เรื่อง สุวัชรี พรมบุญมี และนิรมล มูนจินดา
ภาพถ่าย ธนัท ชยพัทธฤทธี
ทุกปีฉันต้องพา “ถุงเงิน” แมวที่เปรียบเหมือนน้องสาวไปพบสัตวแพทย์ตามกำหนดเพื่อเข้ารับวัคซีนพื้นฐานอย่างน้อยปีละสองเข็ม ได้แก่ วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และวัคซีนรวมซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคไข้หัดแมว โรคหวัดแมว และโรคติดเชื้อคลามัยเดีย อยู่ในเข็มเดียว
อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยกำลังเติบโต และส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเติบโตเป็นเงาตามตัว มูลค่าตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงในปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 22,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นธุรกิจบริการ 5,000 ล้านบาท เวชภัณฑ์และยา 7,000 ล้านบาท และธุรกิจอาหารสัตว์ 10,000 ล้านบาท และยังมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกร้อยละ 5-10 แม้สภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงซบเซา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ปัจจุบันคนไทยหันมาเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงาเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยแต่งงานมีครอบครัวน้อยลงและเลือกไม่มีลูกมากขึ้น และยังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอีกด้วย
ที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน บรรดาเจ้าของที่บ้างกำลังอุ้มสัตว์เลี้ยง บ้างจับสายจูงให้กระชับ เลือกนำสัตว์เลี้ยงมารักษาที่นี่เพราะมั่นใจในวิทยาการรักษา จึงฝากชีวิตสมาชิกในครอบครัวเอาไว้ในแง่นี้ โรงพยาบาลสัตว์ย่อมเป็นเสมือนที่พึ่งทางใจของเจ้าของสัตว์ด้วย
“เดี๋ยวนี้คนเลี้ยงสัตว์เหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มักเลี้ยงเน้นใช้งาน เช่น เฝ้าบ้าน พอสมาชิกในครอบครัวป่วย ก็พามาหาเรา มาด้วยความหวัง หน้าที่ของสัตวแพทย์คือทำงานเต็มที่เพราะต้องแบกความหวังของเจ้าของเอาไว้ด้วย” ผศ. นสพ. คัมภีร์ พัฒนะธนัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน อธิบาย สัตวแพทย์จึงเป็นข้อต่อสำคัญระหว่างคนที่เป็นเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง เพราะนอกจากจะต้องรักษาสัตว์ตามหน้าที่แล้ว ยังต้องรักษาเยียวยาสภาพจิตใจของเจ้าของให้เข้มแข็งด้วยในเวลาเดียวกัน
นิยามของอาชีพที่เข้าใจกันทั่วไปว่า เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรคหรืออาการบาดเจ็บของสัตว์ หรือบำบัดรักษา ป้องกันและกำจัดโรค จึงเรียกได้ว่าน้อยเกินไป และปัญหาระหว่างสัตวแพทย์กับเจ้าของสัตว์ก็เป็นสิ่งที่พบได้ประจำทั้งในคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ ตั้งแต่ปัญหาเรื่องราคาค่ารักษาพยาบาลที่ถูกมองว่าแพงเกินไป สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตระหว่างการรักษาหรือให้ยา เรื่อยไปจนถึงการทิ้งสัตว์ป่วยไว้ที่คลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ นอกจากสัตว์เลี้ยงมีเจ้าของรักใคร่ใกล้ชิดแล้ว ยังมีสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ เช่น สัตว์ป่า สัตว์ที่เป็นอาหาร สัตว์เศรษฐกิจ ฯลฯ อีกด้วย
อันที่จริงสัตวแพทยศาสตร์แบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่สาขา และอาจละเอียดยิบย่อยไม่ต่างจากแพทย์ที่รักษาคนหรือมากกว่าด้วยซ้ำ เช่น แบ่งหมวดหมู่ออกเป็นสัตวแพทย์ที่รักษาสัตว์เลี้ยงก็ได้ ดูแลสัตว์เพื่อการอนุรักษ์ก็ได้ และสัตวแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอาหาร เช่น ไข่ นม ไอศกรีม หรือจำแนกความเชี่ยวชาญตามชนิดพันธุ์สัตว์และความถนัดทางการรักษา เช่น ผ่าตัด ผิวหนัง มะเร็ง ไต ฯลฯ แต่ก็ยังมีสัตวแพทย์ที่ไม่ได้รักษาสัตว์หรือทำงานกับสัตว์โดยตรง เช่น สัตวแพทย์ที่ทำงานด้านโรคระบาดติดต่อระหว่างคนกับสัตว์ สัตวแพทย์ที่ทำวิจัยในห้องปฏิบัติการ สัตวแพทย์ผู้ดูแลการผลิตเซรุ่มพิษงู สัตวแพทย์ด้านนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มหลังนี้นับได้ว่าทำงานเพื่อความอยู่ดีมีสุขของสังคมมนุษย์ มากกว่าจะเป็นไปเพื่อตัวของสัตว์เอง
