ปัญญาแห่ง ช้างป่า ที่ไม่อาจอยู่ร่วมกับมนุษย์

ปัญญาแห่ง ช้างป่า ที่ไม่อาจอยู่ร่วมกับมนุษย์

เมื่อถิ่นอาศัยหดหาย ช้างป่า จึงถูกบีบให้ออกจากป่าเพื่อหากินใกล้ถิ่นฐานมนุษย์

เสียงพระสวดมนต์ดังขึ้นช่วงใกล้สายที่วัด แห่งหนึ่งในอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพิธีสวดมนต์ส่งวิญญาณของแรงงานกัมพูชาสามคนที่ถูกช้างป่า เหยียบตายเมื่อสองสามวันก่อนในป่ายูคาลิปตัส

โศกนาฏกรรมดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ด้วยว่า วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ได้เกิดเหตุสลด เมื่อมีผู้พบศพแรงงานกัมพูชาที่มารับจ้างตัดไม้ยูคาลิปตัสจำนวนสามศพในป่าบริเวณบ้านเนินกระบก อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา สภาพแต่ละศพถูกช้างเหยียบจนตายคาที่ เมื่อเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าตะเกียบไปถึงที่เกิดเหตุ พบเป็นเพิงที่พักคนงานตัดไม้ยูคาลิปตัสในสภาพถูกช้างป่ารื้อจนข้าวของกระจัดกระจาย ห่างจากเพิงพักคนงานประมาณ 70 เมตร มีร่างของผู้เสียชีวิตเป็นชายชาวกัมพูชาหนึ่งราย สภาพถูกช้างกระทืบและทำร้ายร่างกาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน โดยมีโขลง ช้างป่า ประมาณ 20-30 ตัวเดินผ่านมายังบริเวณเพิงพักคนงาน ตอนแรกช้างป่าใช้งวงแกว่งเปลนอนของผู้ตาย แต่ผู้ตายเข้าใจว่าเป็นเพื่อนคนงานตัดไม้ด้วยกันเข้ามาแกล้งหยอกล้อเล่น จึงร้องด่าว่า พอช้างได้ยินเสียงจึงใช้งวงกระชากเปลนอนจนตัวผู้ตายตกลงมา ก่อนที่ ช้างป่า อีกหลายตัวจะพากันเข้ามารุมทำร้ายจนเสียชีวิต ส่วนคนงานคนอื่น ๆ ที่พักอยู่ด้วยกันหลายคนก็พากันวิ่งหนีตายเข้าป่าจนปลอดภัย ต่อมาพบคนงานเสียชีวิตอีกสองศพเป็นสามีภรรยาห่างออกไปสองร้อยเมตรในสภาพถูกช้างป่าทำร้ายจนถึงแก่ความตาย

ควันสีดำลอยจากปล่องเตาเผาศพ ผู้คนทยอยขึ้นไปแสดงความอาลัยผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้น ผมเดินทางเข้าไปในป่ายูคาลิปตัสที่เกิดเหตุก็พบว่าเพิงไม้ไผ่ถูกรื้อกระจุยกระจายตามแรงเหวี่ยงของช้าง เสื้อผ้า หม้อหุงข้าว จานชามยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้น

ผมสอบถามชาวกัมพูชาที่รอดชีวิตซึ่งเป็นเพื่อนของผู้ตายผ่านล่ามได้ความว่า แรงงานเหล่านี้มาจากกัมพูชามารับจ้างตัดไม้ยูคาลิปตัสเป็นเวลากว่าสิบวันโดยตั้งเพิงพักในป่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านในพื้นที่เคยเตือนแล้วว่า บริเวณที่ตั้งเพิงพักเป็นด่านช้างที่มีช้างป่ากว่า 30 ตัวเดินผ่านเป็นประจำ

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านคนหนึ่งในละแวกนั้นใช้ปืนยิงช้างตายคาสวนในเขตบ้านตนเองด้วยความโกรธแค้น ในรอบสองสามปีมานี้ อำเภอท่าตะเกียบมีช้างป่าออกมาหากินทำลายพืชผลเกษตรของราษฎรนับร้อยครั้ง และถูกไฟฟ้าจากรั้วไฟฟ้าช็อต รถบรรทุกชน หรือถูกยิงเสียชีวิตกว่า 10 ตัว ขณะที่คนก็ถูกช้างเหยียบตายกว่าสิบชีวิตเช่นกัน ยังไม่นับที่บาดเจ็บอีกหลายราย จนพูดได้ว่าความขัดแย้งระหว่างคนกับ ช้างป่าในพื้นที่เข้าขั้นวิกฤติแล้ว

หลายชีวิตที่จากไปเป็นตัวอย่างของเหยื่อความขัดแย้งระหว่างคนกับ ช้างป่า ในการแย่งพื้นที่หากิน ซึ่งนับวันจะลุกลามออกไปเรื่อย ๆ

ช้างป่า, ท่าตะเกียบ, ไร่สับปะรด
อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา บริเวณที่ติดกับป่าเขาอ่างฤๅไน เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกพืชผลทางการ เกษตร เช่น สับปะรด ซึ่งเป็นอาหารที่ช้างป่าโปรดปราน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว เจ้าของไร่จึงต้องเร่งระดมแรงงานจำนวนมากเพื่อเก็บพืชผลที่ยังไม่สุกเต็มที่ให้เสร็จ ก่อนที่ช้างป่าจะลงมาหากิน

