งานวิจัยเผย สุนัขสื่อสารกับมนุษย์ได้จริง ผ่านแผงเสียงคำพูด

งานวิจัยเผย สุนัขสื่อสารกับมนุษย์ได้จริง ผ่านแผงเสียงคำพูด

งานวิจัยใหม่ชี้สุนัขสามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้โดยใช้แผงเสียงคำพูด น้องหมาสามารถเข้าใจและตอบสนองต่อบางคำได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาอาจเข้าใจคำเหล่านั้นว่ามีความหมายอย่างไรได้จริง ๆ

กลายเป็นหัวข้อแห่งการถกเถียงเมื่อไม่นานมานี้ในหมู่คนรักสุนัขว่า มนุษย์กับน้องหมาจะสามารถสื่อสารกันโดยใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘แผงเสียงคำพูด’ หรือ soundboards ที่เมื่อสุนัขไปกดปุ่มก็จะมีเสียงพูดของคำคำนั้นเปล่งออกมา

ปัจจุบันนักวิจัย มองว่า พวกเขาได้คำตอบของก้าวแรกในการเข้าใจพฤติกรรมนี้แล้ว โดยเผยให้เห็นว่าสุนัขที่ได้รับการฝึกให้ใช้เครื่องมือดังกล่าวสามารถตอบสนองต่อคำที่บันทึกไว้ล่วงหน้าได้เช่นเดียวกับการตอบสนองต่อคำพูดที่ถูกฝึกไว้

“เราแสดงให้เห็นว่าสุนัขให้ความสนใจแก่คำในแผ่นเสียง และพวกเขาก็แสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมโดยไม่คำนึงถึงสัญญาณจากสิ่งแวดล้อมและผู้ที่เปล่งคำนั้นออกมา แม้ว่าการศึกษานี้จะไม่ได้น่าทึ่งมากนัก แต่ก็เป็นก้าวแรกที่จำเป็น” รองศาสตราจารย์ เฟเดอริโก โรซ์ซาโน (Federico Rossano) จากภาควิชาวิทยาศาสตร์การรับรู้ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก กล่าว

น้องหมาช่างพูด

หากคุณเป็นคนรักน้องหมาและชอบเล่นโซเชียลมีเดีย คุณคงอาจเคยเห็นคลิปวิดีโอแห่งความน่ารักนี้ ซึ่งมักจะเป็นเหตุการณ์ที่มนุษย์(เจ้าของสัตว์เลี้ยง)พูดอะไรบางอย่างกับสุนัข จากนั้นพวกมันก็ตอบกลับด้วยการกดปุ่มบนแผงเสียง ซึ่งทั้งสร้างความขบขันและสร้างความสงสัยว่าน้องหมาตั้งจะที่จะสื่อแบบนั้นจริง ๆ หรือไม่? หรือเป็นเพียงแค่สัญชาตญาณที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อคำพูดจากเจ้าของเท่านั้น?

งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร PLOS ONE ซึ่งนำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ จึงได้ทดสอบสมมติฐานดังกล่าว เพื่อให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรับรู้และการสื่อสารของสุนัขให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

พวกเขาได้สร้างการทดลองสองครั้งในสุนัขจำนวน 59 ตัวโดยทั้งหมดถูกฝึกให้ใช้แผงเสียง สำหรับการทดสอบโดยครั้งแรกทีมวิจัยได้ทดสอบแบบตัวต่อตัวด้วยการไปเยี่ยมบ้านของน้องหมา 30 ตัว และอีกครั้งคือทดสอบผ่านระยะไกลทั่วประเทศเพื่อดูว่าสุนัขตอบสนองอย่างไรต่อปุ่มเสียงต่าง ๆ เช่นคำว่า ‘out, outside, play, toy, eat, dinner หรือ hungry

นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มต้นด้วยการให้ทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยงมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยที่นักวิจัยอีกคนหนึ่งจะไม่ทราบว่าปุ่มใดคือคำไหนและจะไม่ได้ยินคำที่ปุ่มเหล่านั้นเปล่งเสียงออกมา จากนั้นจึงกดปุ่มหนึ่งในบรรดาปุ่มเหล่านี้ เจ้าของสุนัขเองก็จะได้ทำการทดลองที่คล้ายกันแต่ให้เลือกเองว่าจะกดปุ่มใดปุ่มหนึ่งหรือพูดคำคำนั้นเอง และพฤติกรรมทั้งหมดของสุนัขจะถูกบันทึกไว้

ผลลลัพธ์เผยให้เห็นว่าเมื่อน้องหมากดปุ่ม ‘play หรือ toy’ แล้วก็จะมีโอกาสแสดงพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการเล่นมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 7 เท่า หรือกล่าวอย่างง่ายว่าพวกเขามีพฤติกรรทที่เหมาะสมกับคำดังกล่าว เช่นเดียวกับปุ่มคำพูด ‘out’ ที่น้องหมาแสดงท่าทางกระตือรือร้นใกล้เคียงกับการเล่น

สิ่งสำคัญคือ ผลลัพธ์ยังคงเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยหรือเจ้าของที่กดปุ่ม และไม่ว่าเจ้าของจะกดปุ่มหรือพูดคำเดียวกันก็ตาม

“การศึกษาวิจัยครั้งนี้กล่าวถึงข้อสงสัยของสาธารณชนว่าสุนัขเข้าใจความหมายของปุ่มเหล่านั้นจริง ๆ หรือไม่?” โรซ์ซาโน กล่าวว่า “ผลการศึกษาของเรามีความสำคัญเนื่องจากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าคำดังกล่าวมีความสำคัญต่อสุนัข และสุนัขตอบสนองต่อคำพูดเหล่านั้นเอง ไม่ใช่แค่ต่อสัญญาณที่เกี่ยวข้องเท่านั้น”

การศึกษาที่เพิ่งเริ่มต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ เช่นศาสตราจารย์ ไคลฟ์ วินน์ (Clive Wynne) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยพฤติกรรมสุนัข แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยกล่าวถึงการศึกษาใหม่นี้ว่า เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าสุนัขทำได้

“ไม่มีอะไรที่น่าตกใจเกี่ยวกับเรื่องนี้” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าแม้งานวิจัยนี้จะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ กระนั้นมันก็ช่วยยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นและได้วากรากฐานสำหรับการวิจัยในอนาคต ที่จะแสดงความสามารถของสุนัขให้มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันที่ โรซ์ซาโน ว่าไว้

“การศึกษานี้ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น การศึกษาในอนาคตจะสำรวจว่าสุนัขใช้ปุ่มเหล่านี้อย่างไร รวมถึงความหมายและความเป็นระบบเบื้องหลังลำดับการกดปุ่ม” โรซ์ซาโน กล่าว “การวิจัยของเราเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาสัตว์ในสภาพแวดล้อมที่บ้านของพวกมัน ซึ่งจะทำให้เข้าใจความสามารถได้ถูกต้องตามหลักนิเวศวิทยามากยิ่งขึ้น

ขณะที่คนอื่น ๆ เริ่มตื่นเต้นเกี่ยวกับงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง (การวิจัย) สุนัขจำเป็นต้องแสดงสิ่งนี้จริง ๆ และตอนนี้ฉันคิดว่าชุมชนนักวิทยาศาสตร์กำลังรอส่วนที่เหลืออยู่ ซึ่งน่าตื่นเต้นมาก” ดร. เมลิสา เบอร์เตต์ (Mélissa Berthet) จากมหาวิทยาลัยซูริก กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : National Geographic

ที่มา

https://phys.org

https://www.washingtonpost.com

https://www.theguardian.com

https://today.ucsd.edu/story/dogs-understand-words-from-soundboard-buttons-study-reveals


อ่านเพิ่มเติม : FOMO ในโลกแมว วิจัยเฉลยสาเหตุ ทำไมน้องเหมียวไม่ชอบให้มนุษย์ปิดประตู?

Recommend