“จำนวนประชากรตะโขงอินเดีย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลังได้รับความช่วยเหลือจากการร่วมมือกัน
ระหว่างคนในชุมชนและหน่วยงานภาครัฐในประเทศอินเดีย”
Lalasha Yadav เรียกตัวเองและคนในชุมชนเป็น ‘พ่อแม่ที่พะเน้าพะนอลูก’ แต่พวกเขาไม่ใช่พ่อแม่ธรรมดาทั่วไป
ในช่วงแปดปีที่ผ่านมา Yadav และกลุ่มเพื่อนเกษตรกรทางตอนเหนือของแม่น้ำคันทัก (Gandak River) ช่วยกันเฝ้าดูแลไข่และตัวอ่อนของตะโขงอินเดีย (Gharial) สัตว์เลื้อยคลานกลุ่มจระเข้ปากแหลมเรียวยาวที่อยู่มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พร้อมกับปล่อยพวกมันคืนสู่ธรรมชาติเป็นจำนวนกว่า 600 ตัว
ตามข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) ในอดีตตะโขงอาศัยอยู่ในแถบแม่น้ำเอเชียใต้กว่า 30,000 ตารางไมล์ แต่ด้วยปัญหาการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย (habitat loss) การลักลอบล่าสัตว์ป่าและการโดนฆ่าโดยอุบัติเหตุทางประมง ทำให้จำนวนประชากรของสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้ลดลงจาก 10,000 ตัวในปี พ.ศ. 2489 เหลือน้อยกว่า 250 ตัวใน พ.ศ. 2549 ปัจจุบันตะโขงพบได้ในประเทศอินเดียและประเทศเนปาลเท่านั้น
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติเผยว่ารัฐบาลอินเดียร่วมมือกับกลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่ออนุรักษ์ตะโขงผ่านการเพาะพันธุ์และเฝ้าดูแลรังของพวกมัน โครงการนี้ช่วยเพิ่มจำนวนประชากรตะโขงที่โตเต็มวัยถึง 650 ตัวเลยทีเดียว
โครงการ Gandak Gharial Recovery Project นับว่าเป็นหนึ่งในโครงการอนุรักษ์ตะโขงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านจากกว่า 35 หมู่บ้านบริเวณแม่น้ำคันทัก หนึ่งในลำน้ำสาขาของแม่น้ำคงคา ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์หายากชนิดนี้ด้วย
Samir Kumar Sinha นักนิเวศวิทยา ณ Wildlife Trust of India (WTI) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ดูแลโปรแกรมอนุรักษ์ตะโขงอินเดียมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เผยว่าแม่น้ำคันทักทอดยาวเชื่อมกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมไปด้วยปลา เกาะเล็ก ๆ และดอนทรายใต้น้ำ (sandbar) ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับตะโขงอย่างมาก
คนในชุมชนต่างพร้อมใจอาสาเฝ้าระวังตามรังของเหล่าตะโขงไม่ให้เกิดการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังคอยให้ความช่วยเหลือในการสำรวจประชากรตะโขงในพื้นที่แถบนั้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพิหาร
“ก็ได้คนในชุมชนเนี่ยแหละครับที่คอยเป็นหูเป็นตาให้” Subrat Kumar Behera หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ตะโขงกล่าว
ความรักไร้ขอบเขต
Jitendra Gautam จากหมู่บ้าน Chilwania ผู้มีหน้าที่เฝ้าดูแลรังตะโขง เล่าว่าโดยปกติเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่ตะโขงอินเดียตัวเมียวางไข่ คนในชุมชนจึงมักออกไปเฉลิมฉลองกันด้วยการนั่งปิกนิกริมฝั่งแม่น้ำ
Gautam เล่าต่อว่า เมื่อแม่ตะโขงวางไข่แล้ว คนในชุมชนจะช่วยกันเฝ้าสังเกต แต่ละรังมีไข่ประมาณ 35 ถึง 50 ฟอง หากรังไหนเสี่ยงถูกน้ำพัดพาไป ชาวบ้านอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วก็จะช่วยเคลื่อนย้ายรังนั้นไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัยกว่า โดยมักอยู่ห่างจากจุดเดิมเพียง 700 ฟุตเท่านั้น ตัว Gautam เองก็เข้าร่วมโครงการนี้เพราะเขามองว่าตะโขงอินเดียเป็นสัตว์สงบเสงี่ยมไม่ยุ่งเกี่ยวหรือสร้างความเสียหายให้กับมนุษย์
ระหว่างการเคลื่อนย้าย อาสาสมัครจะเขียนเครื่องหมายไว้บนไข่แต่ละฟองเพื่อเป็นการระบุว่าถูกย้ายมาจากรังไหน เมื่อไข่ได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ในรังใหม่เรียบร้อยแล้ว พวกเขาก็จะนำทรายและตาข่ายมาปกปิดรังไว้เป็นการป้องกันไม่ให้ไข่ได้รับภัยอันตรายจากหมาจิ้งจอก วัว และสัตว์ชนิดอื่น ๆ
Yadav จากหมู่บ้าน Lediharwa เสริมว่า เมื่อไข่ตะโขงเริ่มฟักในช่วงกลางเดือนมิถุนายน อาสาสมัครจะปล่อยลูกตะโขงเหล่านี้ลงสู่แม่น้ำข้าง ๆ แม่ของพวกมันที่ยังคงเฝ้ารออยู่ในรังเดิม
“การได้เห็นลูกตะโขงลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัยมันทำให้พวกเรามีความสุขมากจริง ๆ ครับ” Yadav เอ่ย
หลังจากนั้นคนในชุมชนก็จะร่วมฉลองกันอีกครั้งด้วยการนำอาหารมารับประทานร่วมกัน ซึ่งก็คือเมนูที่มีชื่อว่า dahi-chura อาหารชื่อดังประจำรัฐพิหารที่ทำมาจากข้าวเม่าคลุกผสมกับโยเกิร์ต
คนในพื้นที่ย่อมรู้ดีที่สุด
