ครบรอบ 3 ปี การพบเจอและลาจากของ ” มาเรียม ” ลูกพะยูนกำพร้าขวัญใจคนไทย – และอีกหลายเรื่องที่ “ยังไม่เปลี่ยนแปลง”
อาคารไม้ที่เต็มไปด้วยฝุ่นและพื้นที่เริ่มผุพังจากความหิวของกองทัพปลวกส่งเสียงกรีดร้องเอี๊ยดอ๊าดท่ามกลางความเงียบเมื่อผมได้ก้าวเหยียบไปที่ระเบียงเพื่อมองทิวทัศน์ที่คุ้นเคย
ป้ายให้ข้อมูลแก่ผู้มาเยือนสีซีดจางเนื่องจากกาลเวลาใต้แดดฝนนานนับปีเข้ามาทักทายผมจากดงไม้เขียวชอุ่ม ชื่อที่คุ้นเคยบนนั้นทำให้นึกถึงหน้าตาของผู้คนที่เคยได้ร่วมงานกันที่นี่ ก่อนจะแยกย้ายกันไป
ตัวอักษรที่เลือนราง “ร่าเริง ว่ายน้ำและดำน้ำได้ดี” ถูกเขียนอยู่ในช่องว่างเพื่อรายงานสุขภาพประจำวัน ทุกสิ่งเหมือนถูกหยุดแช่แข็งไว้ในกาลเวลาจากวันสุดท้าย ก่อนที่ ‘ มาเรียม ’ จะล้มป่วยลงและตายไปกลางค่ำคืนของวันที่ 17 สิงหาคม 2562
เมื่อผมได้มายืนอยู่ที่อ่าวดุหยงของเกาะลิบงแห่งนี่อีกครั้งหลังจากผ่านมากว่าสามปี นอกจากร่องรอยความผุพังของกาลเวลาและความว่างเปล่าที่มาแทนที่เสียงพูดคุยและรอยยิ้มของเหล่าเจ้าหน้าที่ที่ผมคุ้นเคย หรือผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนเจ้าพะยูนน้อยแล้ว ผมกลับรู้สึกว่าแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หากมองด้วยสายตา
เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมโดยรวมของเกาะลิบง ยกเว้นลวดลายพะยูนที่เพิ่มมาให้เลือกบนเสื้อผ้าที่เขวนในร้านขายของชำที่ปราศจากผู้คน หรืองานศิลปะสตรีทอาร์ตรูปพะยูนและสัตว์ทะเลสีสดใสที่มาประดับตกแต่งสถานที่ต่างๆ บนเกาะ
เวลาสามปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าไม่มีความคืบหน้าเกิดขึ้นหลังจากความตายของ มาเรียม พวกเราคงได้เห็นกระแสคลื่นของความตระหนักรู้ของสังคมที่ถาโถมให้แก่สัตว์สงวนของไทยด้วยความน่ารักของเจ้าพะยูนกำพร้า พวกเราคงรู้สึกเสียใจหรือบ้างก็เสียน้ำตามาเช่นกันจากความตายของมัน
พวกเราคงได้ยินถึงเรื่องของความตั้งใจในการบริหารจัดการอนุรักษ์ประชากรของเหล่าพะยูนตัวอื่นๆ ที่มีอยู่ราว 265 ตัวในน่านน้ำไทย แต่เศษขยะพลาสติกที่ลอยผ่านสายตาไปบนผิวน้ำ หรือ ดงหญ้าทะเลที่เคยงอกงามได้เสียหายไปเป็นพื้นที่กว้างเหลือเพียงต้นสั้นๆ ก็ต้องทำให้ต้องหยุดคิดนึกถามว่าความเปลี่ยนแปลงที่เราหวังได้คืบหน้าไปเพียงใด
ความตั้งใจในการห้ามพลาสติกใช้แล้วทิ้งในไทยที่ต้องถูกชะลอไปอย่างมากด้วยเหตุจากโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนไปรอบโลก หรือความเสียหายต่อแนวหญ้าทะเลของจังหวัดตรังที่เป็นแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของไทยซึ่งคาดว่ามาจากตะกอนดินที่มากับการขุดลอกร่องน้ำบนชายฝั่ง ก็ยังคงตรอกย้ำกับพวกเราว่าความสำเร็จของการอนุรักษ์พะยูนยังคงไปไม่ถึงจุดหมายที่ตั้งใจ
***************
แสงของดวงจันทร์ในยามขึ้น 14 ค่ำ สะท้อนระยิบระยับไปกับผิวทะเลสีดำ ในระหว่างที่ผมออกเรือไปกับกลุ่มผู้พิทักษ์ดุหยง กลุ่มอาสาสมัครชุมชนที่ออกลาดตระเวนในเขตหญ้าทะเลเพื่อตรวจหาเครื่องมือประมงบางชนิดที่สามารถทำร้ายพะยูนเช่นอวนปู ลอบปู หรืออวนถ่วงปลากระเบน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการตายของพะยูนในน่านน้ำไทยคิดเป็นราวร้อยละ 90
การลดการตายของพะยูนคงเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องการความร่วมมือในการจัดการในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการขยะจากบนฝั่ง การทำประมงในแหล่งหญ้าทะเล หรือการปรับเส้นทางเดินเรือให้ปลอดภัยต่อพะยูน
อย่างไรก็ดี การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเลชายฝั่งจังหวัดตรัง ภายใต้การจัดการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พื้นที่กว่า 9 แสนไร่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งขยายเขตปลอดภัยในน่านน้ำของจังหวัดตรังเพิ่มมาจากพื้นที่เขตห้ามล่าของเกาะลิบง และอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือการเข้าไปทำงานลงพื้นที่ของนักวิชาการร่วมกับชุมชนในการให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการสนับสนุนจากภาคธุรกิจให้กับทางกลุ่มอาสาสมัครชุมชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานตรวจตราพื้นที่และเก็บข้อมูลรอบน่านน้ำของเกาะลิบง ก็คงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ชี้ให้เห็นอีกมุมถึงความคืบหน้าในการอนุรักษ์ประชากรพะยูนของไทย
ละอองน้ำที่สาดเข้าหน้าจากคลื่นที่กระแทกหัวเรือทำให้ผมหลุดจากการภวังค์กับตะกอนความคิดที่ไม่ยังไม่ตกผลึก ความตั้งใจที่อยู่บนสีหน้าที่ฉาบไปด้วยแสงไฟสีแดงของเหล่าอาสาสมัครบนเรือหางยาวลำเล็กนี่ก็ยังไม่เปลี่ยนเช่นเดียวกับหลายสิ่งบนเกาะลิบงที่เหมือนถูกหยุดไว้นับตั้งแต่มาเรียมจากไป
เวลา 3 ปีที่ผ่านอาจยังไม่ได้แสดงให้เห็นผลสำเร็จได้ชัดเจนด้วยสายตาในวินาทีนี้ นอกจากเรื่องของการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลชายฝั่งจังหวัดตรัง หรือการเตรียมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากและศูนย์วิจัยพะยูน
แต่เวลานับจากนี้คงสามารถทำให้เราเห็นได้ถึงความคืบหน้าก้าวเดินต่อไปสำหรับการอนุรักษ์ประชากรพะยูนของไทยที่ถูกจุดประกายทิ้งไว้ด้วยความตายของมาเรียม
เรื่องและภาพ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
ติดตามผลงานเพิ่มเติมของศิรชัยที่ https://www.instagram.com/shinalodon/
Curated โดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา (บรรณาธิการภาพ)