“สวัสดีครับ ผมขอให้ข้อมูลการค้นพบกะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก”
ข้อความสั้น ๆ ที่น่าตื่นเต้นจาก รศ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ ปรากฏบนกล่องข้อความของเราเมื่อเดือนที่แล้ว พร้อมกับภาพถ่ายของกะท่างน้ำ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกสีส้ม ๆ ดำ ๆ ที่ละม้ายคล้ายจิ้งจก ตุ๊กแก และซาลาแมนเดอร์ ผสมรวมกัน
สำหรับคนทั่วไป การพบกะท่างน้ำสักตัวอาจไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นเท่าไรนัก แต่สำหรับรศ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อุทิศชีวิตให้กับการศึกษากะท่างน้ำในประเทศไทย นี่คือช่วงเวลาแห่งความสำเร็จครั้งสำคัญ
รศ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงชีววิทยาในฐานะ ‘นักวิจัยกะท่างน้ำไทย’ ความหลงไหลในกะท่างน้ำของเขา เริ่มต้นขึ้นสมัยที่เขายังเป็นนิสิต(นักศึกษา) เมื่อเขาพบความแตกต่างของกะท่างน้ำที่เจอในพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์กับกะท่างน้ำหิมาลัยและสามารถระบุได้ว่าไม่น่าจะใช่ชนิดเดียวกัน นับจากนั้นเป็นต้นมาความสนใจในสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกโดยเฉพาะกะท่างน้ำก็ไม่เคยจางหายอีกเลย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาและเพื่อนร่วมทีมวิจัยได้ค้นพบกะท่างน้ำสายพันธุ์ใหม่มาแล้ว 6 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีเอกลักษณ์และความพิเศษเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็น กะท่างน้ำดอยภูคา ที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา หรือกะท่างน้ำอุ้มผางที่ลำตัวมีสีคล้ำ แต่ปลายหางสีส้มสดใส
แต่เรื่องราวของ ‘กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย’ ที่เพิ่งค้นพบล่าสุดนี้พิเศษกว่าตัวไหน ๆ และเราก็อยากเล่าให้คุณฟังถึงการค้นพบครั้งนี้
ช่วยเล่าเรื่องราวการค้นพบในวันนั้นให้เราฟังหน่อย
ผมต้องบอกก่อนว่า เราไม่คิดเลยว่าเจอ เพราะกะท่างน้ำเป็นสัตว์ที่ไม่ทิ้งร่องรอย เขาไม่ร้อง ไม่ทิ้งรอยเท้า พวกเราขึ้น ๆ ลง ๆ ดอยนั้นอยู่หลายครั้ง สุดท้ายเราเจอเขาหลบอยู่ในโคลน บนยอดดอยสอยมาลัย ที่ความสูง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ผมเห็นข่าวการพบเห็นกะท่างน้ำ บนดอยสอยมาลัย ซึ่งทีมสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าใจผิดคิดว่าเป็นซาลาแมนเดอร์ ผมเลยเกิดความสงสัยว่าทำไมสัตว์ชนิดนี้ถึงหน้าตาไม่เหมือนกะท่างน้ำทั้ง 6 ชนิดผมรู้จัก พอผมเห็นภาพกับคลิปวิดีโอที่ปรากฏออกมาในข่าว ผมก็คิดว่ามันน่าจะเป็นกะท่างน้ำงชนิดใหม่แน่ ๆ ตอนนั้น เราไปสำรวจที่นั่น 4 ครั้ง เราไปดูทุกที่ ที่คิดว่าจะมี ทุกแหล่งน้ำ ทุกลำธาร แต่เราก็ไม่เจอ
เราไม่ได้ถอดใจนะครับ แต่ว่าเราค้างคาใจ ทุกครั้งที่เรากลับลงมา เราก็พยายามตั้งสมมุติฐานว่ามีอะไรเป็นสาเหตุ เราพยายามลิสต์เป็นข้อ ๆ แล้ววางแผนว่าครั้งต่อไปเราต้องแก้ปัญหานั้นอย่างไร จนมาถึงการเดินทางครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ระหว่างเรากำลังเดินขึ้นยอดดอย เราก็พบกับแอ่งน้ำที่เต็มไปด้วยโคลนจากดินลูกรัง แอ่งน้ำนี้มีความลึกประมาณครึ่งหน้าแข้ง มันอยู่กลางถนนที่รถโฟร์วีลของนักท่องเที่ยวใช้วิ่งผ่าน ซึ่งถูกขนาบสองข้างด้วยไร่กะหล่ำปลีของชาวบ้านอีกทีหนึ่ง