ความขัดแย้ง ช้างป่า ที่ท่าตะเกียบ

ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินข่าวความขัดแย้งระหว่างช้างกับมนุษย์ที่อาศัยอยู่รอบป่า อันเนื่องมาจากปัญหาช้างออกมาหากินพืชไร่ของเกษตรกรจนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมช้างตายและบาดเจ็บเพราะถูกยิง ส่วนคนถูกช้างทำร้ายจนเสียชีวิตในพื้นที่เกษตรรอบผืนป่า อาทิ กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-นํ้าหนาว ทุกวันนี้ คาดว่ามีช้างป่าในประเทศไทยกระจายตัวอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าราว 3,000-3,500 ตัว ไม่นับรวมช้างเลี้ยงทั่วประเทศที่คาดว่ามีประมาณ 3,000 เชือก

ปัญหาช้างป่าออกมากินพืชไร่ชาวบ้านนอกป่านั้นมีมานานแล้ว ตามประวัติศาสตร์เคยมีบันทึกว่า สมัยรัชกาลที่ห้า มีช้างป่าออกมาทำลายนาข้าวของชาวบ้านบริเวณทุ่งรังสิต และไม่ใช่แต่ในเมืองไทย ทุกวันนี้ ปัญหาช้างออกมากินพืชผลที่คนปลูกกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ ลาว พม่า อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ภูฏาน เวียดนาม และจีน ช้างป่าเป็นสัตว์ ขนาดใหญ่ต้องกินอาหารไม่ตํ่ากว่าวันละ 150-200 กิโลกรัม และต้องการนํ้าประมาณวันละ 300 ลิตร

ช้างป่ายังมีความสามารถในการเดินหากินได้ระยะไกล เส้นทางการเคลื่อนที่ของโขลงช้างป่าจะหมุนเวียนไปตาม แหล่งนํ้า แหล่งอาหาร และแหล่งโป่ง ทําให้ช้างป่ามีพื้นที่หากินครอบคลุมหลายสภาพป่า ตั้งแต่ป่าทึบจนถึงทุ่งหญ้า ลูกช้างและช้างวัยรุ่นที่อยู่ในโขลงจะเรียนรู้จากแม่ช้างถึง เส้นทางหากิน ทั้งแหล่งนํ้า แหล่งอาหาร แหล่งโป่ง และแหล่งหลบภัย โดยเป็นเส้นทางเดินตามแต่ช่วงฤดูกาล

“ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นร่มเงา (umbrella species) เขาใช้ทรัพยากรมาก หากเขาอยู่ในป่าก็แสดงว่าในป่ามีทรัพยากรในการดำรงชีพเพียงพอ คือมีแหล่งอาหาร แหล่งนํ้า ถ้า ช้างอยู่ได้ สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กกว่า ทั้งกระทิง เก้ง หมูป่า และกวางก็อยู่ได้ ช้างจึงเป็นดรรชนีชี้วัดระบบนิเวศอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้ว่า พื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ช้างเป็นตัวถ่ายทอดพลังงานจากตัวเองไปสู่ระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายเมล็ดพันธุ์ หรือการทำให้พื้นที่ป่าเปิดโล่ง ความที่ตัวใหญ่ เมื่อเดินไปตามทางก็เปิดด่านให้สัตว์เล็กกว่าได้ใช้พื้นที่ด้วย ช้างจึงมีความสำคัญในระบบนิเวศ ทั้งเอื้อและเผื่อแผ่พื้นที่ให้สัตว์อื่น ๆ ได้อาศัย” ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน ช้างจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อธิบาย

ในบรรดาพื้นที่ทั้งหมด เขตอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัด ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างช้างกับมนุษย์มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

ป่าเขาอ่างฤๅไนได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อ พ.ศ. 2520 เป็นป่าดิบลุ่มตํ่าผืนใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 643,750 ไร่ อยู่บริเวณรอยต่อของห้าจังหวัด ได้แก่ อำเภอท่าตะเกียบ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา, อำเภอวังนํ้าเย็น อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว, อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง, อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี และอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี

ป่าผืนนี้เคยมีช้างป่าอาศัยอยู่ประมาณ 400 ตัว แต่ปัจจุบัน จากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่ป่าในอดีตเพื่อทำเกษตร และความแห้งแล้งในผืนป่าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ชนิดนี้ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยการออกมาหากินนอกผืนป่า ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งนํ้าและพืชอาหารนานาชนิด ทั้งข้าว อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด และกล้วย

ช้างป่า, เจ้าหน้าที่อุทยาน
ดร. ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ (คนขวา) และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ กำลังติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ป่ามาหากินในไร่นาเป็นประจำ เป็นความพยายามหนึ่งในการแก้ปัญหาคนกับช้าง

เมื่อผมลงสำรวจพื้นที่เกษตรของชาวบ้านท่าตะเกียบ ประโยคแรกที่เกษตรกรคนหนึ่งพูดกับผมคือ “สมัยก่อนตอนลุงย้ายมาใหม่ ๆ มีความสุขสบายมาก ปลูกอะไรก็เอาไว้ขายได้ เดี๋ยวนี้ปลูกอะไรก็เอาไว้ให้ช้างกิน ปลูกข้าวพอได้ผลผลิต ช้างก็กิน แล้วทางการก็บอกว่าต้องให้ช้างอยู่ร่วมกับคน จะอยู่อย่างไร ทำอะไรทุกอย่างก็ถูกกินหมด แต่ละโขลงมีตั้ง 50-60 ตัว ใครจะไปสู้ไหว” สมร งามทวี ชาวนาท่าตะเกียบชี้ให้ดูร่องรอยของช้างที่เข้ามาเหยียบยํ่าที่นาเมื่อคืน พอเดินต่อไปก็พบรอยเท้าช้างจำนวนมากที่เข้ามาขุดหัวมันกิน ในไร่มันสำปะหลัง ผมยังเห็นเศษเปลือกสับปะรดเกลื่อนพื้นดิน รวมถึงขนุนลูกใหญ่ที่เนื้อในถูกแกะกินไปเกือบหมดในอีกแปลงด้วย

