หนูเกิดจากไข่ “นี่เป็นกรณีแรกของการสร้างโอโอไซต์ (เซลล์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ไข่) ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แข็งแรงจากเซลล์เพศผู้” คัตสึฮิโกะ ฮายาชิ (Katsuhiko Hayashi) หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคิวชู ในประเทศญี่ปุ่นกล่าว เขามีชื่อเสียงระดับนานาชาติในฐานะผู้บุกเบิกด้านการสร้างไข่และสเปิร์มที่พัฒนาในห้องทดลอง
เขสนำเสนอการทดลองดังกล่าวในการประชุมสุดยอดระหว่างประเทศครั้งที่ 3 เรื่องการแก้ไขพันธุกรรมมนุษย์ที่สถาบันฟรานซิส คริก กรุงลอนดอน ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนในการเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังซึ่งมีโครโมโซม XY หรือโครโมโซมเพศชาย ให้กลายเป็นเป็นไข่ที่มีลักษณะโครโมโซม XX ของเพศหญิง
เซลล์ผิวหนังของหนูเพศผู้ได้รับการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมใหม่ให้อยู่ในสภาพเหมือนเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อที่สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์อื่นที่เรียกว่า ‘plurioitent’ (iPS) ซึ่งโครโมโซม Y ของเซลล์นั้นจะถูกลบออก และแทนที่ด้วยโครโมโซม X ที่ยืมมาจากเซลล์อื่น จากนั้นจะได้ iPS ที่มีโครโมโซม XX เพื่อสร้างไข่
ในที่สุด เซลล์นี้จะนำไปฝังในรังไข่เทียม ซึ่งเป็นระบบการเพาะเลี้ยงที่จำลองขึ้นมาจากสภาวะภายในรังไข่ของหนู และได้รับการปฏิสนธิกับสเปิร์มปกติ ทีมวิจัยทำการทดลองปฏิสนธิประมาณ 600 ตัว ได้ผลสำเร็จ 7 ตัว เกิดการตั้งครรภ์และคลอดออกมา ซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง มีสุขภาพสมบูรณ์ อีกทั้งยังสามารถสืบพันธุ์ต่อไป
“พวกมันดูดี เติบโตตามปกติ และกลายเป็นพ่อคนแล้ว” ฮายาชิกล่าวถึงลูกหนูที่สร้างเซลล์ตัวผู้ พวกมันมีอายุขัยปกติ และให้กำเนิดลูกที่โตเป็นตัวเต็มวัยได้ตามธรรมชาติ
นี่เป็นความสำเร็จครั้งแรกในโลกที่นักวิทยาศาสตร์ได้ให้กำเนิดชีวิตจาก เซลล์ตัวผู้ 2 เซลล์ ซึ่งไม่มีเซลล์ตัวเมียมาเกี่ยวข้อง และขั้นต่อไป ทีมวิจัยกำลังพัฒนาเทคนิคนี้ให้นำมาใช้ในมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย กระนั้น ทีมได้เน้นย้ำว่า ยังคงมีความซับซ้อนอีกมากที่ต้องเจอ แต่คาดว่าน่าจะเป็นไปได้ในอีก 10 ปี
“ในแง่ของเทคโนโลยีเท่านั้น จะเป็นไปได้ (ในมนุษย์) อีก 10 ปี” ฮายาชิกล่าว และระบุว่าเขาสนับสนุนให้ใช้ในการทางแพทย์เพื่อให้ชาย 2 คนสามารถมีลูกด้วยกันได้ “นี่ไม่ใช่แค่คำถามสำหรับโครงการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่สำหรับสังคมด้วย”
หากสำเร็จ มันจะช่วยรักษาภาวะผู้มีบุตรยากขั้นรุนแรง เช่นผู้หญิงที่มีกลุ่มอาการเทอร์เนอร์ ซึ่งโครโมโซม X หายไปส่วนหนึ่งหรือทั้งชุด ปัญหาเหล่านี้ ฮายาชิกล่าวว่าเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาอยากทำให้สำเร็จให้ได้
ขณะที่ศาสตราจารย์ จอร์จ ดาเลย์ (George Daley) จากโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวถึงความสำเร็จนี้ว่า ‘น่าทึ่ง’ แต่ก็ได้ระบุว่าการสร้างเซลล์สืบพันธุ์จากเซลล์มนุษย์นั้นมีความท้าทายมากกว่าเซลล์ของหนูมาก เช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ อแมนเดอร์ คลาร์ก (Amander Clark) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส กล่าวว่าการนำไปปรับใช้กับมนุษย์ได้จะเป็น ‘ก้าวกระโดดครั้งใหญ่’
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กำลังเผชิญปัญหา ‘คอขวด’ เนื่องจากเซลล์ที่สร้างได้หยุดพัฒนาก่อนที่จะถึงจุดแบ่งเซลล์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะพัฒนาไปเป็นเซลล์สืบพันธุ์คือไข่และสเปิร์มที่โตเต็มที่ “ขั้นตอนต่อไปคือความท้าทายทางวิศวกรรม การจะทำให้สำเร็จได้อาจต้องใช้เวลา 10 ปีหรือ 20 ปีก็ได้” ศาสตราจารย์คลาร์กกล่าว
แต่สิ่งนี้จะไม่ทำให้ฮายาชิยอมแพ้ “หากผู้คนต้องการ และถ้าสังคมยอมรับเทคโนโลยีนี้ ผมก็พร้อม” ฮายาชิระบุ
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.theguardian.com/science/2023/mar/08/scientists-create-mice-with-two-fathers-after-making-eggs-from-male-cells
https://www.newscientist.com/article/2363627-mice-have-been-born-from-eggs-derived-from-male-cells/
https://www.nature.com/articles/d41586-023-00717-7