จากประสบการณ์ครั้งก่อน ๆ เรารู้แล้วเจ้ากะท่างน้ำที่พวกเราตามหา อาจจะไม่อยู่ในที่ ที่พวกเราคาดว่าจะเจอ เราเลยช่วยกันเอามือควานบ่อนั้น ขุ้ยโคลนขึ้นดู จังหวะที่เจอ ผมตื่นเต้นมาก เพราะเขาหลบอยู่ในโคลน เราเจอกะท่างน้ำเพศผู้โตเต็มวัย 3 ตัว และตัวอ่อนอีก 2 ตัว แล้วเราก็เก็บตัวเต็มวัยกลับมาศึกษาอย่างละเอียด
เราขอทางอุทยานแห่งชาติไว้ ว่าเราจะเก็บตัวอย่างกะท่างน้ำมาศึกษา 5 ตัว แต่เอาเข้าจริง ผมก็เก็บตัวอย่างกะท่างน้ำเพศผู้มาแค่ 3 ตัว เพราะเราไม่รู้ว่ากะท่างน้ำชนิดนี้ มีจำนวนประชากรเท่าไหร่กันแน่ และผมก็หลีกเลี่ยงการเก็บตัวอย่างกะท่างน้ำเพศเมีย เพราะกะท่างน้ำหลายชนิดจะมีอัตราส่วนเพศเมียในธรรมชาติน้อยกว่าเพศผู้
ในการตรวจสอบและพิสูจน์ว่าเป็นสปีชีส์ใหม่หรือไม่นั้น เราต้องศึกษาสัณฐานและความแตกต่างทางพันธุกรรมอย่างละเอียด เราต้องเอาตัวอย่างกะท่างน้ำมาถ่ายรูปและวัดสัดส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ความยาวของนิ้วเท้าไปจนถึงระยะห่างของต่อมพิษข้างหัวและลำตัว ลักษณะของกะโหลก ปลายจมูก สีพื้นลำตัวและส่วนอื่น ๆ รวมไปถึงการเก็บตัวอย่างทางพันธุกรรม เพื่อเป็นตัวอย่างอ้างอิง ไว้เปรียบเทียบกับกะท่างน้ำชนิดอื่น
หากดูจากลักษณะภายนอกของสัตว์กลุ่มนี้ ที่เปรียบเทียบความแตกต่างจากรูปร่างและมุมของกะโหลก ผมก็ว่าใช่แล้ว แล้วพอศึกษาลึกขึ้นถึงระดับดีเอ็นเอ ผลดีเอ็นเอก็ยืนยันว่าใช่ในระดับที่ 4.1% เมื่อเปรียบเทียบกับญาติสนิทของเขาอย่างกะท่างน้ำเหนือ นั่นหมายความว่ากะท่างน้ำที่เราเจอบนดอยสอยมาลัย เป็นชนิดใหม่ของโลก
หรือโลกร้อนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การค้นพบนี้ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี
ผมว่ามีส่วนนะครับ โลกร้อนกำลังบังคับให้กะท่างน้ำต้องอพยพขึ้นที่สูง อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้แอ่งน้ำที่เป็นบ้านของเขา แห้งเร็วกว่าปกติ ความชื้นในอากาศก็ลดลง สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบนที่ผิวหนังบอบบางอยู่แล้วอย่างกะท่างน้ำ จึงต้องหนีขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับ 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นระดับความสูงที่เราไม่คิดว่าจะพบกะท่างน้ำมาก่อน
ตอนที่เราเจอเขา เขากำลังหลบร้อนอยู่ใต้โคลน ผมว่าเขาอาจจะไม่มีทางเลือกด้วย เลยต้องมาอยู่ที่นี่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติเลยสำหรับกะท่างน้ำในสกุลย่อย Tylototriton ที่ต้องใช้แอ่งน้ำสะอาดในการ ผสมพันธุ์ เกิด และเติบโต
สี่ครั้งแรก ผมไปหาที่แอ่งน้ำ ที่ฝาย กี่แห่งก็ไม่เจอ ผมไปรอตั้งแต่เช้า จนถึงเย็นก็ไม่เจอ เราพยายามหาทุกระดับความสูง ทุกจุดที่คาดว่าจะเจอ สุดท้ายเรากลับไปเขาเจอในแอ่งน้ำกลางถนน
แสดงว่าพวกเขาผสมพันธุ์ เกิด และเติบโตในแอ่งโคลนนั้น
ใช่ครับ ผมว่าเขากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อให้อยู่รอด สองฝั่งบริเวณนั้น ก็เต็มไปด้วยไร่กะหล่ำปลี ที่มีแต่ยาฆ่าแมลง เขาคงไม่รู้ว่าจะไปไหน เลยไปอยู่ตรงนั้น ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ…. ถ้าอุณภูมิสูงขึ้นอีก พวกเขาจะหนีไปไหนต่อ ในเมื่อตรงนั้นก็เกือบจะถึงยอดดอยแล้ว