จากการสำรวจพบว่า มีช้างป่าในป่าเขาอ่างฤๅไนราว 400 ตัว ช้างแต่ละตัวต้องใช้พื้นที่หาอาหารประมาณ 4,000 ไร่ ป่าอ่างฤๅไนมีพื้นที่ 600,000 ไร่เศษ ซึ่งไม่พอสำหรับช้างจำนวนนี้ ประกอบกับปัญหาความแห้งแล้ง ทำให้ช้างต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดด้วยการออกไปหาอาหารกินนอกป่า

หลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวบ้านอำเภอท่าตะเกียบและอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่รอบป่าเขาอ่างฤๅไน อพยพเข้ามาถางป่าผืนใหญ่ เปลี่ยนสภาพป่าให้เป็นบ้านเรือน ไร่สับปะรด ไร่มันสำปะหลัง สวนปาล์ม ข้าวโพด ยางพารา และนาข้าว ยิ่งนานวัน ป่าผืนใหญ่ก็ถูกแผ้วถางรองรับผู้คนที่อพยพเข้ามาจับจองสร้างหลักแหล่งมากขึ้น ตามมาด้วยระบบชลประทานและแหล่งนํ้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรของชาวบ้าน

ช้างป่าเป็นสัตว์บกขนาดใหญ่ที่ไม่ชอบเดินหากินบนที่สูงชันเพราะต้องใช้พลังงานมาก ชอบเคลื่อนไหวหากินในที่ราบมากกว่า และเมื่อป่าเกิดความแห้งแล้ง อาหารที่เคยหากินได้มากพอกลับขาดแคลนอย่างหนัก ช้างจึงเริ่มอพยพ ออกนอกป่ามายังที่ราบด้านนอกที่อุดมไปด้วยแหล่งอาหารและนํ้าท่าอันสมบูรณ์

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า ป่าผืนนี้ถูกล้อมรอบด้วยเมืองจึงง่ายต่อการบุกรุกเนื่องจากมีทางเข้าหลายทางลึกเข้าไปกลางป่ายังมีถนนสาย 3259 ตัดผ่าน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้พื้นที่ป่ามีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ช้างต้องออกมาหากินในที่ดินของชาวบ้าน และกลายเป็นความขัดแย้งของคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

วีระพงศ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน เล่าให้ผมฟังว่า “ในอดีต ป่าอ่างฤๅไนเป็นป่าที่ค่อนข้างชื้น นํ้าผิวดินเยอะ แต่ปัจจุบันปัญหาโลกร้อนทำให้นํ้าผิวดินน้อยลง ช้างจึงต้องไปแสวงหานํ้าข้างนอก ป่านี้เป็นที่ราบหลังเต่า นํ้าจากภูเขารอบ ๆ ไหลออกข้างนอก และพืชอาหารสำหรับช้างก็พอมีอยู่ แต่ป่าแถวนี้เคยมีการสัมปทานทำไม้ในอดีต ทุกวันนี้ ป่าจึงกำลังฟื้นตัว พืชอาหารอาจมีไม่มากพอกับช้างที่เพิ่มจำนวนขึ้น แถมสัตว์ผู้ล่าคือเสือโคร่งก็ไม่มี ช้างจึงเพิ่มจำนวนขึ้น ช้างป่าส่วนหนึ่งจึงออกไปหาอาหารกินนอกป่า ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรและนํ้าท่าก็อุดมสมบูรณ์ ประมาณกันว่าในพื้นที่หนึ่งตารางกิโลเมตรมีอ่างเก็บนํ้าของชาวบ้านนับร้อยแห่ง จึงดึงดูดให้ช้างออกมาหากินนอกป่า และยิ่งช้างพบว่ามีพืชเกษตรที่เป็นอาหารด้วย พวกเขาจึงอยู่แถวนี้ ไม่ไปไหนเลย ทำให้ช้างป่าไปกระจุกตัวอยู่นอกป่าแถวนั้น”

เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ช้างป่าจึงปรับตัวอาศัยอยู่ตามชายป่าที่ติดกับไร่นาชาวบ้าน ไม่กลับเข้าป่าอีก เพราะโดยธรรมชาติช้างจะพยายามหาแหล่งอาหารที่อยู่ใกล้เพื่อลดการสูญเสียพลังงานในการเดินหาอาหารให้มากที่สุด ดังนั้น เมื่ออาหารดี นํ้าไม่ขาด ช้างเหล่านี้จึงออกลูกออกหลานมากขึ้น จนจำนวนช้างรอบป่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช้างรุ่นใหม่ที่เกิดมาไม่รู้จักป่าอีกต่อไปเพราะเกิดในไร่สวนของชาวบ้าน เติบโตและหากินตามชายป่าที่มีพืชผลให้กินตลอดปี ขึ้นอยู่กับว่าช่วงใดมีผลผลิตพืชไร่ชนิดไหนหมุนเวียนออกมาช้างป่าเรียนรู้ได้เองว่า ช่วงเวลาใดที่หัวมันสำปะหลังจะอวบใหญ่ หรือสับปะรดจะหวานฉํ่าเต็มที่

