ความสามารถในการเลียนภาษาและใช้คำภาษาอังกฤษในบริบทที่ถูกต้องของอเล็กซ์ กระตุ้นให้เกิดการศึกษานกแก้วเพื่อสร้างความกระจ่างในเรื่องต้นกำเนิดของการเรียนรู้การเปล่งเสียง อันเป็นความสามารถในการเลียนเสียงอย่างมีวัตถุประสงค์ นี่เป็นทักษะที่นกแก้วมีเหมือนกันกับนกจับคอน นกฮัมมิงเบิร์ด มนุษย์ ซีเทเชียนหรือสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์อื่นอีกไม่กี่ชนิด
ในที่สุดการค้นพบส่งผลให้ทีมนักวิจัยนานาชาติทบทวนแบบจำลองกายวิภาคระบบประสาทนกของเอดิงเงอร์ที่ยอมรับกันมานาน เมื่อปี 2005 พวกเขาประกาศผลการประเมินใหม่ซึ่งเผยว่า สมองนกมีโครงสร้างทางประสาทที่เรียกว่า แพลเลียม (pallium) คล้ายสมองชั้นนอกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และบริเวณอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการคิดที่ซับซ้อน พวกเขาสนับสนุนให้นำชุดคำศัพท์และความเข้าใจกายวิภาคระบบประสาทของนกแบบใหม่นี้มาใช้
ปัจจุบัน นกโดยเฉพาะวงศ์กาและวงศ์นกแก้วได้รับการยกย่องว่าเป็น “เอปมีขนนก” เนทาน เอเมอรี นักชีววิทยาเป็นผู้ให้สมญานี้แก่นกวงศ์กาในรายงานที่เขาเขียนร่วมกับเคลย์ตัน ผู้เป็นภรรยา โดยให้เหตุผลว่า นกวงศ์กาและเอปวิวัฒน์ความสามารถในการคิดที่ซับซ้อนขึ้นมาอย่างชัดเจน แม้ว่าพวกมันเกี่ยวข้องกันห่างๆ กล่าวคือ สัตว์ทั้งสองกลุ่มแยกสายวิวัฒนาการจากกันเมื่อกว่า 300 ล้านปีก่อน เพราะได้รับแรงกดดันคล้ายกัน ทั้งสองกลุ่มอาศัยอยู่เป็นกลุ่มสังคม ซึ่งต้องเข้าใจแรงจูงใจและความต้องการของสมาชิกตัวอื่น พวกมันค้นหาอาหารที่หลากหลาย อาหารบางชนิดจะได้มาก็ต่อเมื่อต้องทำเครื่องมือขึ้นมาใช้ก่อนเท่านั้น ชิมแปนซี อุรังอุตัง และนกเพียงชนิดเดียวคือกาพันธุ์นิวแคลิโดเนีย เป็นเลิศด้านการทำเครื่องมือขึ้นมาใช้ในธรรมชาติ
ชมความงดงามและความหลากหลายของสายพันธุ์นก เนื่องในปีแห่งนกกัน
นกสีดำเงางามซึ่งมีบรรพบุรุษเกี่ยวข้องกับกาพันธุ์อเมริกาเหนือนี้อาศัยอยู่บนเกาะเพียงสองเกาะทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกในนิวแคลิโดเนีย วันหนึ่งเมื่อปี 1993 แกวิน ฮันต์ นักนิเวศวิทยาจากนิวซีแลนด์ สังเกตเห็นกาตัวหนึ่งที่นั่นซ่อนสิ่งของแปลกๆไว้ในต้นไม้
“มันเป็นสิ่งที่ปัจจุบันเราเรียกว่า ‘เครื่องมือรูปขั้นบันได’ ครับ” ฮันต์บอก พลางเลือกสิ่งที่ว่านี้ออกมาจากกล่องกระดาษ “ทันทีที่เห็น ผมรู้ว่ามันเป็นเครื่องมือ เป็นสิ่งที่ใครสักคนออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ถ้าผมพบมันในหลุมขุดค้นทางโบราณคดี คุณจะบอกว่ามนุษย์ประดิษฐ์มันขึ้นมาครับ แต่ผมพบมันในป่า และกาสร้างขึ้นมา”
ฮันต์ยื่นเครื่องมือของกาให้ฉันชม มันยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ปลายด้านหนึ่งกว้าง อีกด้านหนึ่งเรียวลง ตรงกลางมีลักษณะเป็นขั้นบันไดเหมือนใบเลื่อย เครื่องมือสีเขียวอ่อนชิ้นนี้บางและยืดหยุ่นได้ มันถูกตัดจากใบต้นเตยทะเล ซึ่งเป็น พืชคล้ายต้นปาล์ม พบบนเกาะในเขตร้อน มนุษย์อาจใช้กรรไกรทำเครื่องมือนี้ ส่วนกาใช้จะงอยปาก ใบต้นเตยทะเลเต็มไปด้วยเส้นใยและมีขอบเป็นหนามเล็กๆ
“เนื่องจากเส้นใยที่ขนานกันเหล่านี้ ทำให้กาตัดใบเตยตามแนวทแยงมุมให้ปลายเรียวลงไม่ได้ พวกมันจึงตัดเป็นขั้นบันไดโดยเริ่มจากปลายด้านแคบก่อน” ฮันต์ตั้งข้อสังเกต