ทำไมอาจารย์ถึงคิดว่ากะท่างน้ำจะสูญพันธุ์เพราะโลกร้อน
มันเกี่ยวข้องโดยงตรงกับสรีรวิทยาของพวกเขา ปกติสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีผิวหนังที่บางอยู่แล้ว สัตว์กลุ่มนี้ ไม่มีทั้งขนหรือเกล็ด เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือสัตว์เลื้อยคลาน โดยเฉพาะกะท่างน้ำ ผิวเขาอาจจะดูหนา ตะปุ่มปะป่ำเหมือนคางคกบ้าน แต่ความจริงผิวเขาบางและไวต่อสิ่งเร้ามาก ผิวเขาเหมือนแผ่นยางบาง ๆ นิ่ม ๆ ถ้าเจออากาศร้อนมาก น้ำก็จะระเหยออกจากร่างกายไว เขาจึงต้องอาศัยอยู่ใกล้แอ่งน้ำ เพื่อรักษาความชื้นของผิวหนังเอาไว้
และโลกร้อนก็ทำให้แอ่งน้ำ ที่เป็นบ้านของพวกเขาเริ่มแห้งขอดลง
ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ พวกเขาจับคู่ผสมพันธุ์ วางไข่ และโตในน้ำ มีการศึกษาของต่างประเทศและของกรมประมง พบว่ากะท่างน้ำจะใช้เวลา 60-100 วัน อยู่ในน้ำ ถ้าตัวอ่อนที่กำลังพัฒนาอยู่ในแอ่งน้ำนั้น พัฒนารูปร่างและขึ้นบกไม่ทันเขาก็ตาย เรื่องการสืบพันธุ์ก็น่าเป็นห่วง เพราะเขาจะเริ่มจับคู่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ฝนจะกระตุ้นเขาให้ออกจากโพรง จากที่หลบซ่อน ให้ออกมาจับคู่ผสมพันธุ์ แต่ถ้าปีไหนฝนมาช้า หรือมาน้อย เขาก็ไม่ออกมา
ในช่วงที่เขาซ่อนตัว เขาจะไม่ขยับไปไหนเลยครับ ไม่ใช่ว่าเขาจำศีลขนาดนั้น แต่เขาจะขยับตัวน้อยมาก และกินอาหารเมื่อมีเหยื่อ หรือแมลงบินผ่านตรงหน้า กะท่างน้ำสามารถอดอาหารได้เป็นเวลาหลายเดือน และจะออกมาเมื่อถูกฝนกระตุ้นเท่านั้น
ช่วงที่เขาจะจับคู่ เขาก็จะเดินหาอะไรกินอยู่ในแอ่งน้ำนั้น อาจขึ้นบกมาหาอะไรกินรอบ ๆ บ่อบ้างแล้วก็กลับลงไป ฤดูฝนเลยเป็นช่วงเวลาเดียวที่เขาจะได้กินอาหารสะสมพลังงาน ไว้ใช้สำหรับการจำศีลรอบต่อไป
โลกร้อนทำให้แมลงที่เป็นอาหารหลังของกะท่างน้ำลดลง
ใช่ครับ โลกร้อน มีแต่ข้อเสีย แต่ จริง ๆ แล้ว เคยมีการศึกษาของต่างประเทศ พบว่าโลกร้อนก็มีข้อดีกับสัตว์บางชนิดในกลุ่มนี้ (สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก) อยู่บ้าง เพราะ ในสภาพภูมิอากาศแบบอบอุ่น (Temperate climate) ‘ภาวะโลกร้อน’ จะส่งผลดีกับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ในฤดูหนาว เพราะในพื้นที่ที่อุณหภูมิติดลบ อากาศที่อุ่นขึ้นเพราะโลกร้อน จะช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดและการสืบพันธุ์ นี่เป็นข้อดีเดียวของโลกร้อน แต่ไม่ใช่กับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น (Tropical climate) อย่างบ้านเรา ที่ ‘โลกร้อน’ ทำให้ฤดูร้อนยิ่งร้อนจัด และกระทบกับทุกกิจกรรมของสัตว์กลุ่มนี้
อย่างที่เคยเล่าไปแหละครับ พวกเขาวิ่งหนีไปไกล ๆ หรือบินหนีไปเหมือนนกไม่ได้ กะท่างเป็นสัตว์ที่เคลื่อนที่ช้ามาก ดูจากลักษณะภายนอก เราอาจจะคิดว่าเขาน่าจะวิ่งเร็วเหมือนกิ้งก่าหรือจิ้งจก แต่ความจริงเขาต้วมเตี้ยมมาก การที่จะให้เขาอพยพไปอยู่ไกล ๆ จึงเป็นไปไม่ได้เลย
สถิติกำลังบอกเราว่า สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกำลังสูญพันธุ์เร็วกว่าสัตว์กลุ่มอื่น และ 41% ก็กำลังอยู่ในวิกฤตเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งไม่ได้เป็นผลจากภาวะโลกร้อนเพียงอย่างเดียว
ครับ เชื้อรา Batrachochytrium dendrobatidis หรือที่เรารู้จักในชื่อ Bd คือภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุดของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก Bd จะเข้าโจมตีที่ผิวหนังของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งสัตว์กลุ่มนี้เอาไว้หายใจและควบคุมความชุ่มชื้น เมื่อผิวหนังหนาขึ้น สัตว์กลุ่มนี้ก็จะสูญเสียความสามารถทั้งสอง ทำให้เขาขาดน้ำ หายใจไม่ออก และตายลงในเวลาต่อมา
แต่ที่แย่กว่านั้นคือ โลกร้อนทำให้ Bd กระจายตัวได้เร็วขึ้น เพราะสปอร์ของ Bd จะเคลื่อนที่และแพร่กระจายผ่านน้ำ โลกร้อนทำให้แหล่งน้ำเหือดแห้งหายไป นั่นหมายความว่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ในพื้นที่นั้น ๆ จะต้องมารวมตัวกันตามแหล่งน้ำที่มี หรืออาจจะมีแค่ที่เดียว แล้วถ้ามีตัวใดตัวหนึ่งมี Bd ก็นั่นแหละครับ….ติดกันทั้งหมด
ปกติสัตว์กลุ่มนี้จะเครียดจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ภูมิคุ้มกันเขาจะอ่อนแอลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย แต่ยังเป็นโชคดีของบ้านเราครับ ที่ยังไม่มีรายงานการพบ Bd
ทำไมกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
ในบรรดากะท่างน้ำทั้ง 7 ชนิดที่พบในไทย ผมว่าเจ้าสอยมาลัยน่าจะไปตัวแรก เพราะกะท่างน้ำชนิดอื่น มีการกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ เราพบกะท่างน้ำอีสานในหลายจังหวัด รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวด้วย ในขณะที่กระท่างน้ำดอยสอยมาลัย เราไม่พบเขาในพื้นที่อื่น และเราก็ไม่สามารถคาดเดาจำนวนประชากรของเขาได้ด้วย เพราะตอนนั้นเราพบเขาแค่ในแอ่งน้ำนั้น แอ่งเดียว
ถึงแม้ว่าพื้นที่ดอยสอยมาลัย จะอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ซึ่งมีการคุ้มครองโดยเจ้าหน้าที่และกฏหมาย แต่หากเรามองไปยังป่าโดยรอบ ที่ตอนนี้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับการเกษตรและเส้นทางท่องเที่ยว นั่นหมายความว่า ‘บ้าน’ ของกะท่างน้ำถูกรุกล้ำ พื้นที่ป่าที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์และมอเตอร์ไซค์วิบาก
ผมกลัวว่ารถจะทับตัวอ่อนตาย ถ้าอยากขึ้นไปชมความสวยงามที่จุดชมวิว ผมแนะนำว่า เราควรเดินเท้าขึ้นไปมากกว่า อย่างที่เคยกล่าวไปครับ เขาไม่มีที่ให้ไปแล้ว
เราจะช่วยกันอนุรักษ์กะท่างน้ำให้อยู่คู่ผืนป่าไทยได้อย่างไร
การอนุรักษ์กะท่างน้ำต้องเกิดขึ้นจากคนทั้ง 3 ส่วนครับ คือนักวิทยาศาสตร์ รัฐบาลหรือกฏหมาย และสุดท้ายคือคนหรือชุมชน การอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพต้องกำเนินการในหลายระดับพร้อมกัน
การอนุรักษ์ต้องเริ่มที่การปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัย กะท่างน้ำต้องการแหล่งน้ำที่สะอาดและป่าที่สมบูรณ์ เราเคยศึกษาการอพยพของกะท่างน้ำเหนือ เราพบว่าเขาจะไม่เดินไปไหนไกลกว่า 111.8 เมตร จากแอ่งน้ำที่เป็นบ้านเกิด ฉะนั้นเราไม่ได้แค่ต้องอนุรักษพื้นที่แอ่งน้ำที่เขาใช้สืบพันธุ์ แต่เราต้องอนุรักษ์พื้นที่โดยรอบแอ่งน้ำนั้นด้วย นี่คือหลักการเบื้องต้นของการอนุรักษ์สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