พอตะวันพลบ ช้างป่านับร้อยตัวจะกระจายกันออกหากินในความมืด พวกมันใช้หู ตา และงวงดมกลิ่นหาอาหารแสนอร่อย เดินยํ่าไปตามท้องไร่ท้องนา หากินกันทั้งคืน หากลงท้องนา จะใช้งวงค่อย ๆ รูดรวงข้าวกิน เมื่อถึงรุ่งเช้า ก็เหลือแต่ร่องรอยความเสียหายให้ชาวบ้านเห็น

หลายคืนต่อมา ใกล้เที่ยงคืน ผมลงไปติดตามช้างร่วมกับชาวบ้านท่าตะเกียบ เราขับรถผ่านที่นาอีกแปลง เห็นหญิงชาวบ้านคนหนึ่งสะพายย่ามยืนอยู่พร้อมไฟฉาย เธอมาคอยไล่ช้างที่จะเข้ามาในนาข้าวของตัวเอง และชี้ไปยังช้างที่เดินผ่านทุ่งนาไป

ชาวนาหญิงตัวคนเดียววัย 40 กว่าผู้นี้ต้องยืนเฝ้าไร่นาทั้งคืน คืนก่อน ช้างลงมาหากินทั่วนาประมาณ 70 ตัว เธอบอกว่าต้องอดหลับอดนอนทุกคืนมาเฝ้าคนเดียวเพราะสามีไม่อยู่และลูก ๆ ต้องไปโรงเรียนแต่เช้า “คืนนี้ช้างลงมาที่นาสี่ตัว เอาประทัดจุดไล่ แต่มันไม่ยอมไป” นภาพร ภูมิสัตย์ หญิงชาวนา เอ่ยด้วยนํ้าเสียงเหนื่อยล้า

ผมถามว่ามีอะไรเป็นอาวุธไล่ช้างบ้าง เธอเปิดย่ามให้ดู ผมเห็นประทัดหรือที่เรียกกันว่าลูกปิงปองร่วมสิบลูก “มาเฝ้าที่นากลางคืนตัวคนเดียว กลัวช้างไหมครับ” ผมถาม “กลัวมาก แต่ต้องเสี่ยงออกมา เพราะถ้าไม่ออกมาไล่ช้างทุกคืน มีหวังหมดตัวแน่” นภาพรตอบ

ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร เราได้ยินเสียงเครื่องจักรท่ามกลางความมืด พอขับรถเข้าไปใกล้จึงรู้ว่าเป็นเสียงรถเกี่ยวข้าวทั้งที่ปกติจะทำงานในตอนกลางวัน แต่เจ้าของที่นาดังกล่าวต้องรีบมาเกี่ยวข้าวตอนกลางคืน ก่อนที่ช้างจะมาเยี่ยมและกินรวงข้าวถึงที่นาจนไม่เหลือข้าวให้เกี่ยว

ประทัด
ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ยังต้องพึ่งพาอุปกรณ์สามัญประจำบ้านอย่าง ประทัด “ลูกปิงปอง” ซึ่งใช้จุดให้เกิดเสียงดัง เพื่อไล่ช้างออกจากเขต ไร่นาและบ้านเรือน

การทดลองครั้งสำคัญ

“คลองมะหาด 5 ช้างกำลังข้ามคลองมุ่งหน้าไปทางบ้านนาดี ประมาณ 20 ตัวบวก ๆ”

“รับทราบ รับทราบ กำลังไป”

เสียงวิทยุตอบกลับของวชิร วงศ์ษา หัวหน้าชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างแห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ดังขึ้นในรถลาดตระเวนหลังพระอาทิตย์ตกไม่นาน

“ภารกิจของผมคือเฝ้าระวัง ถ้าช้างลงชุมชน ผมก็ต้องมาผลักดันออกไป หลังอาทิตย์ตก เราต้องมาเฝ้าระวัง โดยเฉพาะนาข้าว ไร่มันสำปะหลัง ได้รับแจ้งทุกวัน ก็ต้องออกไปครับ” วชิรบอก แล้วเลี้ยวรถไปตามเส้นทางที่ได้รับแจ้งมา

“ถามว่ากลัวไหม ทุกคนกลัวเป็นธรรมดา แต่เมื่อเป็นหน้าที่ก็ต้องไป ชาวบ้านกลัวกว่าเราเยอะ เราก็ต้องทำวิธีผลักดันหลัก ๆ คือการส่องไฟและเดินเข้าหา เขาจะถอย แต่ถ้าไม่ถอยก็ใช้ลูกปิงปองครับ” เขาบอก

พวกเรานั่งรถไปตามทางรอบป่าที่ติดกับไร่นาของชาวบ้าน ฝั่งหนึ่งเป็นแนวป่า อีกฝั่งเป็นนาข้าวออกรวงสีเหลืองอร่าม ช้างป่าบางโขลงได้กลิ่นอาหารมื้อโอชะ รอคอยที่จะออกมา

“นั่น ๆ ส่องไฟเลย ช้างแอบอยู่ในป่ายูคาใกล้ ๆ ที่นาตรงนั้น”

