สถานการณ์ของหมาป่าสีเทาในยุโรปจะเป็นอย่างไรหลังกฎหมายใหม่มีผล น่าสนใจว่าการจงใจลดปริมาณพวกมันโดยตรงจะแก้ปัญหาได้จริง
หมาป่าสีเทา เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองในหลายพื้นที่ทั่วโลก สัตว์สายพันธุ์โบราณหายากชนิดนี้ต้องเผชิญกับหลายภัยคุกคาม ทั้งการถูกล่า พื้นที่อาศัยลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และการผสมพันธุ์กับสุนัขชนิดอื่นจนสายพันธุ์ผิดเพี้ยน
แต่ไม่ใช่ในทวีปยุโรป สถานการณ์ที่นั่นสวนทางกับพื้นที่อื่นๆ บนโลก ซึ่งห่วงว่าการที่หมาป่าสายพันธุ์ที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดในโลกหายไปจะส่งผลต่อระบบนิเวศ ทว่าหลายประเทศในยุโรปตะวันตก หมาป่าสีเทากลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนอาจเข้าสู่ภาวะเกินการควบคุม
หมาป่าสีเทา ผู้ล่าที่เกินความสมดุล?
บทบาทของผู้ล่าหรือนักล่าคือการสร้างสมดุลในห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ แต่หมาป่าสีเทาในยุโรปตะวันตกซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพิ่มจำนวนขึ้นเริ่มเกินความควบคุม นอกจากพวกมันจะไม่ได้สร้างความสมดุลแล้ว หมาป่าสีเทากำลังสร้างปัญหาในมนุษย์ในพื้นที่
József Rácz คนเลี้ยงแกะในเมืองซานมาร์ติน หมู่บ้านบนเทือกเขาคาร์เพเทียนทางตะวันออกของประเทศโรมาเนีย เล่าว่า ครอบครัวเขา
เลี้ยงแกะประมาณ 500 ตัวบนทุ่งหญ้าสูงที่นี่ ชีวิตของพวกเขายากลำบากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับเหล่าหมาป่าที่จ้องจะกินแกะของเขา นอกจากต้องพาฝูงแกะไปกินหญ้า รีดนมแกะ 3 ครั้งต่อวัน ครอบครัวของเขายังต้องเสียเวลาแบ่งเวรกันเฝ้าฝูงแกะให้ปลอดภัยจากคมเขี้ยวของหมาป่าสีเทา
ทุกปีพวกเขาสูญเสียแกะ 5-6 ตัวให้กับหมาป่าหรือหมี นี่คือเหตุผลที่ József ต้องเลี้ยงสุนัขถึง 17 ตัว “สุนัขเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดของคนเลี้ยงแกะในการปกป้องฝูงสัตว์เลี้ยงทั้งตอนกลางวันและกลางคืน” เขากล่าว
ยุโรปหยุดการคุ้มครองหมาป่าสีเทา
ที่ผ่านมาแม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่มีความอันตรายไม่ต่างจากเสือ แต่ด้วยจำนวนที่ลดลงจนเกือบสูญพันธุ์ หมาป่าสีเทาจึงได้รับการคุ้มครองในสหภาพยุโรป หากใครทำร้ายหรือฆ่าพวกมัน จะมีความผิดทางกฎหมาย สิ่งนี้คงอยู่มายาวนานกว่า 45 ปี
กระนั้น หลังจากที่จำนวนประชากรหมาป่าสีเทาในยุโรปเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ยุโรปตะวันตก ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนปี 2024 สหภาพยุโรปจึงประกาศให้หมาป่าสีเทาพ้นจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งการลดสถานะการคุ้มครองของสัตว์ชนิดนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปเชื่อว่า อาจทำให้จำนวนหมาป่าสีเทากลับมาสมดุลอีกครั้ง
ทั้งนี้ หมาป่าสีเทา จะถูกย้ายจากภาคผนวก II (ได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวด) ไปยังภาคผนวก III (ได้รับการการปกป้อง) ของอนุสัญญาเบิร์น หมายความว่าตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมปี 2025 แต่ละประเทศในสหภาพยุโรปจะสามารถกำหนดโควตาการล่าหมาป่าในแต่ละปีได้
คณะกรรมาธิการระบุว่า จำนวนหมาป่าในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า จาก 11,000 ตัวในปี 2012 เป็นมากกว่า 20,000 ตัวในปี 2024 และพวกมันได้สร้างความเสียหายให้กับการทำปศุสัตว์มากเกินไป
WWF เห็นต่างและผิดหวังกับการจัดการหมาป่าสีเทาในยุโรป
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ได้ออกแถลงการณ์โต้แย้งเกี่ยวกับประเด็นการลดสถานะการคุ้มครองหมาป่าสีเทาในยุโรปว่า เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง ประชากรหมาป่าสีเทาแทบจะไม่สามารถฟื้นตัวได้แข็งแรงหลังจากสูญพันธุ์ไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรป ดังนั้นการลดการคุ้มครองอาจทำให้การขยายพันธุ์ที่เปราะบางนี้ตกอยู่ในภาวะอันตราย