การสร้างแหล่งน้ำทดแทนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในต่างประเทศมีการสร้างแหล่งน้ำเลียนแบบธรรมชาติ ที่มีความลึกหลายระดับ มีพืชน้ำท้องถิ่น ไว้เป็นแหล่งน้ำสำรองของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในยามที่แหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอดหรือเสื่อมโทรม ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง แต่เรื่องนี้ก็น่าเห็นใจกรมอุทยานฯนะครับ เพราะป่าหลาย ๆ พื้นที่ มีชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยก่อนประกาศตั้งเป็นอุทยาน เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ได้
ผมเคยไปสำรวจกะท่างน้ำ ที่อุทยานแห่งชาติหนึ่ง พื้นที่บริเวณนั้นแทบไม่มีแหล่งน้ำเลย แต่สุดท้ายผมก็เจอ และก็เจอว่าในบ่อน้ำนั้นมีตัวอ่อนของกะท่างน้ำอาศัยอยู่ แต่ปีต่อมาผมกลับไปที่นั้นอีกครั้ง เพื่อดูกะท่างน้ำโตเต็มวัย ปรากฏว่าบ่อน้ำนั้นกลายเป็นที่เลี้ยงปลาดุกของชาวบ้านไปเสียแล้ว
แล้วเรื่องนี้ควรจะแก้ปัญหาอย่างไร
มาตราการทางกฏหมายและนโยบายก็สำคัญครับ การประกาศให้กะท่างน้ำเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธี ที่จะสร้างความระแวดระวังให้กับชาวบ้าน ไม่ให้ไปรุกล้ำที่อยู่ของกะท่างน้ำ
ปัจุบันมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่เป็นสัตว์คุ้มครองอยู่ 12 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นกบและคากคง และกะท่างน้ำเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่กะท่างน้ำที่กฏหมายระบุว่าคุ้มครอง มีแค่กะท่างน้ำหิมาลัย หรือ Tylototriton verrucosus แค่ชนิดเดียว
และปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ กฏหมายฉบับนี้ประกาศตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งตอนนั้นเราเจอแค่ชนิดเดียว แต่ตอนนี้ความรู้เรื่องกะท่างน้ำเราพัฒนาไปมากแล้ว เรารู้ว่ากะท่างน้ำไทยมี 7 ชนิด ถ้าให้ครอบคลุม กฏหมายควรระบุว่าจะคุ้มครองกะท่างน้ำสกุล Tylototriton ทั้งหมด โดยไม่ต้องระบุชนิด เพราะผมคิดว่าเราอาจจะเจอกะท่างชนิดใหม่ในไทยอีก
แต่ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือส่วนของคนหรือชุมชนครับ เราต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนทั่วไป ให้เขารู้ว่าบ้านเรามีสัตว์ป่าหน้าตาแบบนี้อยู่ และมีเฉพาะในบ้านเราเท่านั้น แล้วตอนนี้เขากำลังได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และเราจะสามารถอนุรักษ์เขาอย่างไร
ถึงแม้กะท่างจะเป็นตัวชี้วัดทางสิ่งแวดล้อม เป็นทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่าในระบบนิเวศ หรืออาจจะเป็นประโยชน์กับวงการวิทยาศาสต์การแพทย์ในอนาคต แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าคนไม่รู้จักและให้ความสำคัญ และไม่สนใจว่าเขาจะอยู่หรือหายไป
เรื่อง อรณิชา เปลี่ยนภักดี
ภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข และ รศ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