โปแลนด์จัดแมวเป็น ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ เหตุทำลายความหลากหลายชีวภาพ – โต้ “มนุษย์เคยถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อสัตว์รุกรานหรือไม่”
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งโปแลนด์ (Polish Academy of Sciences) ได้จัดให้แมวบ้าน (Felis catus) เป็น ‘สายพันธุ์ต่างด้าวรุกราน’ หรือที่รู้จักในคำว่า ‘เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Spiecies)’ เนื่องจากแมวส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพพื้นเมือง
ทางสถาบันเผยว่าสายพันธุ์ดังกล่าว (แมว) ก่อให้เกิด “ความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้ต่อสัตว์ป่าในท้องถิ่น” โดยระบุถึงการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าแมวบ้านในโปแลนด์นั้นฆ่าและกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมราว 48.1 และ 583.4 ล้านตัวต่อปี อีกทั้งยังฆ่าและกินนกท้องถิ่นประมาณ 8.9 และ 135.7 ล้านตัวต่อปี
ตามคำจำกัดความของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่ลงนามโดยกว่า 150 ประเทศ(The Convention on Biological Diversity) ได้ระบุไว้ว่า ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ คือ พืช สัตว์ เชื้อโรค หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่มีถิ่นกำเนิดในระบบนิเวศซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายทางเศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์
และที่สำคัญคืออันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพรวมไปถึงการลดลงและการกำจัดสายพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้มีส่วนทำให้สัตว์สูญพันธุ์เกือบร้อยละ 40 นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา
ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นไปได้ว่าทางสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งโปแลนด์จึงได้จัดให้แมวบ้านกลายเป็น ‘เอเลี่ยนสปีชีส์) เพราะว่าแมวเหล่านั้นได้ทำลายสัตว์ในระบบนิเวศพื้นเมืองจำนวนมาก อย่างไรก็ตามทางสถาบันไม่ได้มีแนวทางรองรับใด ๆ ตามมาซึ่งได้สร้างความไม่พอใจต่อเจ้าของแมวหลายคน เนื่องจากอาจกระตุ้นให้เกิดการทารุณกรรมแมวบ้านขึ้นมาได้
“มนุษย์เคยถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อสัตว์รุกรานหรือไม่ ทั้งที่เราทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกน้อยลงทุกที” โดโรตา ซูมินสกา (Dorota Suminska) สัตวแพทย์และผู้เขียนหนังสือชื่อ “The Happy Cat” กล่าวและเสริมว่า “อันที่จริงแล้วแมวบ้านถูกกล่าวโทษอย่างไม่เป็นธรรมเกินไป”
ทางสถาบันยืนยันว่าไม่มีเจตนากล่าวโทษแมวและได้ทำการพิจารณาแล้วว่าการจัดประเภทดังกล่าวจะไม่ทำให้แมวบ้านต้องเสี่ยงอันตรายจากการถูกทำร้ายหรือถูกทอดทิ้งแต่อย่างใด ทางสถาบันยังกล่าวอีกว่ามีจุดยืนต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์และขอให้เจ้าของแมวจำกัดเวลาออกไปเล่นนอกบ้านให้น้อยลงระหว่างฤดูผสมพันธุ์ของนกเท่านั้น
นอกจากนี้ทางสถาบันยังได้จัดสัตว์ชนิดอื่น ๆ ให้เป็นสายพันธุ์ต่างด้าวรุกรานเช่นกัน คือ ตัวแร็กคูน, เป็ดแมนดาริน, ผีเสือกลางคืน และหญ้าน็อตวีดญี่ปุ่น(Japanese knotweed) ในส่วนของข้อมูลประเทศอื่น ๆ ตามการศึกษาในสหราชอณาจักรและสหรัฐอเมริกาประเมินไว้ว่าแมวฆ่านกราวปีละ 27 ล้านตัวและ 2.4 พันล้านตัวตามลำดับ
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
.
https://www.businessinsider.com/cats-are-invasive-alien-species-says-polish-academy-of-sciences-2022-7
.
https://www.cbsnews.com/news/cats-alien-invasive-species-poland/
.
https://www.cbd.int/idb/2009/about/what/
.
https://www.rspb.org.uk/birds-and-wildlife/advice/gardening-for-wildlife/animal-deterrents/cats-and-garden-birds/are-cats-causing-bird-declines/
.
https://www.nature.com/articles/ncomms2380