ฉลามจำนวนมากอยู่มานานเป็นร้อยปี

ฉลามจำนวนมากอยู่มานานเป็นร้อยปี

ทุกวันนี้ มนุษย์เราดูอ่อนกว่าอายุจริงกันหมด ในฉลามเองก็เช่นกัน

เมื่อทศวรรษก่อน เริ่มมีการศึกษาอายุขัยของปลาฉลาม และนักวิทยาศาสตร์พบว่าพวกมันอาจมีอายุยืนยาวมากกว่าที่คิด ทุกวันนี้ข้อมูลใหม่จากผลการศึกษามากกว่า 50 ชิ้น ช่วยให้เราสามารถประเมินอายุขัยของบรรดาปลาฉลาม ปลากระเบน และปลากระดูกอ่อนได้ดียิ่งขึ้น

ต้องขอขอบคุณวิธีการหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีที่ช่วยให้การคาดคะเนอายุขัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แทนที่การนับการเจริญเติบโตของชั้นแคลเซียมบนข้อต่อกระดูกสันหลังแบบเดิมๆ รายงานจาก Alastair Harry นักวิทยาศาสตร์การประมงจากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ในออสเตรเลีย

ผลการศึกษาใหม่นี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Fish and Fisheries ชี้ว่าฉลามจำนวนมาก ตั้งแต่ฉลามขาวไปจนถึงฉลามเสือทรายและฉลามดัสกี้ล้วนตะลอนอยู่ในผืนมหาสมุทรมาแล้วหลายสิบปี ยาวนานกว่าที่เราคิดไว้

และเมื่อปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบฉลามที่มีอายุมากที่สุดในโลก ที่น่านน้ำอันหนาวเย็นในทะเลอาร์กติก มันคือฉลามกรีนแลนด์ จากการตรวจสอบคาดว่าฉลามตัวนี้มีอายุ 272 ปี

จากการตรวจสอบรายงานการศึกษาทั้ง 53 ชิ้น Harry เปิดเผยว่า ในฉลามที่ถูกศึกษาวิจัยนี้ มี 30% ที่อายุขัยถูกประเมินต่ำไป

ปลาฉลามขาว
เชื่อกันว่าอายุขัยของปลาฉลามขาวที่นักวิทยาศาสตร์ประมาณได้นั้นยังต่ำกว่าอายุขัยจริงของมัน

การประมาณอายุขัยของปลาฉลามนั้นแท้จริงแล้วค่อนข้างยุ่งยากอยู่พอตัว ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์วัดอายุจากชั้นของแคลเซียมคาร์บอเนตภายในข้อต่อกระดูกสันหลังของฉลาม เช่นเดียวกับการนับวงปีของต้นไม้

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้ไม่ต่างจากงานศิลปะ นักวิทยาศาสตร์ต้องเพ่งมองจำนวนที่แตกต่างกันและบางครั้งคำตอบที่ได้เป็นค่าเฉลี่ย ข้อมูลจาก George Burgess อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ในฟลอริดาภาคการวิจัยฉลามกล่าว

แต่ Harry กล่าวว่า ผลการศึกษาใหม่ชี้ให้เห็นว่า ฉลามที่มีอายุมากๆ กลับมีแถบการเติบโตของแคลเซียมที่ไม่สอดคล้องกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่าวิธีการนี้ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่แม่นยำเสมอไป

Gregor Cailliet ศาสตราจารย์จากห้องปฏิบัติการ Moss Landing Marine ในแคลิฟอร์เนีย ผู้ศึกษาเกี่ยวกับอายุขัยของฉลามมาตั้งแต่ปี 1970 กล่าวว่าวิธีการนับแถบแคลเซียมนั้นมีทั้งข้อดี ข้อเสีย และข้อน่ารังเกียจ “ข้อดีก็คือการเติบโตของมันเป็นเหมือนกันในทุกฉลาม ข้อเสียก็คือมันอาจไม่ได้บอกอะไร และข้อที่น่ารังเกียจก็ตรงที่ข้อมูลที่ได้จะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง” นอกจากนั้น Cailliet ยังกล่าวเสริมว่าการวัดอายุทำนองนี้ยังเป็นเรื่องยากสำหรับฉลามที่มีอายุมากแล้ว

สำหรับวิธีที่เชื่อถือได้มากกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์พบว่า พวกเขาสามารถทราบอายุของปลาฉลามได้จากการวัดไอโซโทปของคาร์บอน ไอโซโทปเหล่านี้เป็นเหมือนกับ “แสตมป์เวลา” สำหรับปลาฉลามที่มีชีวิตอยู่ในช่วงที่มีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ช่วงปี 1950 – 1960 การทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ส่งผลให้อะตอมของไอโซโทปคาร์บอนปะปนลงไปในน้ำทะเลและแทรกซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อของสัตว์ทะเล ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์คำนวณอายุขัยของฉลามได้ง่ายขึ้นจากการตรวจสอบคาร์บอนกัมมันตรังสี (ดูผลกระทบจากการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ได้ ที่นี่ )

ในปี 2007 ทีมนักวิจัยตรวจวัดไอโซโทปจากฉลามพอร์บีเกิลในนิวซีแลนด์ พวกเขาพบว่าฉลามตัวดังกล่าวมีอายุราว 65 ปี หรือแก่กว่านั้น ซึ่งเป็นอายุที่มากกว่า 2 เท่าจากการตรวจวัดด้วยแถบแคลเซียมในแบบเดิม

รายงานวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุของฉลามกำลังเป็นที่ต้องการ ในจำนวน 1,200 สายพันธุ์ที่เรารู้จักของปลาฉลามและปลากระเบน มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้นที่ถูกศึกษาแล้ว

ฉลามเสือทราย
ปลาฉลามเสือทรายก็เป็นฉลามอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีอายุขัยยืนยาวกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดคิดไว้

แต่กระบวนการนับอายุด้วยแถบแคลเซียมของ Harry กำลังสร้างความกังวล “ผมไม่สงสัยเลยว่าปลาพวกนั้นคงจะมีอายุที่ยืนยาวกว่านี้ ถ้าไม่ได้เอามาวัดอายุ นั่นเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก” Burgess กล่าว ด้านหน่วยงานอนุรักษ์เองก็แสดงความกังวลว่ากระบวนการวัดอายุของปลาฉลาม อาจส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อประชากรฉลาม

ปลาออเร้นจ์ รัฟฟี่คือตัวอย่าง ปลาทะเลน้ำลึกเหล่านี้เคยถูกคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะมีอายุขัยราว 30 ปี และแนวทางการประมงปลาเหล่านี้ถูกวางแผนขึ้นจากความคิดดังกล่าว แต่ในที่สุดพวกเขาก็ค้นพบว่าปลาชนิดนี้มีอายุได้ยืนยาวเป็น 100 ปี และสามารถผสมพันธุ์ได้ใหม่เรื่อยๆ หลายต่อหลายครั้ง ปัจจุบันปลาสายพันธุ์นี้กำลังได้รับการฟื้นฟูและปกป้องจากการทำประมง…และนี่คือตัวอย่างของงานด้านวิทยาศาสตร์

เรื่อง อลิซาเบธ อาร์มสตรอง มัวร์

อ่านเพิ่มเติม : ความรู้ประจำวัน : ฉลามเรืองแสงได้เผชิญหน้ากับฉลามหัวค้อนแบบ 360 องศา

Recommend