แหล่งเพาะพันธุ์ตะโขงอื่น ๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ได้แก่ National Chambal Gharial Sanctuary ที่มีตะโขงอยู่ถึง 1,800 ตัว ที่ Corbett Tiger Reserve อีกประมาณ 100 ตัว และที่ Nepal’s Chitwan National Park อีกกว่า 200 ตัว
แม่น้ำคันทักเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ตะโขงแหล่งเดียวที่อยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง ในปี พ.ศ. 2553 กรมป่าไม้รัฐพิหาร องค์กร Wildlife Trust of India และสถาบันวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ร่วมกันสำรวจประชากรตะโขงครั้งแรก ในตอนนั้นมีตะโขงอยู่เพียง 15 ตัว แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรตะโขงเพิ่มขึ้นเป็น 259 ตัวแล้ว
ในปี พ.ศ. 2557 และ พ.ศ. 2558 มีการปล่อยลูกตะโขงอินเดียที่ถูกเลี้ยงในสวนสัตว์ชื่อ Bihar’s Patna Zoo จำนวน 30 ตัวคืนสู่ธรรมชาติ หกเดือนให้หลังตะโขงกลุ่มดังกล่าวก็สามารถปรับตัวกับแหล่งที่อยู่ใหม่ได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นความสำเร็จแรกของโครงการนี้
Behera เผยว่าชาวบ้านทุกคนมีภูมิปัญญาเชิงวัฒนธรรมและประสบการณ์ล้นหลามจากการอาศัยอยู่ฝั่งริมแม่น้ำ เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงมีความเข้าใจในระบบนิเวศของแหล่งน้ำเป็นอย่างดี ความรู้และประสบการณ์เหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากต่อโครงการอนุรักษ์ตะโขง
นอกจากนี้คนในชุมชนยังคอยเป็นหูเป็นตาและเฝ้าระวังไม่ให้ใครลักลอบกระทำการผิดกฎหมาย เช่นการใช้รอกไฟฟ้าเพื่อตกปลา (electrofishing) หรือการใช้เครื่องมือประมงแบบพาสซีฟ (passive fishing gear) เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เหล่าตะโขงได้ หากมีการรายงานถึงกิจกรรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ
“คนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการช่วยอนุรักษ์ตะโขงอย่างดีเยี่ยมเลยครับ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่น ๆ” B.C. Choudhury สมาชิกและอดีตประธานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์เลื้อยคลานกลุ่มจระเข้ (Crocodile Specialist Group) ในองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเสนอให้มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ เช่นบริการล่องเรือและจ้างคนในชุมชนเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ถือเป็นการสร้างอาชีพให้คนในชุมชนและยังพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นอีกด้วย
มุ่งสู่อนาคต
PK Gupta หัวหน้ากรมสัตว์ป่ารัฐพิหารเผยว่า รัฐบาลท้องถิ่นได้ทำการยื่นข้อเสนอให้เปลี่ยนพื้นที่อีก 93 ไมล์ของแม่น้ำคันทักเป็นเขตอนุรักษ์ พร้อมกับจัดประชุมสาธารณะเพื่อหารือแนวทางจัดการกับกลุ่มชุมชนในพื้นที่
“ในแหล่งเพาะพันธุ์มีกฎเกณฑ์ที่ชาวบ้านต้องทำตามอยู่บ้าง แต่ไม่เข้มงวดเท่าในอุทยานแห่งชาติครับ” เขากล่าว
ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนที่อาศัยอยู่แถบอุทยานแห่งชาติของอินเดียไม่สามารถรุกล้ำพื้นที่ของอุทยานได้เลย ซึ่งรวมถึงการล่าสัตว์ แต่กฎเกณฑ์ในเขตอนุรักษ์มีความเคร่งครัดน้อยกว่า โดยทางรัฐอนุญาตให้ชาวบ้านใช้น้ำจากแม่น้ำคันทักในการทำเกษตรกรรมได้
“ชาวบ้านได้รับหน้าที่เป็นคณะกรรมการเขตอนุรักษ์ด้วยครับ” Gupta เสริม
ทางรัฐฯ อนุมัติให้มีการเพาะพันธุ์ตะโขงนอกเหนือจากแหล่งธรรมชาติ รวมถึงการสร้างศูนย์ให้ความรู้เกี่ยวกับตะโขงและสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากสวนสัตว์ลอสแอนเจลิส (Los Angeles Zoo)
“เป้าหมายหลักของเราคือการจำลองสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการฟักไข่ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มระดับความป้องกันให้กับลูกตะโขงครับ เมื่อฟักไข่สำเร็จเราก็ปล่อยพวกมันคืนสู่ธรรมชาติ” Sinha เอ่ยพร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างประเทศอินเดียและประเทศเนปาล “แม่น้ำแหล่งนี้ไหลผ่านทั้งสองประเทศ และก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของตะโขงจำนวนกว่า 450 ตัว”
“ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้เป็นสาระสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ระบบนิเวศของแหล่งน้ำแห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งที่อยู่อาศัยของตะโขงที่สำคัญที่สุดในโลก” เขาเสริม “และในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างสองประเทศด้วย”
เรื่อง Moushumi Basu
แปลและเรียบเรียง
พิมพ์มาดา ทองสุข
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย