ถ้าคุณชอบมะเขือเทศ อย่าลืมนึกขอบใจ ผึ้งพื้นเมือง ที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่ออยู่เบื้องหลังผลผลิตสีแดงสวยสดที่คุณนำไปรับประทาน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาให้ความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่าของแมลงนักผสมเกสรที่มักจะถูกมองข้าม ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
ถ้ามิกซ์เบอร์รีสมูทตี้และโทสต์อะโวคาโดคือเมนูโปรดของคุณ ถึงเวลาแล้วที่คุณควรจะหันมาสนใจและตระหนักถึงคุณค่าของ ผึ้งพื้นเมือง ที่คอยบินผสมเกสรให้บรรดาเบอร์รี อะโวคาโด และพืชพรรณนานาชนิดจนผลิดอกออกผลมาให้คุณได้รับประทาน
เมื่อกล่าวถึงผึ้งแล้ว ภาพของผึ้งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือแมลงตัวสีดำสลับเหลือง หรือผึ้งพันธุ์จากยุโรปซึ่งปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่พบเห็นได้ทั่วไป ผึ้งจากยุโรปนั้นกลายเป็นภาพจำที่คุ้นตา จนในบางครั้งผู้คนอาจหลงลืมไปว่าในทวีปอเมริกาเหนือนั้นมีผึ้งป่าราว ๆ 4,000 ชนิดอาศัยอยู่
ในปี 2014 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 20 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันผึ้งโลก” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผู้ช่วยกลุ่มสำคัญในระบบนิเวศ ซึ่งทำหน้าที่ผสมเกสรให้แก่พืชอาหารกว่าร้อยละ 75 บนโลก
นอกจากผึ้งจะมีหลากชนิดหลายสายพันธุ์แล้ว แมลงนักผสมเกสรเหล่านี้ยังมีขนาดเล็กใหญ่ที่หลากหลาย นับตั้งแต่ผึ้งพันธุ์ Perdita minima ในทะเลทรายโซนอรันที่มีขนาดเล็กประมาณปลายสีเทียน ไปจนถึงผึ้งขนาดใหญ่อย่างแมลงภู่ซึ่งทำหน้าที่ผสมเกสรให้พืชอาหารที่ถูกบริโภคในจำนวนมาก เช่น มะเขือเทศ พริก และมะเขือยาว ผึ้งพื้นเมืองราว ๆ ร้อยละ 70 ในสหรัฐอเมริกามักจะทำรังใต้พื้นดินมากกว่าสร้างรังขึ้นตามที่ต่าง ๆ แบบผึ้งน้ำหวาน วิถีชีวิตใต้ดินของผึ้งพื้นเมืองเหล่านั้นจึงทำให้พวกมันไม่เป็นที่รู้จักและถูกผู้คนมองข้ามไป
ยาฆ่าแมลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยทำให้ราว ๆ 1 ใน 4 ของผึ้งพื้นเมืองของอเมริกาตกอยู่ในอันตราย ในปี 2016 องค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ (United States Fish and Wildlife Service: USFWS) ได้จัดให้ผึ้ง yellow-faced ซึ่งอยู่ในสกุล Hylaeus genus ทั้งหมด 7 ชนิดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ พวกมันถือเป็นผึ้งชนิดแรก ๆ ที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียน
อย่างไรก็ดี ในขณะนี้มีเรื่องน่ายินดีเกี่ยวกับผึ้งเกิดขึ้นในอเมริกาแล้ว เพราะชาวสวน นักวิชาการ รวมไปถึงประชาชนทั่วไปต่างก็ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกมัน ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผึ้งพื้นเมืองมากขึ้น และนำวิธีการดี ๆ มาใช้เพื่อช่วยอนุรักษ์ให้แมลงนักผสมเกสรเหล่านี้ไม่สูญหายไป สำหรับบทความนี้ ทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกได้เลือก 2 โครงการที่นักอนุรักษ์ผึ้งชาวอเมริกันใช้เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผึ้งพื้นเมืองมาแบ่งปันกับผู้อ่านทุกท่าน
