เต่ายักษ์แห่งกาลาปากอสที่เคยคิดว่าสูญพันธุ์ไปเป็น 100 ปี ถูกพบตัวเป็น ๆ อีกครั้ง
หลังจากมีการพบครั้งแรกและครั้งเดียวโดยนักสำรวจ โรลโล เบค (Rollo Beck) เมื่อปี 1906 เต่ายักษ์แห่งหมู่เกาะกาลาปากอส สายพันธุ์ Chelonoidis phantasticus ก็ไม่ถูกพบที่ไหนอีกเลยจนนักวิทยาศาสตร์คิดว่าพวกมันสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่กลับพบตัวเป็นๆ อีกครั้งหนึ่งหลังจากผ่านไปกว่า 100 ปี
สตีเฟน กัวฮราน (Stephen Gaughran) นักวิจัยด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยาวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันได้เผยแพร่รายงานการค้นพบนี้ พร้อมตั้งชื่อมันว่าเฟอร์นันดา (Fernanda) ตามชื่อเกาะเฟอร์นันดินา (Fernandina) เกาะภูเขาซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการสำรวจ ทางตะวันตกของหมู่เกาะกาลาปากอส
“ทุกสิ่งที่เราพบเกี่ยวกับสายพันธุ์นี้บอกเราว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้ว” เขากล่าว “ดังนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการค้นพบสปีชีส์ที่คิดว่าหายไปแล้วเป็นเวลาร้อยปีอีกครั้งหนึ่ง” มีการเฟอร์นันดาพบเมื่อปี 2019 ขณะกำลังเดินอยู่ท่ามกลางกอพืชที่ถูกทำให้แข็งตัวจากกองลาวา ในตอนแรกพวกเขาคิดว่ามันเป็นสายพันธุ์ phantasticus พื้นเมืองที่ยังคงมีอยู่ (แต่ใกล้สูญพันธุ์อย่างมาก)
เต่ายักษ์แห่งกาลาปากอสทั้งหมดนั้นอยู่ในบัญชีแดงของ IUCN ที่ระบุว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่สุด ซึ่งมีสายพันธุ์หนึ่งที่ถูกจัดให้สูญพันธุ์ไปแล้ว นั่นคือสายพันธุ์ของเฟอร์นันดา แต่ด้วยการศึกษาพันธุกรรมแล้วพบว่ามันคือสายพันธุ์เดียวกันกับตัวอย่างที่พบในปี 1906 สร้างความหวังว่าอาจมีพวกมันอยู่ตรงไหนสักแห่งของเกาะ
“ความหวังของเราคือยังมีเต่าอีกสองสามตัวบนเกาะนี้ แต่น่าจะมีไม่มากนัก” กัวฮรานกล่าว “หากมีเพียงเฟอร์นันดาโดยที่ไม่มีเต่าอีกตัวเพื่อผสมพันธุ์ด้วย สายพันธุ์นี้ก็ไม่มีที่ไป” เขาเสริมว่าถ้ามีเต่าตัวอื่นก็แสดงว่ายังมีโอกาสที่จะฟื้นฟูสายพันธุ์นี้จริง ๆ
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบเบื้องต้นระบุว่าเฟอร์นันดานั้นน่าจะมีอายุมากกว่า 50 ปีแล้วแต่กลับมีขนาดตัวเล็กกว่าเต่ายักษ์ทั่วไป อาจเป็นเพราะขาดสารอาหารจากพืชพรรณบนเกาะที่ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้ง ผู้เชี่ยวชาญคิดว่ามันอาจมีอายุสูงสุดได้ประมาณ 200 ปี นั่นทำให้นักวิจัยยังพอมีเวลาที่จะค้นหาคู่ให้กับมัน แต่ในตอนนี้เฟอร์นันดาจะได้รับการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เต่ากาลาปากอสในอุทยานแห่งชาติกาลาปาโกส
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา