ปรากฏการณ์หมูเด้ง 2024 ความน่ารักของสัตว์ สู่กระแสการศึกษาธรรมชาติ

ปรากฏการณ์หมูเด้ง 2024 ความน่ารักของสัตว์ สู่กระแสการศึกษาธรรมชาติ

บันทึกปรากฏการณ์ หมูเด้ง” ดาวเด่นของปี 2024 กับการต่อยอดสู่การศึกษาธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างจริงจัง

ในปี 2024 ที่ผ่านมา หากจะมองถึงปรากฎการณ์ที่คนไทยทุกเพศ ทุกวัย ลงความเห็นร่วมกันว่าดังที่สุด แน่ว่าตำแหน่งนี้ต้องเป็นของ “หมูเด้ง” ฮิปโปแคระ แห่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี

แรกเริ่ม “หมูเด้ง” ก็มีวิถีชีวิตไม่ต่างอะไรจากสัตว์ตัวอื่นทั่วไป กระทั่งพฤติกรรมของหมูเด้งที่ถูกเผยแพร่ใน TikTok และ Instagram สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นการกินผลไม้แบบตั้งใจจนหน้าติดเปลือกแตงโม การวิ่งไล่บอลลูกเล็ก ๆ ในบ่อ การหาวแบบ “อ้าปากกว้าง” ซึ่งกลายเป็นมีมแพร่หลายทั้งในไทยและต่างประเทศ

ช่วงสิงหาคม กันยายน ตุลาคม น่าจะเป็นจุดพีคที่สุดของความนิยมหมูเด้ง หากใครไปสวนสัตว์เปิดเขาเขียวจะพบคิวต่อแถวชมฮิปโปแคระยาวตลอดทั้งวัน สำนักข่าวต่างประเทศต่างรายงานถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า นี่คือเซเลบแห่งสวนสัตว์ในไทยที่ใครต่างรู้จัก

“ทุกภาพถ่ายใหม่ๆของหมูเด้งถูกแชร์อย่างแพร่หลาย และฮิปโปแคระเพศเมียตัวนี้ก็ได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นดาราผู้มีชื่อเสียง” นิตยสาร TIMEรายงานตอนหนึ่ง

ส่วนนิตยสาร Forbes เขียนบทความอธิบายที่มาที่ไปถึงความโด่งดังของหมูเด้งในชื่อ Who Is Moo Deng? The Viral Baby Hippo, Explained เมื่อกันยายนที่ผ่านมาว่า ฮิปโปแคระตัวนี้โด่งดัง มาจาก TikTok คลิปยอดชมมากกว่าหลายล้าน 2 และเสน่ห์ที่ทำให้ดึงดูดใจนั้นเรียบง่าย เพราะมันน่ารักมาก และเป็นสัตว์ที่มีชีวิตจริงๆ

ความนิยมนี้การันตีได้จากแพลตฟอร์ม  X (Twitter) ซึ่งได้ประกาศรายชื่อที่สุดแห่งปี 2567 ในหมวดหมู่ต่าง ๆ ซึ่งวัดจากยอดเอ็นเกจเมนต์บนแพลตฟอร์ม โดยผู้ที่ครองตำแหน่ง มีมแห่งปี (Top Meme of the Year) คือ หมูเด้ง เนื่องจากปี 2567 มียอดโพสต์ภาพหมูเด้งจากผู้ใช้ X ทั่วโลกกว่า 7.7 ล้านโพสต์

บรรยากาศการเฝ้ารอสถานที่จัดแสดงฮิปโปแคระเมื่อช่วงกันยายน 2564

ซอฟต์พาวเวอร์ ที่เป็นฮิปโป

เสน่ห์ของหมูเด้ง ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักอย่างไม่ต้องสงสัย ภาพของหมูเด้งปรากฏตามสื่อตลอดในช่วง 4-5 เดือนหลังของปี ความฟีเวอร์ของหมูเด้ง ทำให้มีสินค้าหลากลายแบรนด์ ยื่นข้อเสนอขอทำการค้า และภาพของหมูเด้งอยู่บนป้ายโฆษณาในย่านดังของนิวยอร์ก มีสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกเรียกกันว่า “เหรียญหมูเด้ง หรือ Moo Deng Coin มีเพลงที่ถูกแต่งขึ้นให้โดยเฉพาะ

กระทั่งกระทรวงวัฒนธรรมยังเปิดตัวโครงการ “Thai Cultural Content for Soft Power Presented by Moo Deng” เพื่อเป็นการส่งเสริมความเป็นไทยผ่านน้องหมูเด้ง ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์สื่อเผยแพร่ความเป็นไทยสู่สากล

อรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า ผลลัพธ์ความสำเร็จจากการปั้น “หมูเด้ง” ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนสัตว์เขาเขียวเติบโตพุ่งแรงถึง 4 เท่า จากเดิมเคยมี 3,000-4,000 คนต่อวัน เพิ่มเป็น 12,000 คนต่อวัน บางวันพีคถึง 14,000 คน  และทำให้ยอดนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนสัตว์เขาเขียวตลอดปี 2567 มากกว่า 1 ล้านคน ฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงยอด 1.2 ล้านคนเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด

“มากกว่านั้น กระแสฟีเวอร์ของหมูเด้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้แก่จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในพื้นที่ศรีราชา พัทยา บางแสน และบางพระ โดยมีรายงานว่าโรงแรมที่พักและร้านอาหารมียอดจองเข้าใช้บริการอย่างต่อเนื่อง มากถึง 90% ในช่วงวันหยุด” ข้อมูลด้านเศรษฐกิจตอนหนึ่งระบุ

วอชิงตัน คอมมานเดอร์ส ทีมอเมริกันฟุตบอล NFL โพสต์ภาพผ่าน เอ็กซ์ หรือ ทวิตเตอร์ อย่างเป็นทางการของทีม เป็นภาพที่ทีมงานสตาฟฟ์โค้ชกำลังเฉลิมฉลองชัยชนะเหนือคู่แข่ง โดยมีภาพหมูเด้งร่วมด้วย (ภาพจากเอ็กซ์ หรือทวิตเตอร์)
เพจ Bitkub ได้มีการโพสต์รูป ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub Group อุ้มหมูเด้ง ขึ้นโปรโมทกระดานเทรนบนบิลบอร์ดกลางไทม์สแควร์

สู่กระแสการศึกษาธรรมชาติ

ไม่มีใครถกเถียงถึงความโด่งดังและกระแสฟีเวอร์ของฮิปโปแคระตัวนี้ แต่คำถามจากนี้คือเราจะเกี่ยวกระแสจากความน่ารักของสัตว์ สู่การให้ผู้คนสนใจหันมาสนใจธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ตัวอย่างแรก ที่ทำได้แล้วคือการทำให้ผู้คนรู้จักความสำคัญของอาชีพในสวนสัตว์ เช่น Zookeeper ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญ ทำให้ตระหนักว่าการดูแลสัตว์ไม่ใช่เพียงแค่ให้น้ำ ให้อาหาร ทำความสะอาดเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ นิสัย เป็นการผสมผสานเนื้อหาเข้ากับความน่ารัก และการสื่อสารที่ดีต่อเนื่อง ซึ่งมีหมูเด้งเป็นโมเดลยังนำไปสู่ความนิยมในสัตว์อื่นๆ เช่น คาปิบาร่า เสือโคร่งอาวา ที่ จ.เชียงใหม่ หรือฮิปโปในที่อื่นๆ เช่น หอมแดง จ.ศรีสะเกษ, หมูด้วง จ.ขอนแก่น, คากิ จ.อุบลราชธานี, แก่นคูณ จ.เชียงใหม่

ฮิปโปแคระเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม การดูแลสัตว์เหล่านี้ทำให้ผู้เลี้ยงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศขนาดเล็ก การจัดการสภาพแวดล้อม และความต้องการพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต

การที่ผู้คนได้ใกล้ชิดกับสัตว์ขนาดเล็ก ทำให้เกิดความเข้าใจและความรักในธรรมชาติมากขึ้น นำไปสู่การตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ และการพัฒนาการศึกษาชีววิทยา กระแสนี้ได้กระตุ้นความสนใจในการศึกษาชีววิทยาของสัตว์ขนาดเล็ก ทำให้เกิดการวิจัยและการค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรม การเจริญเติบโต และการดูแลสัตว์เหล่านี้

จากจุดเริ่มต้นของหมูเด้งในปี 2024 ต่อจากนี้เราอยากเห็นการเอาจริงเอาจังกับการศึกษาธรรมชาติในสังคมไทย จากความน่ารักของสัตว์ ระบบนิเวศ การอนุรักษ์ ฯลฯ พร้อมตั้งเป้าหมายว่าหากต้องการทำให้ไทยเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยวด้านธรรมชาติและมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ มีอะไรที่เราต้องพัฒนาไปร่วมกันบ้าง?

ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส

ข้อมูลประกอบ

ประชาชาติธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ


อ่านเพิ่มเติม : มองความน่ารัก ‘ปรากฏการณ์หมูเด้ง’ ฮิปโปแคระขวัญใจคนไทยที่สื่อนอกต่างพูดถึง

Recommend