลาก สำหรับหมึกสายวงฟ้าที่พบในแนวปะการัง เป็นชนิดที่ไม่พบหรือมีน้อยมากในเมืองไทย
แม้จะมีรูปร่างขนาดเล็กและลำตัวนุ่มนิ่ม แต่หมึกสายวงฟ้า (Hapalochlaena fasciata) เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในมหาสมุทร มันสามารถฆ่ามนุษย์ได้ด้วยการกัดเพียงครั้งเดียว ในน้ำลายของหมึกชนิดนี้มีส่วนผสมของพิษ เทโตรโดท็อกซิน (tetrodotoxin) เช่นเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลว จาก
รายงานที่ผ่านมาพบว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสามรายในออสเตรเลียเนื่องจากปลาหมึกบลูริง แต่ในประเทศไทยยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากหมึกสายวงฟ้า (ชมวิดีโอเพิ่มเติมได้ที่ https://video.nationalgeographic.com/video/news/00000161-e2c1-dcda-a37f-f3d792a70000)
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า มนุษย์ควรกลัวพวกมัน
“เช่นเดียวกับสัตว์ส่วนใหญ่ พวกมันจะโจมตีมนุษย์ก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าตกอยู่ในอันตรายหรือถูกคุกคาม ซึ่งเป็นการป้องกันตัวมากกว่าความพยายามจู่โจมเสมอ” Jenny Hofmeister นักสมุทรศาสตร์ กล่าว “ในออสเตรเลีย อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก มนุษย์เก็บเปลือกหอยที่หมึกสายวงฟ้าอาศัยอยู่ภายใน จึงถูกกัด ด้วยเหตุนี้จึงไม่แนะนำให้เก็บเปลือกหอยในบริเวณที่มีปลาหมึกบลูริงเกิดขึ้น”
ในประเทศไทย “ส่วนตัวยังไม่เคยได้ยินว่ามีใครโดนกัดนะครับ ถามว่าในทะเลไทยเจอได้ที่ไหนบ้าง พบได้ทั่วท้องทะเลไทย และเจอได้ตลอดทั้งปี โดยตัวมันจะเล็กๆ แอบอยู่ตามหิน เปลือกหอย ส่วนตอนกลางคืนก็จะออกมาหากิน คนเล่นน้ำทั่วไปไม่ต้องกลัวครับ เพราะมันไม่เข้าที่ตื้น ส่วนพิษของมันเป็นพิษในลักษณะเดียวกันกับปลาปักเป้า หากโดนพิษก็ต้องรีบขึ้นจากน้ำ ช่วยหายใจ รักษาตามอาการ” ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านระบบนิเวศทางทะเล กล่าวและเสริมว่า “ถ้าเจอมันแล้ว อย่าไปยุ่งกับมันดีที่สุดครับ”
แม้ว่าการติดตามสิ่งมีชีวิตที่สีสันสดใสและแวววาวอาจเป็นเรื่องที่น่าดึงดูด แต่ทางที่ดี เราก็แค่รักษาระยะห่างและปล่อยให้พวกมันไปตามทาง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งสองฝ่าย