เสียงสุนัขเห่าดังระงมไปทั่ว เราพบชาวบ้านหลายคนเข้าเวรยามเฝ้าไร่นาคอยไล่ช้าง คืนนั้นทั้งคืนมีแต่เสียงโห่ร้องของชาวบ้าน แสงไฟฉายทอดเป็นลำในความมืด เสียงประทัดปิงปองดังเป็นระยะ พอชาวบ้านจุดไฟจุดประทัดเสียงดังไล่ช้างไม่ให้มาทางไร่นา ช้างก็ส่งเสียงร้องดังตอบโต้เป็นระยะ ราวกับฉากรบพุ่งในสมรภูมิ ชาวบ้านบางกลุ่มแยกมาดักรออีกทาง ทั้งเปิดไฟฉาย สุมไฟให้ลุกโชนกันไม่ให้ช้างลงไร่นา พวกเขาเฝ้ากันทั้งคืน เพราะรู้ว่าหากช้างหลายสิบตัวลงนาข้าว นั่นคือหายนะของครอบครัว

ในช่วงปลายฝนต้นหนาวเช่นนี้ หากออกไปตามท้องทุ่ง เราจะเห็นข้าวในท้องนาตั้งท้องสุกเหลืองอร่ามไปทั่ว เป็นช่วงเวลาที่ชาวนาทั่วประเทศดีใจที่จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต แต่สำหรับชาวนารอบ ๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤๅไน จังหวัดฉะเชิงเทรา กลับนอนหลับไม่เป็นสุข หายใจไม่ทั่วท้อง ตกกลางคืนแทนที่จะได้หลับนอน พวกเขาต้องมานั่งเฝ้าแปลงนาข้าวที่กำลังออกรวงจวนเก็บเกี่ยวได้ ไม่ให้โขลงช้างป่าจำนวนมากเข้ามาเก็บกิน

ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งพวกเขามาดักช้างที่คาดว่าจะออกจากป่ามากินข้าวในนาแถบนี้ คืนนั้นช้างสองสามตัวออกมาจากป่าจริง ๆ พวกเขาจุดพลุ จุดประทัด ช่วยกันไล่อยู่ทั้งคืนกว่าจะสำเร็จ แต่พอถึงรุ่งเช้ากลับพบว่า ช้าง 20-30 ตัวพากันไปกินข้าวในนาอีกฝั่งหนึ่งจนเสียหายยับเยิน แสดงว่าพวกช้างป่าฉลาดมาก “มันหลอกเรา เอาช้างสองสามตัวมาล่อ แล้วที่เหลือไปกินข้าวอีกฝั่งหนึ่ง”

ชาวบ้านทุกคนลงความเห็นว่า ช้างฉลาดกว่าที่มนุษย์คิดจริง ๆ ไม่ว่าจะป้องกันอย่างไร ช้างป่าแก้ปัญหาได้เกือบหมด

ช้างป่า
โดยทั่วไปช้างป่ามักออกมาในยามคํ่าคืนที่ปลอดมนุษย์ แต่ช้างป่าโขลงใหญ่นี้กำลังหากินและพ่นฝุ่นตามลำตัว เพื่อป้องกันผิวหนังจากแสงอาทิตย์อย่างผ่อนคลายกลางไร่มันสำปะหลังในเขตอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยใช้เวลาในไร่ดังกล่าวตั้งแต่บ่ายถึงคํ่า

นิกร ทรัพย์ประสาน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านอ่างเตย อำเภอท่าตะเกียบ เล่าให้เราฟังว่า “แต่ก่อนช้างออก [จากป่ามาหากิน] หกโมงเย็น เราก็ออกลาดตระเวนหกโมง แต่ช้างก็เรียนรู้เวลาที่เราออก พอเราออกลาดตระเวนหกโมง ช้างก็หนีไปออกทุ่มนึง จะได้ไม่เจอเราคอยไล่ พอเราออกทุ่มนึง เขาก็ออกสองสามทุ่ม เขาจะศึกษาเราด้วยหรือเปล่า ผมไม่ทราบ แต่มันน่าสนใจว่าเขาแก้ทางเราได้หมด”

ก่อนหน้านี้ นักชีววิทยาพบมานานแล้วว่า ช้างเป็นสัตว์เฉลียวฉลาด มีสมองขนาดใหญ่ จึงเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดได้เสมอ

รศ.ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร แห่งภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ช้างมีการเรียนรู้ในการปรับตัวถึงสามระดับ

“เวลาช้างอยู่ในป่าก็จะปรับตัวหาอาหาร หานํ้าอย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งไหนมีนํ้ามีอาหารมาก อุดมสมบูรณ์ ก็จะไปตรงนั้น ถือเป็นการปรับตัวตามธรรมชาติขั้นที่หนึ่งในกรณีนี้ช้างจะยังอยู่ในป่า การปรับตัวขั้นที่สองเกิดขึ้นเมื่อพื้นที่หากินในป่ามีน้อยลง เพราะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีแหล่งนํ้าเพิ่มขึ้น ช้างก็จะใช้ศักยภาพของมันเรียนรู้ว่าบริเวณใด ไม่ว่าจะเป็นป่าหรือพื้นที่เกษตรกรรม มีอาหารและแหล่งนํ้าอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด หลังจากนั้นก็จะมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับโขลงช้าง เมื่อลูกช้างเกิดมาก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ จะเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นว่า อาหารชนิดไหนดีหรือไม่ดี บริเวณไหนมีอาหารและไม่ต้องสูญเสียพลังงานมากในการเดินทาง”

