ค่างหงอกตะนาวศรี 177 ปีของความลึกลับ

ค่างหงอกตะนาวศรี 177 ปีของความลึกลับ

ภาพจากกล้องดักถ่ายเผย ค่างหงอกตะนาวศรี ในถิ่นที่อยู่ธรรมชาติภาพแรกของไทย

เมื่อเพจของอุทยานแห่งชาติไทรโยคแชร์ภาพถ่าย “ค่างหงอกตะนาวศรี” จากกล้องดักถ่ายภาพ (camera trap) ขององค์กร Panthera ที่พบในปี 2566 ค่างลึกลับที่มีข้อมูลเกี่ยวกับมันน้อยมาก และไม่ได้เจอในธรรมชาติง่าย ๆ นี่เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะอาจจะเป็นภาพแรกในไทยที่ถ่ายภาพค่างหงอกตะนาวศรีได้ในถิ่นอาศัยของมัน ชวนมารู้จัก “ค่างหงอกตะนาวศรี” และไพรเมตในไทย กับสถานะใกล้สูญพันธ์ที่ต้องเผชิญ

ค่างหงอกตะนาวศรี
ภาพ “ค่างหงอกตะนาวศรี” จากกล้องดักถ่ายภาพขององค์กร Panthera ในปี พ.ศ. 2566 เผยแพร่ใน Facebook: อุทยานแห่งชาติไทรโยค

ในปี 2021 หลังจากเรียนจบ ผมถูกส่งไปยังเกาะโบยใหญ่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เพื่อเริ่มงานในฐานะ “นักวานรวิทยา” งานวิจัยการใช้เทคโนโลยีของไพรเมต ที่นั่นทำให้ผมเข้าใจชีวิตของพวกมันมากขึ้น ในแต่ละวัน เวลาของผมบนเกาะแห่งนี้หมดไปกับการติดตามสังเกตพฤติกรรมการใช้เครื่องมือ และ สร้างความคุ้นชินกับลิงหางยาว ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับลิงป่าที่มีภาพจำของการล่า บุกรุก ทำลายที่อยู่อาศัยจากไพรเมตร่วมสายทางวิวัฒนาการที่เรียกตัวเองว่า “มนุษย์” 

ในภาษาลาติน primus แปลว่า “อันดับหนึ่ง” รากศัพท์ของคำว่า primate หมายถึง “the highest order of mammals” หรือ อันดับสูงสุดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คาโรลัส ลินเนียส บิดาแห่งอนุกรมวิธานเลือกใช้คำว่า “primate” เพราะเชื่อว่าพวกมันมีมีความก้าวหน้าทางวิวัฒนาการมากที่สุดใบบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอันดับอื่นๆ ผมเองก็เห็นด้วยกับลินเนียส เช่น การใช้เทคโนโลยี พฤติกรรมการเรียนรู้และการอยู่รวมกันเป็นสังคม พวกมันมีการถ่ายทอด แบ่งปันข้อมูลภายในสังคมผ่านการสังเกต ทดลอง ทำซ้ำ และเรียนรู้ ผมเคยเฝ้าสังเกตลิงหางยาววัยเด็ก เริ่มต้นการใช้เครื่องมือหินโดยทดลองนำใบไม้มาตีลูกปาล์ม และรอบๆมีลิงโตเต็มวัยกำลังใช้ก้อนหินเพื่อตีลูกปาล์มอย่างชำนาญ ในพื้นที่เดียวกันแต่เกิดขึ้นกับลิงที่เริ่มเป็นวัยรุ่นพวกมันเริ่มจับก้อนหินมาตอกลูกปาล์มได้ แต่พวกมันยังหาเหลี่ยมมุมของก้อนหินที่เหมาะสมได้ไม่เก่ง มีเรื่องเล่าติดตลกจากชาวประมงบนเกาะยาวน้อยไว้ว่า ลิงหางยาวบนเกาะเฝ้าสังเกตวิธีใช้อวนจับปลาและหลังจากนั้นพวกมันก็เริ่มบุกมาที่เรือ เริ่มสาวอวนลงน้ำ เลียนแบบชาวประมงที่สาวอวนลงน้ำเพื่อจับปลาในทะเล พฤติกรรมการเรียนรู้เช่นนี้ที่เกิดขึ้นทำให้พวกมันแตกต่างและเหมาะสมกับคำว่า “ไพรเมต”