- โครงการโรงเรียนผึ้ง
มูลนิธิ Planet Bee Foundation ซึ่งตั้งอยู่ในซานฟรานซิสโก เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจจำนวนมาก เพื่อจัดโครงการและกิจกรรมขึ้นตามโรงเรียน สถานที่ทำงาน และชุมชนต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งพื้นเมือง
“เราจะนำทุนที่ได้มาจากพันธมิตรทางธุรกิจไปบริหารจัดการแล้วส่งต่อไปยังโรงเรียนที่ต้องการการสนับสนุนครับ” เจสัน เกรแฮม (Jason Graham) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และนักกีฏวิทยาของมูลนิธิ Planet Bee กล่าว
ในหนึ่งโครงการ มูลนิธิ Planet Bee จะมอบห้องเรียนพร้อมกับบ้านสำหรับผึ้งพื้นเมืองหลายหลังให้กับทางโรงเรียน เด็ก ๆ จะมีหน้าที่นำบ้านไปติดตั้งไว้นอกห้องเรียนโดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิคอยดูแลและช่วยเหลือ ในบางโรงเรียน ทางมูลนิธิพบว่ามีผึ้งสันโดษ (Solitary bee) เข้าไปอาศัยร่วมกันอยู่ในบ้านรังผึ้งที่ติดตั้งไว้
“เด็ก ๆ เหล่านี้จะเป็นคนรุ่นต่อไปที่จะช่วยเราอนุรักษ์ผึ้งพื้นเมืองครับ” เกรแฮมกล่าว พร้อมเสริมว่า “เราไม่ควรพึ่งพาผึ้งเพียงสายพันธุ์เดียวในการทำเกษตรกรรม”
นอกจากนั้นแล้ว มูลนิธิ Planet Bee ยังจัดเวิร์กช็อปกิจกรรมเกี่ยวกับผึ้ง เช่น กิจกรรมชิมน้ำผึ้ง หรือทัศนศึกษาเพื่อตามหาผึ้งให้กับบริษัทต่าง ๆ โดยค่าเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้จะถูกเก็บเป็นเงินทุนสำหรับส่งเสริมโครงการของโรงเรียนต่อไป
- โครงการร่วมด้วยช่วยกันสังเกตผึ้งบัมเบิลบี
“คนมักจะไม่คิดว่าสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างผึ้งหรือแมลงเป็นสัตว์ป่าเหมือนกับพวกสัตว์ตัวใหญ่ ๆ ครับ” ริช แฮตฟิลด์ (Rich Hatfield) นักชีววิทยาการอนุรักษ์อาวุโสจาก Xerces Society for Invertebrate Conservation กล่าว “ถ้าพูดถึงการสำรวจประชากรผึ้งพื้นเมือง ผมพูดได้เลยครับว่าเรายังตามหลังการสำรวจนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอยู่หลายสิบปี” เขาเสริม
เพื่อให้การสำรวจและศึกษาผึ้งพื้นเมืองพัฒนาตามทัน ทาง Xerces จึงได้เชิญชวนให้ผู้คนส่งผลการสังเกตผึ้งบัมเบิลบีหรือผึ้งหึ่งของตนเองไปทางเว็บไซต์ จดหมาย และช่องทางโซเชียลมีเดียขององค์กร ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา มีผึ้งบัมเบิลบีรวม 35 สายพันธุ์ ถูกพบเห็นมากกว่า 65,000 ตัว ข้อมูลที่ทาง Xerces ได้มานั้นถูกนำไปใช้ในโครงการ Bumble Bee Atlas ซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามร่วมกันเพื่อติดตามและอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งบัมเบิลบีพื้นเมือง
“โครงการพวกนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในแง่ของเอ็นเกจเมนต์จากคนหลายพันคนและการรวบรวมข้อมูลจริงที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดได้หลายรูปแบบครับ”แฮตฟิลด์กล่าว
“ผึ้งบัมเบิลบีเป็นสัตว์ป่า” เขาย้ำ พร้อมกล่าวเสริมต่อว่า “คนที่มีสวนหลังบ้านก็เหมือนมีซาฟารีเวิลด์อยู่ในรั้วแล้วครับ พวกเขาแค่ต้องหาตัวสัตว์ป่าเหล่านั้นให้พบ”
เรื่อง ลิซ แลงลีย์
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