เสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าในระบบนิเวศ ที่กำลังพยายามฟื้นคืนประชากรตามธรรมชาติ

เสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าในระบบนิเวศ ที่กำลังพยายามฟื้นคืนประชากรตามธรรมชาติ

เสือโคร่ง ในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์อินโดจีน มีรูปร่างใกล้เคียงกับเสือโคร่งสายพันธุ์เบงกอล เป็นสัตว์ป่าที่เคยเข้าใกล้ภาวะสูญพันธุ์ แต่ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ปัจจุบัน ประชากรเสือโคร่งตามธรรมชาติในประเทศไทยกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น

เสือโคร่ง เป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ล่าอันดับสูงสุดในห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ มีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมประชากรสัตว์กินพืชในระบบนิเวศ เช่น กวาง กระทิง เก้ง และวัวแดง เป็นต้น เนื่องจาก ถ้าในธรรมชาติมีสัตว์กินพืชมากเกินไป จะส่งผลให้พืชบางชนิดมีจำนวนลดลง และส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศโดยรอบ นอกจากนี้ เสือโคร่งยังช่วยล่าเหยื่อที่อ่อนแอ ที่ส่งเสริมให้ประชากรของสัตว์ป่ามีโอกาสถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่แข็งแรง

เสือ
                                                      ภาพถ่าย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ลักษณะทางกายภาพของเสือโคร่ง

เสือโคร่งที่พบในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์อินโดจีน Panthera tigris corbetti พบการกระจายพันธุ์ในแถบมีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าเมืองไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และทางตอนใต้ของจีน

เสือโคร่งสายพันธุ์อินโด-ไชนีสมีลวดลายส่วนบนของลำตัวเป็นสีแดงส้มไปจนถึงสีเหลืองปนน้ำตาล ส่วนท้องมีสีขาว และตลอดลำตัวมีสีดำและเทาเข้มเป็นลายพาด โดยแต่ละตัวจะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ จัดเป็นเสือขนาดกลาง น้ำหนักตัวประมาณ 130-200 กิโลกรัม มีรูปร่างใกล้เคียงกับเสือโคร่งสายพันธุ์เบงกอล (Panthera tigris tigris) แต่มีสีขนเข้มกว่า

เสือไทย
                                                             ภาพถ่าย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

พฤติกรรมการกินอาหาร

เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ จึงต้องการพลังงานสำหรับการดำรงชีวิตสูง ส่งผลให้เสือโคร่งมีอาณาเขตในการหาอาหารที่กว้างมาก โดยพื้นที่การหาอาหารของเสือโคร่งตัวผู้จะกว้างกว่าตัวเมีย เหยื่อตามธรรมชาติเป็นสัตว์กินพืชชนิดต่างๆ เช่น กระทิง วัวแดง เก้งป่า และกวางป่า เป็นต้น

จากการวิจัยของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี พบว่า เสือโคร่งตัวผู้มีขนาดพื้นที่อาศัยและหากินประมาณ 267 – 300 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่เสือโคร่งตัวเมียครอบครองพื้นที่ราว 60 – 70 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

เสื้อโคร่งแต่ละตัวจะหากินในอาณาเขตของตัวเอง โดยพฤติกรรมตามธรรมชาติ เสือโคร่งมักออกหากินเพียงลำพัง และส่วนใหญ่มักออกล่าอาหารในเวลากลางคืนถึงเช้ามืด ไม่พบพฤติกรรมการรวมฝูง ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์ และช่วงเลี้ยงดูลูกเสือแรกเกิด

เสือ

สถานะของเสือโคร่งในประเทศไทย

ในอดีต ประเทศไทยมีรายงานพบเสือโคร่งตามธรรมชาติในหลายพื้นที่ แต่ปัจจุบันประชากรเสือโคร่งลดลงจำนวนมาก บางพื้นที่ไม่มีรายงานการพบเสือโคร่งอีกเลย ยกเว้น พื้นที่กลุ่มป่าตะวันตกที่มีจำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้น

จากการสำรวจวิจัยเสือโคร่งในประเทศไทยด้วยกล้องดักถ่ายตั้งแต่ปี 2012 – 2022 พบจำนวนประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ 130 – 160 ตัว และถ้าหากประเมินเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตกในช่วงระยะเวลา 10 ปี พบว่า ประชากรเสือโคร่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 42 ตัว เป็น 79 ตัว

ปัจจุบัน การศึกษา วิจัย และสำรวจเสือโคร่งยังคงดำเนินต่อไป ในช่วงที่่ผ่านมา นักวิจัยได้ร่วมกันเก็บข้อมูลการกระจายพันธุ์จากการบันทึกลักษณะลวดลายของเาอโคร่งแต่ละตัว เพื่อบันทึกเป็นฐานข้อมูลกลางของประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย และพบว่า เสือโคร่งบางตัวได้ขยายอาณาเขตการหาอาหารไปทั่วพื้นที่ป่าตะวันตก จากป่าห้วยขาแข้งไปยังพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่อยู่ติดกัน เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน เรื่อยไปถึงอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าทางตอนเหนือ และขยายการกระจายตัวลงมาถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระทางตอนใต้

นอกจากนี้ยังพบเสือโคร่งจากห้วยขาแข้งออกไปหากินนอกป่าเลยจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางออกไปถึงประเทศเมียนมา เช่นเดียวกับที่ออกไปจากป่าคลองลานจนมีผู้พบในไร่มันอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งการสำรวจพบทั้งหมดเป็นข้อบ่งชี้ว่า การเพิ่มจำนวนของประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ ทำให้ประชากรของเสือโคร่งต้องการพื้นที่อาศัยและหาอาหารที่กว้างขึ้น

เสือโคร่งธรรมชาติ
ภาพถ่าย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ความพยายามในการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทย

ที่ผ่านมากรม อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินงานที่ครอบคลุมถึงการเสริมสร้างศักยภาพและการลาดตระเวนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การสร้างความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความเข้มแข็งของการศึกษาวิจัยเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่อาศัยที่สำคัญ และการสร้างจิตสำนึก ความร่วมมือ และมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์

รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายได้มีความพยายามในการดำเนินงานทั้งการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART Patrol ในทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การจัดตั้งศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทำให้ผืนป่าไทยมีจำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในอนาคต กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังคงต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนคนไทยทั้งประเทศในการปกป้องรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งและทรัพยากรป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของเสือโคร่งในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

https://thailand.wcs.org/th-th/wildlife/tiger-and-prey.aspx
https://www.wwf.or.th/what_we_do/conservation_of_tigers_khlong_lan_and_mae_wong/about_the_tiger/
https://www.seub.or.th/bloging/news/global-news/ สถานการณ์เสือโคร่งอินโ/
https://www.seub.or.th/bloging/into-the-wild/ thailand-tiger-2021/

อ่านเพิ่มเติม กระต่ายป่า แห่งดินแดนหนาวเหน็บ กำลังไร้ที่ซ่อน เนื่องจากภาวะโลกร้อน

Recommend