การศึกษาสัตว์ในอันดับนี้เราจะจำแนกการศึกษาเป็น 2 กลุ่มคือ Primates (วานรทั้งหมด) และ Non-human Primates (วานรที่ไม่ใช่มนุษย์) 

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใน “อันดับไพรเมต” (non-human primates) มีการกระจายในบริเวณเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน  พบได้ใน 4 ภูมิภาคคือ นีโอโทรปิก (เม็กซิโกและอเมริกากลางและใต้) แอฟริกา มาดากัสการ์ และ เอเชีย รวมทั้งหมด 522 ชนิด 328 ชนิด หรือร้อยละ 62.9  ของไพรเมตทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับ “ภัยคุกคาม”  

ภูมิภาคเอเชีย พบไพรเมต ทั้งหมด 5 วงศ์ 19 สกุล 130 ชนิด พวกมันต้องการที่อยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่ในโดยเฉพาะป่าเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนชื่น อย่างไรก็ตามพบการกระจายอยู่ในป่าสนเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในเมียนมาจนถึงจีน กระจายในป่าไม้ใบกว้างเขตอบอุ่น ป่าผสม หรือแม้แต่ป่าสนเขตอบอุ่น เช่น ลิงจมูกเชิด ลิงมาคากทิเบต ตลอดถึงลิงกังญี่ปุ่น พวกมันอาศัยอยู่ท่ามกลางหิมะและอากาศหนาว หรือ ลิงหางยาว ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถพบได้ตามป่าโกงกาง เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย มีไพรเมตทั้งหมด 18 ชนิด แบ่งออกเป็น นางอาย 2 ชนิด ลิงมาคาก 6 ชนิด ชะนี 4 ชนิด และ ค่าง 6 ชนิด เกือบทั้งหมดมีข้อมูลและภาพถ่ายที่ชัดเจน ยกเว้น ค่างหงอกตะนาวศรี (Trachypithecus barbei) ค่างลึกลับจากผืนป่าตะวันตก ชายแดนไทยเมียนมา

ค่างหงอกตะนาวศรี ค่างลึกลับจากผืนป่าตะวันตก

แม้จะมีข้อมูลน้อย แต่ก็มีเอกสารการค้นพบและบรรยายลักษณะของค่างหงอกตะนาวศรีในอดีต ที่ผมได้ทำการตรวจสอบไว้ดังนี้ 

  • ค.ศ. 1847 และ 1863 ซึ่งตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 3 Edward Blyth นักสัตวศาสตร์ชาวอังกฤษ คือ คนแรกที่บรรยายลักษณะและตั้งชื่อค่างชนิดนี้ไว้ แต่เป็นการบรรยายที่สร้างความสับสนเกี่ยวกับข้อมูลของค่างนี้ชนิดนี้มาจนถึงปัจจุบัน
  • ค.ศ.1967 ดร.ผ่อง เล่งอี้ และ ดร.Jack Fooden สำรวจพบ 9,10,12,24 และ 30 ตัว จากป่าตะวันตก
  • ค.ศ.1988 รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ เจอระหว่างสำรวจป่าตะวันตก ไม่ระบุจำนวนตัว  
  • ค.ศ.1992 ในนิตยสาร Journal of Mammalogy Corbet, G. B. และ J. E. Hill. จัดค่างหงอกตะนาวศรีไว้ในสกุล Semnopithecus 
  • ค.ศ.1994 A. Glyn Davies และ John F. Oates สองนักมานุษยวิทยาได้กล่าวถึง T. barbei ไว้เพียงครั้งเดียว ในหนังสือ Colobine Monkeys: Their Ecology, Behaviour and Evolution โดยไม่ให้ข้อมูลใดๆเพิ่มเติม
  • ค.ศ. 2001 Thomas Geissmann ได้เจอกับค่างตัวหนึ่งในสวนสัตว์ดุสิต กรุงเทพ มีลักษณะคล้ายกับค่างแว่น (T. obscurus (ค่างแว่นถิ่นใต้) และ T. phayrei) แต่ลักษณะของมันไม่ตรงกับคำบรรยายของค่างทั้งสองชนิดดังกล่าว น.สพ.ดร.ยงชัย อุตระ ภัณฑารักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในขณะนั้นได้ให้ความเห็นว่าค่างตัวนี้อาจจะเป็นลูกผสมจากค่างแว่นถิ่นใต้กับ T. Phayrei  แต่ในเอเชียจากการสังเกตของ Thomas ค่างในกรงเลี้ยงไม่เคยมีการสืบพันธุ์ จึงมีความเป็นไปได้น้อยที่ค่างชนิดนี้จะเกิดจากกรงเลี้ยง
  • ค.ศ. 2003 มีการตรวจสอบตัวอย่างค่างไทยและพม่าทั้งหมด ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ แห่งกรุงลอนดอน 
  • ค.ศ. 2004 Thomas Geissmann และทีมนักมานุษยวิทยาจึงได้มีการบรรยายถึงลักษณะ สีขน รวมถึงการตรวจสอบพันธุกรรมของค่างหงอกชนิดนี้เปรียบเทียบกับชนิดอื่นๆในสกุลเดียวกัน 
  • ค.ศ. 2014 มีการถ่ายภาพค่างหงอกตะนาวศรี เพศผู้ ได้จากเมืองทะวาย ประเทศเมียนม่า แต่น่าเศร้าที่มันเป็นภาพ “ซาก” ที่มาจากการโดนล่า
  • ค.ศ.2015 นักวิจัยเมียนมาเข้าป่า Yebon ใน Tanintharyi Nature Reserve เมืองทวาย และสามารถถ่ายภาพค่างหงอกตะนาวศรีได้ในธรรมชาติ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2015 เป็นการยืนยันการมีอยู่ในธรรมชาติฝั่งประเทศเมียนมา จากรายงานในเอกสารปี 2016 บอกว่าเป็นประชากรขนาดเล็กที่ยังคงเหลืออยู่ 
  • ค.ศ. 2018 รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ เสนอค่างหงอกตะนาวศรี ให้เป็นสัตว์คุ้มครองของไทย และ ได้ประกาศรับรองจากคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ในเวลาต่อมา

Thomas Geissmann และทีม ได้อธิบายลักษณะขนบริเวณหัวและลักษณะสีสันของค่างชนิดนี้ ซึ่งไม่เคยมีการบันทึกมาก่อนหน้านี้ไว้ว่า 

“สีทั่วไปของค่างหงอกตะนาวศรี มีลักษณะเป็นสีเทา-ดำ ไม่มีลักษณะสีเงินแซมและสีลำตัวด้านล่างจะสว่างกว่าเล็กน้อย หางมีสีเทาเข้ม ซึ่งสีจะอ่อนกว่าสีของลำตัวเล็กน้อย โคนหางและบริเวณรอบปุ่มนั่งมีสีขาว”

นอกจากนี้ พวกเขานำเสนอ “หลักฐานทางพันธุกรรมครั้งแรก” ที่ยืนยันสถานะของ ค่างหงอกตะนาวศรี ว่าเป็นชนิดที่แยกจากกันอย่างชัดเจนจากกลุ่มค่างแว่นถิ่นใต้ รวมถึงจัดทำแผนที่การกระจาย โดยรวบรวมข้อมูลจากบันทึกสถานที่ที่พบทั้งหมดในปัจจุบัน

ข้อมูล Primates of Thailand Pocket Identification Guide ที่ตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม 2022 ระบุว่าค่างชนิดนี้มีโอกาสพบได้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนคริทนร์ และอุทยานแห่งชาติไทรโยค แต่ยัง “ไม่ได้รับการยืนยัน” ของการมีอยู่ในพื้นที่ จนกระทั่ง

  • ค.ศ.2023 กล้องดักถ่ายขององค์กร Panthera สามารถถ่ายภาพค่างชนิดนึงได้ในอุทยานแห่งชาติไทรโยค เบื้องต้นจำแนกว่าเป็นค่างแว่นถิ่นใต้ แต่ ภายหลังได้รับคำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ คือ ค่างหงอกตะนาวศรี โดยมีความแตกต่างระหว่างค่างแว่นอื่น ๆ ที่มีเขตการกระจายทับซ้อนกัน ดังนี้

