สุนัข ‘ร้องไห้’ เมื่อพบกับเจ้าของคนโปรดอีกครั้ง เป็นพฤติกรรมที่ยังไม่พบในสัตว์อื่น แสดงให้เห็นว่าสุนัขมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับมนุษย์
งานวิจัยใหม่จากญี่ปุ่นเผยว่าสุนัขมีอาการหลั่งน้ำตาเมื่อพวกมันพบกับมนุษย์คนโปรดหรือเจ้าของที่พวกเขาชื่นชอบอีกครั้งหลังไม่ได้พบกันทั้งวัน เป็นพฤติกรรมที่ยังไม่พบในสัตว์อื่นซึ่งแสดงให้เห็นว่าสุนัขมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับมนุษย์ อีกทั้งยังพัฒนาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มนุษย์สนใจและดูแลพวกเขาดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
“ไม่เหมือนสัตว์อื่น ๆ สุนัขมีวิวัฒนาการหรือได้รับการเลี้ยงดูผ่านการสื่อสารกับมนุษย์ จึงมีความสามารถในการใช้การสบตาเพื่อใช้สื่อสารกับมนุษย์ในระดับสูงขึ้น” งานวิจัยระบุ “ด้วยกระบวนการนี้ น้ำตาของพวกมันอาจมีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมปกป้องหรืออุปถัมภ์เลี้ยงดูจากมนุษย์ ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งต่อกันและกัน นำไปสู่ความผูกพันธ์ระหว่างสองสายพันธ์”
ศาสตราจารย์ทาเคฟุมิ คิคุซุย (Takefumi Kikusui) ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาซาบุและมหาวิทยาลัยการแพทย์จิชิ ได้ศึกษาสุนัขจำนวน 22 ตัวด้วยการตรวจวัดปริมาณน้ำตาในดวงตาโดยวางแถบกระดาษพิเศษในเปลือกตาด้านล่างและวัดความชื้นที่เกิดขึ้นว่ากระจายไปมากเท่าไหร่ในกระดาษแถบนั้น ซึ่งวัด 2 ครั้งคือเมื่อเจ้าของอยู่บ้านและวัดอีกครั้งเมื่อเจ้าของกลับมาบ้านโดยมีระยะเวลาห่างกัน 5-7 ชั่วโมง
พวกเขาพบว่าปริมาณน้ำตาเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเจ้าของกลับมา และการ ‘ร้องไห้’ นี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการระคายเคืองซึ่งตรวจสอบด้วยการให้ ‘อ็อกซิโทซิน (Oxytocin)’ กับดวงตาซึ่งเกิดการหลั่งน้ำตา เมื่ออ้างอิงกับการศึกษาก่อนหน้าที่ระบุว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสุนัขทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนความรักนี้ออกมา พวกเขาจึงสรุปว่าการหลั่งน้ำตาของสนุัขในงานวิจัยนี้เกิดจากอารมณ์เชิงบวก
“เราพบว่าสุนัขหลั่งน้ำตานี้เกี่ยวข้องกับอารมณ์เชิงบวก” ศาสตราจารย์คิคุซุยกล่าว “นี่เป็นรายงานฉบับแรกที่แสดงให้เห็นว่าอารมณ์เชิงบวกกระตุ้นการหลั่งน้ำตาในสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์และอ็อกซิโทซินทำหน้าที่ในการหลั่งน้ำตา เราไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าสัตว์เหล่านี้หลั่งน้ำตาในสถาการณ์ที่น่ายินดีเช่น การได้กลับมาพบกับเจ้าของของพวกเขา” อย่างไรก็ตามสุนัขในการทดลองไม่มีอาการ ‘ร้องไห้’ เมื่อพบกับมนุษย์ที่คุ้นเคยอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของ
นอกจากนี้พวกเขายังทำการศึกษาต่อว่าการหลั่งน้ำตานี้มีผลต่อมนุษย์อย่างไรด้วยการแสดงภาพถ่ายใบหน้าของสุนัขที่มีน้ำตาและไม่มีน้ำตาให้กับอาสาสมัคร 74 คน และขอให้คะแนนว่าพวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงหรือเลี้ยงดูสุนัขตัวดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ได้นั้นระบุว่ามนุษย์มีความต้องการดูแลสุนัขที่มีน้ำตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ซึ่งบ่งชี้ว่าพฤติกรรมนี้กระตุ้นอารมณ์ที่อ่อนไหวและเพิ่มความปราถนาที่จะปกป้องสุนัขมากขึ้น
“สุนัขได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ และสร้างสายพันธ์ระหว่างเรา” ศาสตราจารย์คิคุซุยระบุ “ด้วยกระบวนการนี้ น้ำตาของพวกเขาอาจมีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมปกป้องหรือเลี้ยงดูจากเจ้าของมากยิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ดีทีมวิจัยไม่สามารถบอกได้ว่าสุนัขสร้างน้ำตาเมื่อพวกเขารู้สึกเศร้าหรือไม่ หรือน้ำตามีบทบาททางสังคมระหว่างสุนัขด้วยกันเองหรือไม่ แต่ในตอนนี้หากคุณมีสุนัขรออยู่ที่บ้าน ได้โปรดรู้ว่าพวกเขากำลังรอคุณกลับมาเพื่อมอบความรักที่เต็มเปี่ยมด้วยความยินดียิ่งที่กลับมาพบกัน
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.cell.com/current-biology/fulltext/S0960-9822(22)01132-0