ขั้นที่สามคือช้างจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนด้วย “จากที่ช้างแค่รู้ว่าอาหารตรงไหนดีไม่ดี แหล่งนํ้าตรงไหนดีไม่ดี ก็จะซับซ้อนขึ้นเมื่อมาเจอกับคน มีทั้งการยิงช้าง ไล่ช้าง การป้องกันพื้นที่ แต่ช้างมีความฉลาดในการเรียนรู้ เกิดเป็นพฤติกรรมใหม่ ๆ จากการที่ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ซึ่งสมัยก่อนไม่มี” รศ.ดร.สมโภชน์กล่าวและเสริมว่า ช้างแต่ละตัวทั้งเพศผู้และเพศเมียจะเรียนรู้ได้เอง เมื่อช้างเหล่านี้มีประสบการณ์มากขึ้นบ่อย ๆ ก็ถ่ายทอดให้กับช้างตัวอื่น ๆ ในโขลงไปสู่รุ่นลูกของมัน พอนานเข้านับสิบปี ช้างก็ฉลาดขึ้นมาก ดังนั้นสิ่งใดที่มนุษย์ทำกับช้างแบบเดิม “ช้างจึงเรียนรู้ได้หมด แล้วมันจะกระโดดข้ามขั้นไปจนมนุษย์ตามไม่ทัน ในขณะที่คนยังคิดว่าช้างจะไม่เรียนรู้ แต่ความจริงช้างเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาอยู่ตลอดและยังมีการเรียนรู้ในระดับของกลุ่มด้วย เมื่ออยู่กับคน ก็รู้ว่าคนไหนดี คนไหนไม่ดี นี่เป็นพัฒนาการระดับสาม คือไม่หนีคนแล้ว ที่ตรงไหนอันตรายก็หลีกเลี่ยง ตรงไหนไม่อันตรายก็อยู่ได้”

ในโลกของการวิจัยเรื่องช้าง มีการทดลองระดับโลกคราวหนึ่งที่พิสูจน์ความฉลาดของช้าง นั่นคือการให้ช้าง ส่องกระจกดูตัวเอง

โดยปกติ สัตว์ส่วนใหญ่เมื่อตั้งกระจกเงาให้มองเงาของตัวเองในกระจกแล้ว สัตว์ตัวนั้นจะคิดว่า สัตว์ที่เห็นในกระจกคือตัวอื่น โดยอาจส่งเสียงคำรามหรือวิ่งเข้าชนเพื่อขับไล่ แต่นักวิจัยพบว่าช้างเอเชียสามารถมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกระจกและจดจำภาพสะท้อนของตัวเองในกระจกได้ ซึ่งแสดงถึงการรู้จักตัวเอง ความสามารถเช่นนี้พบในสิ่งมีชีวิตเพียงแปดชนิดเท่านั้น ได้แก่ มนุษย์ อุรังอุตัง กอริลลา ชิมแปนซี โบโนโบ นกแมกไพน์ โลมาปากขวด และช้างเอเชียเท่านั้น

เมื่อไม่นานมานี้ โครงการ Think Elephants Inter­national โดย ดร.โจชัว พลอตนิก ได้ทำการทดลองด้านพฤติกรรมของสัตว์ที่ปางช้างแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เรียกว่า Mirror Self-Recognition in Asian Elephants (การจดจำตนเองจากกระจกเงาในช้างเอเชีย) โดยให้ช้างมายืนอยู่หน้ากระจกขนาดใหญ่ ตอนแรกช้างยังงุนงงกับภาพช้างในกระจกที่อยู่ตรงหน้า จากนั้นมันค่อย ๆ ใช้งวงแตะกระจกเพื่อสำรวจ แล้วเริ่มแปลกใจที่สัตว์ในกระจกเงาทำท่าทางเหมือนตัวเองตลอดเวลา จนเริ่มเรียนรู้ได้ว่า ภาพในกระจกเงาก็คือตัวมันเอง

ดร.พลอตนิกเล่าให้ผมฟังกลางป่าเมื่อครั้งที่เขากลับมาทำวิจัยศึกษาพฤติกรรมช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ว่า “วันแรกช้างจะสังเกตการณ์และสำรวจกระจก วันที่สองมันจะถูหัวกับกระจกเพื่อมีปฏิสัมพันธ์ วันต่อมา เราพบว่ามันจำตัวเองได้ว่ารูปในกระจกคือตัวมัน ต่อมา เราทากากบาทสีขาวตรงหน้าผากของช้าง พอมันเห็นตัวเองบนกระจก มันก็ยกงวงขึ้นลูบตรงที่เป็นกากบาทสีขาว แสดงว่ามันจำตัวเองได้จริง ๆ”

ผลการทดลองนี้สะท้อนว่า ช้างจดจำตัวเองได้ในระดับเดียวกับสัตว์ที่มีชีวิตทางสังคมซับซ้อนและมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างคน ลิงไม่มีหาง และโลมาปากขวด ในขณะที่ ดร.ศุภกิจตอกยํ้าว่า “ช้างเป็นสัตว์ที่มีสมองใหญ่มาก มีศักยภาพในการเรียนรู้ เรานึกว่าเราอยู่เหนือมัน แต่มันเรียนรู้ แก้ปัญหา และสร้างพฤติกรรมใหม่ ๆ มีพัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาจนมันอยู่เหนือเรา”

ไร่มันสำปะหลัง, ชาวไร่, ช้างป่า
เจ้าของไร่มันสำปะหลังคนหนึ่งในอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา รํ่าไห้เสียใจหลังพบว่าไร่ของตนได้รับความเสียหายจากการลงยํ่าและถอนหัวมันขึ้นมากิน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรในท้องถิ่นกับช้างป่าดำเนินสืบเนื่องมาเกือบสองทศวรรษและรุนแรงขึ้นทุกที