ความแตกต่างระหว่างค่างแว่นถิ่นใต้ (หางทอง) (T. obscurus flavicauda)

สถานะทางการอนุรักษ์ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable)

ค่างหงอกตะนาวศรีจะมีขนบริเวณหัวมีความยาวตั้งตรงและก่อตัวเป็นสันเด่นชัด ใบหน้ามีสีเทาพร้อมกับเฉดสีม่วงจางรอบๆ มีวงแหวนรอบดวงตาสีขาวล้อมรอบอย่างสมบูรณ์ และบริเวณปากที่ไม่มีสี ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของ กลุ่มค่างแว่นถิ่นใต้ 

ค่างแว่นถิ่นใต้ชนิดย่อยนี้ มีการกระจายตั้งแต่ภาคตะวันตกของไทยตลอดถึงภาคใต้ของไทย เทือกเขาตะนาวศรีคือจุดที่พบสิ่งมีชีวิตที่มีเขตการกระจายในหลายภูมิภาคของไทย ค่างแว่นถิ่นใต้ชนิดย่อยนี้ชนิดก็เป็นหนึ่งชนิดที่มีเขตกระกระจายทับซ้อบกับค่างหงอกตะนาวศรี 

ค่างแว่นถิ่นเหนือ Indochinese Gray Langur (T. crepusculus) สถานะทางการอนุรักษ์ ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ภาพถ่าย: อุกฤษฏ์ พุมนวล ถ่ายที่เสียมเรียบ กัมพูชา ถ่ายที่ สระบุรี ประเทศไทย

ค่างแว่นถิ่นเหนือ Indochinese Gray Langur (T. crepusculus) สถานะทางการอนุรักษ์ ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ภาพถ่าย: อุกฤษฏ์ พุมนวล ถ่ายที่เสียมเรียบ กัมพูชา ถ่ายที่ สระบุรี ประเทศไทย

ความแตกต่างระหว่างค่างแว่นถิ่นเหนือ Indochinese Gray Langur (T. crepusculus)

สถานะทางการอนุรักษ์ ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)

ค่างหงอกตะนาวศรี จะมีสีขนของลำตัวโดยรวมเข้มกว่ามากอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบจะเห็น ว่าค่างหงอกตะนาวศรีมีวงแหวนรอบดวงตาสีขาวขนาดใหญ่  ค่างแว่นถิ่นเหนือชอบอาศัยตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง  ป่าโกงกาง และ ภูมิประเทศแบบหินปูน กระจายตั้งแต่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลางของไทย เมียนมาตอนเหนือ ลาวตอนเหนือ ตอนกลางมณฑลยูนนาน และเวียดนามตอนเหนือ อาหารในแต่ละวันส่วนใหญ่เป็นใบอ่อน ตามด้วยใบแก่และผลไม้ป่า

ค่างหงอก Germain’s Langur (T. germaini) สถานะทางการอนุรักษ์ ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ภาพถ่าย: อุกฤษฏ์ พุมนวล ถ่ายที่เสียมเรียบ กัมพูชา

ความแตกต่างระหว่างค่างหงอก Germain’s Langur (T. germaini)

สถานะทางการอนุรักษ์ ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)

ค่างหงอกตะนาวศรี จะมีสีขนที่เข้มกว่ามากและไม่มีขนรอบใบหน้าที่ยาวและมีสีเทาอ่อนๆเหมือนค่างหงอก

ลักษณะของที่อยู่อาศัยมักพบพวกมันได้ตามป่า ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และ ภูมิประเทศแบบหินปูน การกระจาย ประเทศไทย ภาคตะวันออก ภาคกลาง และ ภาคตะวันตก  ลาวตอนใต้ กัมพูชา และ เวียดนาม อาหารหลักของพวกมันคือ ใบไม้  ผลไม้ และ ดอกไม้ นอกจากนั้นยังพบว่าพวกมันกิน หน่อไม้ ด้วย 

