เรื่อง : แครี อาร์โนล
นักวิทยาศาสตร์จับภาพวาฬหลังค่อมใช้ครีบข้าง (flipper) พัดโบกน้ำคล้ายปีกของนกเพื่อเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ไม่ใช่เพื่อบังคับทิศทางอย่างที่เข้าใจกันมา
เปาโล เซเกร นักชีววิทยาและนักวิจัยหลังปริญญาเอกด้านกลศาสตร์ชีวภาพของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ต ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการติดตั้งกล้องวิดีโอขนาดเท่าแฮมเบอร์เกอร์ที่หลังวาฬหลังค่อมขนาด 60 ตันเพื่อศึกษาชีวิตลับใต้ผิวน้ำของวาฬหลังค่อม เขาต้องทรงตัวบนเรือบดขนาดเล็กกลางทะเลปั่นป่วนของแอฟริกาใต้ โดยต้องหลบหลีกหางของวาฬที่อาจจมเรือได้เมื่อมันสะบัดหางเพียงหนเดียว
วาฬสองตัวถูกบันทึกภาพเมื่อมันใช้ครีบข้างพัดโบกเพื่อพุ่งตัวทะยานไปข้างหน้าเพื่อกินอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อนเกี่ยวกับวาฬชนิดพันธุ์ที่รู้จักกันดีที่สุดในโลก นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่ามันใช้ครีบข้างเพื่อบังคับทิศทางขณะเคลื่อนไหว “มันเหมือนนกใช้ปีกบิน” เซเกรกล่าว งานของเขาเพิ่งถูกตีพิมพ์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมในวารสาร Current Biology ในฐานะงานวิจัยที่บันทึกพฤติกรรมนี้ไว้ครั้งแรก
วาฬหลังค่อมยาว 14 เมตรใช้พลังงานมหาศาลในการพุ่งทะยานไปข้างหน้าเป็นร้อยๆ ครั้งในหนึ่งวัน มันกินสัตว์จิ๋วอย่างเคยและแพลงก์ตอนพืชสัตว์ด้วยการอ้าปากขนาดยักษ์งาบน้ำทะเลเข้าไปในปากและพ่นน้ำให้ไหลผ่านซี่บาลีนหรือแผ่นกรองออกมา ก่อนหน้าการค้นพบหนนี้ นักชีววิทยาเคยคิดว่าครีบข้างของวาฬทำหน้าที่เหมือนปีกเครื่องบิน ส่วนหางมีไว้โบกเพื่อเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเหมือนเครื่องบินเจ็ต แต่ในความเป็นจริง มันใช้ครีบข้างกระพือเข้ามาที่ออกก่อนจะแผ่กางออกอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับนก สิงโตทะเล และเต่าทะเล
จากการวิเคราะห์ทางอุทกพลศาตร์ในห้องวิจัย การเคลื่อนที่ของวาฬหลังค่อยยืนยันว่าการขยับขึ้นขยับลงของครีบข้างทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้า น่าเสียดายที่กล้องไม่ได้บันทึกภาพการเคลื่อนไหวของปลายครีบหางเอาไว้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม : โอ้ยก็มันคันอ่า!, เผชิญหน้ากับฉลามหัวค้อนแบบ 360 องศา