คนรับมือ ช้างป่า อย่างไรบ้าง

ทุกวันนี้ในอำเภอท่าตะเกียบบริเวณบ้านอ่างเตย บ้านวังวุ้ง บ้านคลอง-มะหาด มีช้างออกมาหาอาหารตามไร่นาของชาวบ้านร่วม 400 ตัว โดยมีช้างที่ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนนับร้อยตัว มาสมทบรวมกับช้างป่าที่หากินในพื้นที่อยู่เดิมและไม่ยอมกลับเข้าป่าจนกลายเป็นช้างประจำถิ่นไปแล้ว โดยแบ่งออกเป็นโขลง ๆ โขลงละ 50-80 ตัวออกหากิน และเมื่อถูกชาวบ้านในพื้นที่กดดันไล่ต้อนอย่างหนัก ช้างป่าก็จะพากันข้ามไปหากินในเขตตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา แทน

“เราแก้ปัญหาช้างไม่ค่อยสำเร็จ เพราะส่วนหนึ่งมนุษย์ดูถูกช้างมากเกินไป มองว่าช้างเป็นสัตว์ชั้นตํ่า มีระดับสติปัญญาไม่ต่างจากสัตว์ป่าชนิดอื่น อย่างเก้ง กวาง เสือ” รศ.ดร.สมโภชน์กล่าวและเสริมว่า “ระหว่างที่เราไปดูถูกช้าง ช้างจะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มันเป็นสัตว์ที่สามารถเรียนรู้มีจิตวิญญาณของตัวเอง รู้ว่าตัวเองเป็นใคร คือดูกระจกแล้วไม่วิ่งเข้าใส่ แต่รู้ว่าคือตัวเรา ถือเป็นสัตว์ฉลาดและฉลาดมากกว่าการเรียนรู้แค่ที่มนุษย์สอน ช้างสามารถเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่ได้ฝึกมัน แต่เรียนรู้เองจากสถานการณ์จริงคนไทยมักคิดถึงช้างในแง่สัตว์เลี้ยง แต่ช้างเป็นสัตว์ป่า ช้างป่ามีความฉลาดต่างจากช้างเลี้ยง”

ทุกวันนี้ วิธีป้องกันช้างป่าไม่ให้มากินพืชไร่ของชาวบ้านมีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามพื้นที่ทั่วประเทศโดยเริ่มจากการจัดชุดลาดตระเวนระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ร่วมกันดูแลคอยกันช้างไม่ให้ออกมากินพืชไร่ ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ตั้งแต่จุดพลุ ส่องไฟฉายแรงสูงขับไล่ ไปจนถึงติดกลไกให้ไซเรนส่งเสียงดังเมื่อช้างเข้ามาชน บางพื้นที่ที่ได้รับงบประมาณก็สร้างแนวรั้วไฟฟ้าและแนวรั้วคอนกรีตที่มีความมั่นคงมากขึ้น บางแห่งจะมีการขุดคูกันช้าง บางแห่งมีการปลูกพืชอาหาร สร้างแหล่งนํ้าเพิ่มในป่า ซึ่งก็ช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

“ลวด [รั้วไฟฟ้า] เอาช้างไม่อยู่หรอกครับ ใหม่ ๆ ก็พอได้ แต่ปัจจุบัน ช้างเขาจะเอากิ่งไม้มาทับลวด พอทับปุ๊บ มันก็ไม่มีไฟ เขาก็ข้ามมาสบาย ๆ” วีระ มณีวงศ์ เกษตรกร บอกและยอมรับว่า เขาต้องมาเฝ้าไร่นาทุกคืนเพราะทำมาหมดทุกวิธีแล้ว “ผมลํ้าหน้าช้างอยู่ได้ไม่นาน แป๊บเดียว ช้างเรียนรู้หมดเลย”

ช้างป่า
วชิร วงศ์ษา (คนกลาง) หัวหน้าชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน กับทีมเจ้าหน้าที่ จัดเวรประจำจุดเฝ้าระวังช้างป่าตาม ไร่ที่ตั้งอยู่รอบพื้นที่ป่า ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อช่วยป้องกันและผลักดัน ช้างป่าไม่ให้ออกมาทำลายพืชผลของชาวบ้าน

รั้วกึ่งถาวร หรือรั้วที่ใช้เสาคอนกรีตเสริมเหล็กและใช้เหล็กข้ออ้อยผูกเป็นตาข่ายห่าง ๆ นับว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาช้างป่าได้ในระดับหนึ่ง และความที่รั้วกึ่งถาวรมีลักษณะเป็นตาข่ายขนาดใหญ่ จึงทำให้สัตว์เล็ก ๆ เช่น สุนัขจิ้งจอก กระต่าย กระจง ชะมด งู ยังลอดผ่านไปมาและใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณนั้นได้

ล่าสุดคือรั้วรังผึ้งที่มีการทดลองนำแนวคิดมาจากประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งพบว่าช้างกลัวและรำคาญเสียงผึ้ง หากได้ยินมักจะล่าถอย จึงเอาแนวคิดนี้มาทำรั้วที่มีรังผึ้งแขวนอยู่ เมื่อช้างเดินมาชนรังผึ้ง ฝูงผึ้งจะกรูกันออกมารุมทำร้ายและส่งเสียงจนช้างรำคาญ ต้องเดินหนีไป ซึ่งอาจเหมาะกับบางพื้นที่ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เพราะใช้เงินทุนค่อนข้างสูง