ทั้ง 3 ชนิดข้างต้น มีความต่างจากค่างหงอกตะนาวศรี ที่มีขอบเขตการกระจายตัวที่แคบมาก และมีรายงานพบในป่าดิบชื้น แนวเทือกเขาตะนาวศรี ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย บริเวณชายแดนไทยเมียนมา เท่านั้น  จากรายงานในปี 2016 จากนักวิจัยในเมียนมาบอกไว้ว่าอาการหลักของพวกมันเป็นใบไม้อ่อน ไทร มะหาด และ มะม่วงป่า

ค่างหงอก Germain’s Langur (T. germaini) สถานะทางการอนุรักษ์ ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ภาพถ่าย: อุกฤษฏ์ พุมนวล ถ่ายที่เสียมเรียบ กัมพูชา

จากสถานะอันลึกลับสู่สถานะ “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์”

สำหรับผมในฐานะผู้ที่สนใจสัตว์ป่า โดยเฉพาะกลุ่มไพรเมต ผมรู้สึกตื่นเต้นอย่างมากเพราะนับตั้งแต่ Blyth บรรยายลักษณะและตั้งชื่อค่างชนิดนี้เอาไว้ ซึ่งตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 3 มันเป็นเวลากว่า 177  ปีมาแล้ว แต่เพิ่งจะมีรูปในธรรมชาติ ฝั่งประเทศไทย

การค้นพบดังกล่าวทำให้อุทยานแห่งชาติไทรโยคเป็นอุทยานแรกที่ได้รับการ “ยืนยัน” การเป็นแหล่งอาศัยของค่างหงอกตะนาวศรีผ่านหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายอย่างเป็นทางการ แต่อีกด้านนึงก็ยืนยันว่าชีวิตของสัตว์ในอันดับนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “อันดับสูงสุดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” กำลังตกอยู่ในอันตราย

ตัวเลขจากการประเมินของ IUCN Red List พบว่า ร้อยละ 94 ของไพรเมตในมาดากัสการ์กำลังถูกคุกคามอย่างหนัก รองลงมาเป็น เอเชีย ร้อยละ 76 และในประเทศไทยสถานทางการอนุรักษ์ของพวกมันก็โดยส่วนมากมีสถานะเป็น “สัตว์ใกล้สูญพันธุ์” หรือ Endangered species  จากกระประเมินในปี 2020 ค่างหงอกตะนาวศรีขยับจาก “ข้อมูลไม่เพียงพอ” สู่ สัตว์ป่าที่ “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์”  ภัยคุกคามที่พวกมันต้องเผชิญหน้าคือ การล่า การขยายตัวของเมือง การตัดไม้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่เขาหินปูน และ การทำอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้งหมดนี้คือภัยคุกคามหลักที่ไพรเมตและสัตว์ป่าทุกชนิดต้องพบเจอ

จากตำราเรียน ผมถูกสอนมาว่า หากเราสามารถอนุรักษ์สัตว์ป่าที่เป็น keystone species และ umbrella species ได้ สัตว์ป่าหรือพืชพรรณ อื่นๆก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่ในขณะที่ประชากรมนุษย์กำลังเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองยังคงขยายตัว การล่ายังคงดำเนินต่อไป การทำลายป่าและการให้สัมปทานแร่หินปูนยังคงมี ถึงวันนั้นมันอาจจะสายไปสำหรับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ keystone และ umbrella species ความล่มสลายของความหลายหลายทางชีวภาพจะมาเยือน 

ถึงวันนั้นความสวยงามในผืนป่าและผู้ทำหน้าที่เป็น “ตัวกระจายเมล็ด” ในระบบนิเวศอาจหายไป บางชนิดที่รอการค้นพบ อาจจะไม่เหลืออยู่ให้เห็นภาพจากกล้องเหมือน ค่างหงอกตะนาวศรี แล้วก็ได้

เรื่องและภาพ อุกฤษฏ์ พุมนวล

ภาพค่างหงอกตะนาวศรี จากเพจอุทยานแห่งชาตไทรโยค ถ่ายด้วยกล้องดักถ่ายภาพ (camera trap) ขององค์กร Panthera ปี พ.ศ. 2566 


อ่านเพิ่มเติม สำรวจธรรมชาติยามตะวันลับฟ้า ในป่าดงดิบชายแดนไทย-มาเลเซีย

Recommend