ขณะเดียวกัน WWF ยังกล่าวหาคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวว่า ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจทางการเมืองมากกว่าทางวิทยาศาสตร์ โดยระบุว่าการตัดสินใจครั้งนี้ได้รับอิทธิพลจากเหตุผลส่วนตัว หลังจากที่ลูกม้าของ Von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ ถูกหมาป่าฆ่าในปี 2022
ด้านนักอนุรักษ์เพื่อสัตว์ป่าท้วงติงว่า วิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้มีอีกหลายทาง เช่น การใช้สุนัขเลี้ยงแกะที่ฝึกมาแล้วปกป้องสัตว์เลี้ยง คือทางออกที่ดีกว่าการยกเลิกการคุ้มครองหมาป่าสีเทา เนื่องจากหมาป่าสีเทายังทำหน้าที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร ทั้งการช่วยลดจำนวนกวางและหมูป่าที่สร้างความเสียหายให้กับต้นไม้และพืชผลทางกการเกษตร รวมถึงช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคจากสัตว์ ด้วยการกินสัตว์ต่างๆ ที่ป่วย
“ไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในหมูกำลังแพร่กระจายไปทั่วยุโรป และหมาป่าเป็นแพทย์ทางธรรมชาติที่ดีมากในเรื่องนี้ พวกมันช่วยยับยั้งการแพร่ระบาด เพราะหมาป่าไม่สามารถติดโรคนี้ได้” มิคาล ฮาริง นักชีววิทยาจากสโลวาเกีย กล่าว
จะเกิดอะไรขึ้นหลังมีโควต้าการล่าหมาป่าต่อปีในยุโรป
สิ่งที่นักอนุรักษ์ไม่เห็นด้วยกับการเปิดโควต้าให้ล่าหมาป่าในยุโรป คือพวกมันอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง 5 ถึง 8 ตัว และล่าเหยื่อด้วยกัน โดยปกติในฝูงจะเป็นครอบครัวเดียวกัน หากหมาป่าที่เป็นพ่อแม่หรือตัวอาวุโสถูกยิงตาย ฝูงจะแตกออก ทำให้พวกมันล่ากวางและหมูป่าได้ยากขึ้น แล้วหันเหไปโจมตีสัตว์เลี้ยงของมนุษย์แทน
“หมาป่าตัวเดียวมีแนวโน้มที่จะโจมตีแกะและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ มากกว่า หมาป่าที่อยู่กันเป้นฝูง” มิคาล ฮาริง กล่าว โดยรายงานของสหภาพยุโรปในปี 2023 ระบุว่า มีเพียงประมาณ 50,000 ตัวจากแกะและแพะ 68 ล้านตัวในยุโรปที่ถูกหมาป่าฆ่าทุกปี คิดเป็น 0.065% ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งผลกระทบโดยรวมของหมาป่าต่อปศุสัตว์ในสหภาพยุโรปนั้นถือว่าน้อยมากในความเห็นของเขา
ส่วนการโจมตีมนุษย์ยิ่งน้อยเข้าไปอีก รายงานระบุว่าไม่มีการโจมตีของหมาป่าที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตในยุโรปมานานกว่า 40 ปีแล้ว “หากเราคาดหวังให้ประเทศต่างๆ เช่น อินเดียหรืออินโดนีเซีย ปกป้องเสือของพวกเขา และต้องการให้ชาวแอฟริกันปกป้องสิงโตและช้าง ชาวยุโรปที่ค่อนข้างร่ำรวยก็ควรยอมรับการมีอยู่ของหมาป่าบ้าง” นายลอรองต์ ชเลย์ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์สัตว์ป่าของรัฐบาลลักเซมเบิร์กกล่าว
ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศแถบยุโรปตะวันตกที่ไม่พบหมาป่าสีเทา แต่เขาเชื่อว่ามันเป็นเรื่องของเวลา ในอนาคตพวกมันจะเข้ามาในป่าลักเซมเบิร์ก เพราะในพื้นที่มีประชากรกวางและหมูป่าสูงมาก สภาพแวดล้อมที่นี่จึงเหมาะสมต่อการใช้เจริญเติบโตของหมาป่าสีเทา
“แน่นอน หากหมาป่าตัวเดียวหรือรวมฝูงเริ่มฆ่าสัตว์เลี้ยงมากเกินไป หรือแสดงความก้าวร้าวต่อมนุษย์ เราคงต้องตั้งขีดจำกัดในเรื่องนี้ขึ้นมา ความปลอดภัยของมนุษย์มาก่อนเสมอ” ลอรองต์ ชเลย์ แสดงความเห็น
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของชาวปศุสัตว์ József ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากหมาป่ากล่าวว่า “หมาป่าเป็นสัตว์อันตราย เพราะพวกมันฉลาด จึงรับมือได้ยากกว่าหมี เขาเห็นด้วยกับมาตรการทางกฎหมายใหม่ที่เกิดขึ้น เนื่องจากหากถูกฝูงหมาป่าโจมตี พวกมันสามารถฆ่าแกะได้เป็นโหลในครั้งเดียว และปีที่แล้วสุนัขตัวโปรดของเขาก็ถูกหมาป่าฆ่าในตอนกลางวันแสกๆ ซึ่งการจะฝึกสุนัขเลี้ยงแกะที่ดี แค่ละครั้งก็ใช้เวลานาน”
อนึ่ง ในปี 2025 จึงเป็นปีที่น่าจับตาว่า สถานการณ์ของหมาป่าสีเทาในยุโรปจะเป็นอย่างไรหลังกฎหมายใหม่มีผล น่าสนใจว่าการจงใจลดปริมาณพวกมันโดยตรงจะแก้ปัญหาได้จริง หรือสร้างปัญหาอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมากันแน่
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพจาก Photograph by Jimmy Jones