ทำไมแมวต้องข่วนเบาะหรือโซฟา งานวิจัยใหม่ให้เหตุ ผลบางประการและวิธีที่หยุดพฤติ กรรมของเจ้าเหมียวเหล่านั้น ก่อนที่เฟอร์นิเจอร์ทั้งบ้ านจะเสียหาย
เจ้าของแมวหลายคนคงเคยผ่านประสบการณ์ แมวข่วนเบาะ ทำบายโซฟาตัวโปรดให้พังพินาศจนนั่งกันไม่ได้ และแม้เราจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า แมวนั้นมีสัญชาตญาณในการใช้กรงเล็บเพื่อทำอะไรบางอย่าง แต่ก็มักจะอดสงสัยไม่ได้ทุกว่า ทำไมแมวต้องข่วนเบาะ
ตามรายงานใหม่ล่าสุดที่เผยแพร่ไว้ในวารสาร Frontiers in Veterinary Science ได้เผยเหตุผลบางประการที่อาจเป็นปัจจัยผลักดันในการทำพฤติกรรมนี้ของแมว และเสนอวิธีแก้ไขให้กับเจ้าของที่ต้องคอยเก็บกวาดเศษซากการทำลายล้างของเพื่อนขนปุยตัวนี้
“เราได้เห็นว่าปัจจัยบางอย่างเช่น การมีเด็ก ๆ อยู่ในบ้าน ลักษณะบุคลิกภาพของแมว และระดับกิจกรรมของพวกเขา มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อขอบเขตของพฤติกรรมการข่วน” ดร.ยาเซทิน ซัลเกิร์ลี เดเมียร์บาส (Yasemin Salgirli Demi̇rbas) นักวิจัยจากสาขาสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยอังการา ในประเทศ ตุรกี กล่าว
“การค้นพบของเราสามารถช่วยผู้ดูแลจัดการ และเปลี่ยนเส้นทางการข่วนไปยังวัสดุที่เหมาะสม ซึ่งสามารถช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่กลมกลืนกันมากขึ้น สำหรับทั้งแมวและผู้ดูแล” ดร. ซัลเกิร์ลี เดเมียร์บาส กล่าวเสริม
เด็ก การเล่น และบุคลิกภาพ
ในการศึกษานี้ ทีมวิจัยได้สำรวจเจ้าของแมวมากกว่า 1,200 ในฝรั่งเศส เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ลักษณะเฉพาะ และพฤติกรรมการข่วนที่ไม่พึงประสงค์ของแมว ด้วยวิธีที่เรียบง่ายเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นรูปแบบบางอย่างที่มีอิทธิพล
โดยหลักแล้วทีมวิจัยระบุว่า ‘ความเครียด’ เป็นสาเหตุหลักของการข่วนที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยแวดล้อมบางอย่างโดยเฉพาะกับช่วงเวลาที่มี ‘เด็กเล็ก’ อยู่ในบ้านในบริเวณเดียว กับที่แมวอยู่ แม้ว่าเด็ก ๆ ที่เป็นมนุษย์ยังตัวเล็ก แต่นักวิทยาศาสตร์ะบุว่า นั่นก็สามารถเพิ่มความเครียดให้กับแมวได้
ในขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งคือ ‘ความสนุก’ โดยความสนุกนี้ไม่ได้หมายถึงความสนุกที่เกิดจากการข่วนโซฟา แต่เป็นความสนุกที่เกิดจากการเล่น ทางนักวิจัยได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า หากเจ้าของหรือผู้ดูแล พยายามกระตุ้นให้แมวเล่น ‘มากเกินไป’ และ ‘ต่อเนื่อง’ อะไรที่มากเกินไปก็อาจสร้างความเครียดให้กับแมวได้
นอกจากนี้แมวที่เจ้าของระบุว่ามักจะมีบุคลิกนิสัยที่ไปทางก้าวร้าวและซุกซนก็มีพฤติกรรมการข่วนมากกว่าแมวทั่วไปเช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้แมวเกิดความเครียด ซึ่งส่งผลต่อไปยังการข่วนโซฟาอย่างที่เห็น