“เราใช้กล้องดักถ่ายภาพช่วยในการศึกษาช้างที่มาถึงรั้วรังผึ้ง เราจะได้รู้ว่าช้างตัวไหนมา” รชยา อาคะจักร นักวิจัยที่สถานีวิจัยสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงจังหวัดเลย กล่าวและอธิบายว่า ทฤษฎีของรั้วรังผึ้งคือช้างมีความจำทางลบ (negative memory) หากช้างป่ารู้ว่าที่ใดมีแมลงรบกวนก็จะหลีกเลี่ยง “และบอกเพื่อน บอกครอบครัวว่าที่นี่มีแมลง บางตัวแค่เห็นมีแมลงบินออกมาสองสามตัวก็ถอยแล้ว บางตัวเอาหัวโหม่งกล่อง” เธอสังเกตว่าช้างป่าโขลงใดที่มีแม่แปรกนำมักจะพาลูกและโขลงถอยห่างจากรั้วโดยไม่เข้ามาแตะหรือตรวจดูเลย ปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรใช้รั้วรังผึ้งแล้วโดยถือว่าเป็นทั้งแนวป้องกันช้างและเป็นอาชีพทางเลือกด้วย

ปัจจุบัน นักวิจัยพบว่าช้างอาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ 69 แห่งทั่วประเทศ แต่มีพื้นที่ถึง 41 แห่งที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างและปัญหายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ช้างป่า, เจ้าหน้าที่อนุรักษ์
เมื่อ ได้รับแจ้งเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเวลาและสถานที่ใด เจ้าหน้าที่ต้องรีบรุดออกไปปฏิบัติหน้าที่ทันที

เรียนรู้ช้างเพื่อแก้ปัญหา

ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย ในอดีตอาจไม่มีใครอยากทำร้ายช้าง แต่ปัจจุบัน เมื่อช้างออกมาทำลายพืชการเกษตร ชาวบ้านหลายพื้นที่ต่างหมดความอดทน ต้องทำร้ายช้างมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี

การแก้ปัญหาด้วยการลงมือทำวิจัยและเรียนรู้พฤติกรรมช้างอย่างจริงจังในแต่ละพื้นที่ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างอันละเอียดอ่อนนี้ได้ ถึงเวลาที่นักวิทยาศาสตร์ หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้ง นักอนุรักษ์ ต้องทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อจัดการความขัดแย้งและหาทางออกของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง

เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาช้างต่างยอมรับว่า ตอนนี้เรามักมีข้อมูลไม่เพียงพอในแต่ละพื้นที่ว่า ช้างต้องการอะไร ต้องการอาหารเท่าไร หรือพื้นที่ขนาดไหนที่ช้างสามารถอยู่ได้ เรายังไม่รู้ถึงนิเวศและพฤติกรรมของช้างอย่างชัดเจน ถ้าช้างมีพื้นที่อาศัย มีนํ้า มีอาหารเพียงพอ ย่อมไม่ออกไปบุกรุกพื้นที่เกษตรของมนุษย์

“นับแต่ปัญหาช้างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2547-2549 ที่ช้างตัวแรกเริ่มก้าวออกจากป่าอนุรักษ์และมีปัญหากับคน ปัญหาช้างก็ก้าวไปเร็วกว่างานศึกษาวิจัย ผมเชื่อว่าทุกวันนี้หน่วยงานต่าง ๆ เริ่มเข้าใจแล้วว่า ต้องใช้ข้อมูลในการแก้ปัญหามากกว่าจินตนาการ และต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องด้วย เพราะเรากำลังรับมือกับสัตว์ที่ฉลาดและปรับตัวได้กับสถานการณ์ใหม่ ๆ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามปัญหาและสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น” ดร. ศุภกิจกล่าว

เขาเสริมว่า “เรากำลังรับมือกับสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับคนมาก เพียงแต่ว่าการสื่อสารของเราไม่ตรงกัน เรามีภาษาของเรา ช้างก็มีภาษาของเขา เราจึงพยายามแทรกตัวเองเข้าไปในความคิดของอีกฝ่ายว่า ช้างกำลังคิดอะไรอยู่ เพื่อเรียนรู้ว่าเขาต้องการอะไร เขาคิดอะไร วันหนึ่งถ้าเราเข้าใจข้อมูลพวกนี้ได้อย่างหมดจด ผมเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาของคนกับช้างจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น และมีพัฒนาการในเชิงบวกเร็วกว่าในปัจจุบัน”

ทุกวันนี้ การสูญพันธุ์ของสัตว์หลายชนิดส่วนหนึ่งมาจากการสูญเสียถิ่นอาศัย ปัญหาโลกร้อน การลดลงของพื้นที่ป่า ภัยแล้ง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ผลักดันให้ช้างออกมาจากป่าเพื่อหาอาหาร เพียงเพราะว่าช้างไม่ยอมอดตายอยู่ในป่า

ดร.ศุภกิจกล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอาจมีความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่า อาจจะสูญพันธุ์ แต่ช้างไม่ยอมให้เผ่าพันธุ์ตัวเองจบลงในพื้นที่ป่า

“พวกเขาไม่ยอมตายแน่นอน”

เรื่อง วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ภาพ อรุณ ร้อยศรี

จากโครงการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมช้างป่าในพื้นที่ป่าตะวันออก

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช – WWF ประเทศไทย

 

ติดตามสารคดี ปัญญาแห่งช้างป่า ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/576825


อ่านเพิ่มเติม มองโลกผ่านเลนส์ ปางช้าง ในช่วงโควิด กับ จิตรภณ ไข่คำ

 

Recommend