ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยรายงาน การค้นพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ของ “ ปลาซีลาแคนธ์ ” ที่บ้านคำพอก อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร อายุครีเทเชียสตอนต้น
เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า นักวิจัยจากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยาร่วมกับคณะวิจัยชาวต่างชาติ มีการค้นพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ของ ปลาซีลาแคนธ์ ที่บ้านคำพอก อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ในหมวดหินภูกระดึงตอนบน อายุครีเทเชียสตอนต้น เป็นกระดูกขากรรไกรส่วนล่าง รหัสตัวอย่าง PRC 160
รายงานสามารถระบุได้ว่า ซากดึกดำบรรพ์ที่พบเป็นปลาซีลาแคนธ์ในกลุ่มมอว์โซนิด แต่ด้วยข้อจำกัดของกระดูกที่พบเพียงชิ้นเดียวจึงไม่สามารถระบุรายละเอียดได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม นี่คือหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของซีลาแคนธ์ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับซีลาแคนธ์ (Coelacanth) เป็นปลาดึกดำบรรพ์ที่ดำรงชีวิตมาตั้งแต่มหายุคพาลีโอโซอิก ในช่วงตอนกลางของยุคดีโวเนียน หรือประมาณ 393-382 ล้านปีที่แล้วและยังคงหลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบัน ปลากลุ่มนี้มีลักษณะเด่นคือครีบที่มีลักษณะเป็นพู่เนื้อขนาดใหญ่ 4 ครีบ
ซีลาแคนธ์กลุ่มมอว์โซนิดเป็นพวกที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดในช่วงตอนต้นของมหายุคมีโซโซอิก ในยุคไทรแอสซิกประมาณ 251-201 ล้านปีที่แล้ว ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ในยุคจูแรสซิกตอนปลายประมาณ 163-145 ล้านปีก่อน พบว่าปลากลุ่มนี้เปลี่ยนแหล่งอาศัยไปอยู่ในทะเล และมีการเปลี่ยนแหล่งอาศัยกลับมาอยู่ในแหล่งน้ำจืดเมื่อเข้าสู่ยุคครีเทเชียสราว 145-66 ล้านปีที่แล้ว
ซีลาแคนธ์ของไทยตัวนี้เคยแหวกว่ายอยู่ในแม่น้ำโบราณร่วมกับฉลามน้ำจืดกลุ่มไฮโบดอนต์ (Hybodonts) ปลาน้ำจืดไทยอิกธิส (Thaiichthys buddhabutrensis) เต่ายักษ์บาซิโลคีลิส (Basilochelys macrobios) พญาจระเข้ชาละวัน (Chalawan thailandicus)
นอกจากนี้ ยังพบฟอสซิลของไดโนเสาร์กินเนื้อกลุ่มเมเทรียแคนโธซอริดอีกด้วย การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มเติมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังในหมดหินภูกระดึงของไทย และเพิ่มข้อมูลด้านการกระจายทางบรรพชีวภูมิศาสตร์ของปลาโบราณกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น
ปลาซีลาแคนท์ (Coelacanth) เป็นปลาดึกดำบรรพ์ ที่พบฟอสซิลอยู่ในยุคดีโวเนียน (ประมาณ 400 ล้านปีก่อน) และเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วในช่วงปลายยุคครีเทเชียส (ประมาณ 65 ล้านปีก่อน) ซึ่งเป็นยุคที่สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ สูญพันธุ์ไปถึง 94% จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1938 จึงได้มีการบันทึกการค้นพบปลาซีลาแคนท์ตัวแรก ชนิดแรก แบบมีชีวิต ที่แอฟริกาใต้ (Latimeria chalumnae, West Indian Ocean coelacanth) และค้นพบชนิดที่สองที่เกาะซูลาเวซี อินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 1999 (Latimeria menadoensis, Indonesian coelacanth) พบอาศัยอยู่ในน้ำลึกตั้งแต่ 100-500 เมตร
ที่มา: เฟสบุ๊คศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
อ่านเพิ่มเติม พบ ฟอสซิลสมองปลา อายุ 319 ล้านปี ตัวอย่างสมองที่เก่าแก่ที่สุดของสัตว์มีกระดูกสันหลัง