ปัจจุบัน คณะสัตวแพทยศาสตร์กลายเป็นคณะที่นักเรียนนักศึกษาให้ความสนใจเข้าเรียนต่อเป็นอย่างมาก และมีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยถึงเก้าแห่งทั่วประเทศ ไม่นับรวมสาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพสัตว์ เช่น เทคนิคการสัตวแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ เทคโนโลยีสัตวแพทย์ แน่นอนว่าสาขาวิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือสัตวแพทย์สัตว์เล็กที่ดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงตามคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ ในขณะที่สัตวแพทย์สาขาอื่น เช่น สัตวแพทย์ด้านปศุสัตว์หรือสัตว์ใหญ่ สัตวแพทย์สัตว์ป่า สัตวแพทย์ที่ทำงานวิจัย ยังนับเป็นสาขาที่ขาดแคลนบุคลากรอยู่มาก ส่วนสัตวแพทย์ที่รักษาสัตว์แปลกหรือสัตว์เอ็กโซติก (exotic) อย่างเม่นแคระ เฟอร์เร็ต มังกรเคราหรือเบียร์ดดรากอน ลิงบางชนิด ฯลฯ ก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นตามความนิยมเลี้ยงสัตว์ประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นหมอที่สนใจและรักที่จะศึกษาหาความรู้เอง
“คนเริ่มตื่นตัวเรื่องการเลี้ยงสัตว์จริงๆ บางช่วงการเลี้ยงหมาบูมมาก บางช่วงคนแห่เลี้ยงหมูตัวเล็กๆ” นสพ. ประกิจ เกาะกายสิทธิ์ ผู้ก่อตั้ง โรงพยาบาลสัตว์พระราม 8 กล่าว “พอมีเฟซบุ๊ก มีแฟนเพจหมาแมวขึ้นมาคนก็เลี้ยงสัตว์เยอะขึ้น ใส่ใจสัตว์เลี้ยงเยอะขึ้น กระแสการเลี้ยงสัตว์เลยเติบโตมากขึ้น สังเกตได้ว่าโรงพยาบาลสัตว์มีมากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน เดินไปใกล้ๆ ก็เจอ เผลอๆอาจจะพอๆกับร้านสะดวกซื้อแล้ว”
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานประชุมสัตวแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก BSAVA Congress ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร ที่ประชุมได้ประมวลความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่คาดว่าสัตวแพทย์รุ่นใหม่อาจเผชิญไว้ว่า ในอนาคต ความคาดหวังของเจ้าของสัตว์จะสูงขึ้น เช่นเดียวกับมาตรฐานการดูแลและให้บริการ ธุรกิจสัตวแพทย์จะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ สัตวแพทย์เฉพาะทางมีมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทักษะงานพยาบาลและเทคนิคการสัตวแพทย์จะนำมาใช้มากขึ้น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และผู้หญิงจะเป็นอนาคตของวงการสัตวแพทย์
ในบ้านเรา มีผู้ประเมินว่าคนที่เลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ แม้จะมีความรู้มากขึ้น ดูแลสัตว์เก่งขึ้น แต่ก็ยังเลี้ยงแบบกึ่งเป็นเพื่อน คือดูแลบ้าง ไม่ดูแลบ้าง คนที่เลี้ยงดูสัตว์เหมือนลูกอาจมีราวร้อยละ 20-30 โดยเฉพาะผู้มีรายได้สูง และอาศัยในเมืองใหญ่หรือตามหัวเมืองต่างจังหวัด เกิดโรงพยาบาลสัตว์แบบไฮเอนด์ และโรงพยาบาลที่ทำธุรกิจเป็นเครือข่ายทั่วไป ไม่ต่างจากโรงพยาบาลคน โรงพยาบาลสัตว์ขนาดใหญ่มีเครื่องมือเครื่องใช้พร้อม เช่น ห้องปฏิบัติการตรวจเลือด มีเครื่องเอ็มอาร์ไอเป็นของตัวเอง ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีที่ทางสำหรับโรงพยาบาลขนาดกลางและคลินิกขนาดเล็กให้เติบโตได้อีก ขณะที่สัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคเฉพาะที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ เช่น มะเร็ง เบาหวาน ผิวหนัง โรคไต และโรคหัวใจ มากขึ้น อาหารและข้าวของเครื่องใช้บางอย่างของสัตว์เลี้ยงมีราคาสูงกว่าของคนด้วยซ้ำ
ความที่สัตวแพทย์เป็นคนกลางระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นระดับครัวเรือนหรือสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เป็นอย่างไร ลึกซึ้ง ฉาบฉวย หรือหลากหลายเพียงใด ธุรกิจของสัตวแพทย์ก็ดูจะเป็นไปเช่นนั้นด้วย ในศตวรรษที่ 21 นี้ หน้าที่ ขอบเขตงาน และความชำนาญของวิชาชีพสัตวแพทย์เดินทางมาไกลและซับซ้อนกว่าที่เคยเป็นเมื่อสองสามชั่วอายุคนก่อนหลายเท่าพันทวี
อ่านเพิ่มเติม : การล่าจะช่วยปกป้องสัตว์ป่าได้จริงหรือ, กว่าจะมาเป็นเจน กูดดอลล์