“เราเห็นความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมบางอย่างกับการข่วนของแมวที่เพิ่มขึ้น”ดร. ซัลเกิร์ลี เดเมียร์บาส บอก “โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีเด็ก ๆ อยู่ในบ้าน รวมถึงการเล่นที่อยู่ในระดับสูงและกิจกรรมการออกหากินตอนกลางคืน มีส่วนทำให้การข่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แมวที่อธิบายว่าก้าวร้าว หรือก่อกวนก็มีการข่วนในระดับที่สูงกว่าเช่นกัน
วิธีจัดการเจ้าตัวร้ายขนปุย
แม้ว่าปัจจัยบางอย่างที่มีผลทำให้แมวเกิดพฤติกรรมการข่วนที่ไม่พึงประสงค์อย่าง บุคลิกภาพ และการมีเด็กเล็กอยู่รอบ ๆ นั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าปัจจัยอื่น ๆ สามารถจัดการได้อย่างง่าย ๆ เช่นการวางเสาลับเล็บในบริเวณที่มีแมวเดินผ่าน หรือใกล้กับจุดพักผ่อนของแมว ก็สามารถช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดกับเฟอร์นิเจอร์ของเราได้ ขณะเดียวกันก็สร้างพื้นที่ให้แมวได้เข้าไปหลบซ่อนอยู่อย่างสงบ เช่นโพรง หรือจุดพักที่อยู่สูง ก็เป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดแมวข่วนโซฟาได้
“การจัดหาสถานที่หลบซ่อนที่ปลอดภัย จุดสังเกตที่สูง และโอกาสในการเล่นที่กว้างขวาง ก็สามารถบรรเทาความเครียดและดึงดูดให้แมวทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์มากขึ้นได้” ดร. ซัลเกิร์ลี เดเมียร์บาส กล่าว
ไม่ควรกระตุ้นให้แมวเล่นมากเกินไป กลับกัน ให้การเล่นแต่ละครั้งนั้นเลียนแบบสถานการณ์การล่าเหยื่อของแมวที่แมวสามารถเลือกเวลาเล่นเองได้ จะช่วยลดความเครียดให้น้อยลง รวมถึงการเล่นกับแมวโดยเจ้าของเป็นเวลาสั้น ๆ ก็จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น วิธีเหล่านี้ทำให้เจ้าตัวร้ายกลายเป็นเพื่อนขนปุยสุดน่ารักของเจ้าของได้
“การทำความเข้าใจแรงจูงใจทางอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ในพฤติกรรมข่วน เช่น ความหงุดหงิด ซึ่งดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับลักษณะบุคลิกภาพและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมนี้ ช่วยให้ผู้ดูแลสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยตรง” ดร. ซัลเกิร์ลี เดเมียร์บาส บอก
ทีมวิจัยได้เน้นย้ำว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกหลายประเด็นเช่น ทำไมการมีเด็กอยู่รอบ ๆ ถึงทำให้แมวเครียดได้? (แต่ไม่ใช่ทุกตัว) คำถามเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของแมว และต่อยอดไปยังวิธีการจัดการกับสิ่งไม่พึงประสงค์ได้มากขึ้น
สำหรับวิทยาศาสตร์แล้ว แมวเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งศึกษาเท่าไหร่ก็ยิ่งพบกับความลึกลับมากขึ้นเท่านั้น แต่มันก็ไม่ได้ทำให้มนุษย์หยุดหลงใหลสัตว์เลี้ยงสุดน่ารักที่เอาแต่ใจชนิดนี้ และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ใครหลายคนหลงรักแมว
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพประกอบ แมวในสวนสัตว์ซินซินนาติและศูนย์อนุรักษ์และวิจัยสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์
by MADELEINE HORDINSKI on National Geographic
ที่มา