“นกปักษาสวรรค์ สามารถเรืองแสงด้วยผิวหนังและขนของมันเป็นสีเขียว เหลือง และฟ้าได้
ซึ่งทำให้พวกมันมีความพิเศษและโดดเด่นอย่างยิ่ง”
นกหลายชนิดอย่างเช่น ฮัมมิ่งเบิร์ด นกยูง และนกแก้วเองต่างก็มีสีสันสดใสในช่วงคลื่นแสงที่มนุษย์มองเห็นได้ แต่มีนกชนิดหนึ่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษ นั่นคือ ‘วงศ์ปักษาสวรรค์’ (Birds-of-paradise) ซึ่งกระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นของนิวกินี, หมู่เกาะโมลุกกะในอินโดนีเซีย และบางส่วนของออสเตรเลีย แต่กว่าครึ่งนั้นอยู่ในนิวกินี
พวกมันขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่เก่งในการเกี้ยวพาราสี นกตัวผู้จะใช้สีสันสดใสบนร่างกาย ขนที่แวววาว และเสริมด้วยการ ‘เต้น’ ที่แม่นยำเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม มันเป็นการเกี้ยวพาราสีที่น่าประทับใจจนพวกมันมีสารคดีของตัวเอง แต่ดูเหมือนนั่นจะยังน่าประทับใจไม่พอ เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่าพวกมันยังมีอีกความสามารถหนึ่งซ่อนอยู่
“ปักษาสวรรค์นั้นเป็นกลุ่มนกที่มีเสน่ห์ซึ่งได้พัฒนาขนลักษณะต่าง ๆ มากมายที่ช่วยในการส่งสัญญาณและการสืบพันธุ์ ขนเหล่านี้เป็นขนที่ดูเหมือนโลหะสดใสซึ่งเปล่งประกายและสะท้อนแสงได้เนื่องจากสีสันโครงสร้างของมัน ในขณะที่ขนชนิดอื่น ๆ ก็มีสีสันสดใสเช่นกัน” ดร. เรเน มาร์ติน (Rene Martin) นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน กล่าว
“ความหลากลหายของรูปแบบและการแสดงพฤติกรรมในกลุ่มนี้ช่างน่าทึ่ง ดังนั้นจึงสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่จะพบว่านกเหล่านี้มีองค์ประกอบเพิ่มเติมในการแสดงของมัน” เธอเสริม
ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Royal Society Open Science เผยให้เห้นว่าปักษาสวรรค์ตัวผู้มีการใช้ ‘ไบโอฟลูออเรสเซนต์’ ในการเกี้ยวพาราสี ขณะเดียวกันตัวเมียก็มีบางจุดที่สามารถเรืองแสงได้เช่นกัน ซึ่งทำให้การสื่อสารของนกภายในกลุ่มนี้มีความซับซ้อนกว่าที่ใครคาดไว้
สัญญาณลับ
การส่งสัญญาณนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตเกือบทั้งหมดบนโลก เราส่งสัญญาณด้วยการโบกมือเพื่อบอกอีกฝ่ายว่า ‘ลาก่อนนะ’ เราชี้ไปยังขนมชิ้นนั้นเพื่อบอกให้คนขายรู้ว่าเราต้องการมัน เช่นเดียวกันสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เองก็ส่งสัญญาณจำนวนมาที่อาจมองเห็นได้ อาจเป็นสารเคมี ไฟฟ้า หรืออื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน
รวมไปถึงสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการดึงดูดเพศตรงข้ามว่าพร้อมผสมพันธุ์เช่นการเกี้ยวพาราสีของนก นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่า ปักษาสวรรค์เพศเมียนั้นมองเห็นสีที่มากกว่ามนุษย์ เนื่องจากพวกมันมีเซลล์รูปกรวยที่ไว้รับแสงมากถึง 5 ประเภทในขณะที่มนุษย์มีเพียงสาม ดังนั้นมันจึงมองเห็นไปได้ไกลกว่าสเปกตรัมที่เราเห็นอย่างเช่นภายใต้แสงอัลตราไวโอเลต หรือ UV
การวิจัยก่อนหน้านี้เผยให้เห็นว่านกบางชนิดที่มีตัวกรอง UV ก็มีความสามารถในการตรวจจับไบโอฟลูออเรสเซนซ์ได้ และในนกเช่นเพนกวิน นกแก้ว หรือนกพัฟฟินเองก็มีการเรืองแสง นักวิทยาศาสตร์จึงสงสัยว่านกกลุ่มปักษาสรรค์จะมีเหมือนกันหรือไม่
“ฉันเชื่อว่า ไบโอฟลูออเรสเซนซ์น่าจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในนก” ดร. มาร์ติน กล่าว “แม้ว่าการศึกษาไบโอฟลูออเรสเซนซ์ในสัตว์มีกระดูกสันหลังจะค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับการศึกษาในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ปัจจุบันเราก็เริ่มเห็นการศึกษาดังกล่าวมากมาย”
แทนที่จะใช้นกที่มีชีวิต ทีมวิจัยได้หันมาใช้ตัวอย่างนกที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แทน ทำให้พวกเขาสามารถสำรวจปักษาสวรรค์โดยไม่ต้องเดินทางไปไกล และไม่ต้องรบกวนนกเหล่านั้น จากการตรวจสอบทั้งหมด 45 สายพันธุ์มี 37 สปีชีส์ที่มีการเรืองแสงทางชีวภาพ
สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ ปักษาสวรรค์ตัวผู้ 21 สายพันธุ์มีการเรืองแสงด้านนอกร่างกายเช่น ท้อง หน้าอก หัว และคอ ในขณะที่อีก 16 สายพันธุ์กลับมีการเรืองแสงที่ปากและลำคอ
“บ่อยครั้งที่บริเวณเรืองแสงจะมีขนสีเข้มมากอยู่โดยรอบ ซึ่งตัดกันกับการเรืองแสงนั้น” ดร. มาร์ติน กล่าว “ปักษาสวรรค์หลายชนิดมีขนสีดำสนิทที่ดูดแสงเข้าไปในปาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะปักษาสวรรค์ชนิดอื่น ๆ ที่ไม่เรืองแสงทางชีวภาพจะไม่มีขนสีดำสนิท”
จุดประสงค์ที่แท้จริง
อย่างไรก็ตามไม่ใช่นกในกลุ่มปักษาสรรค์ทุกชนิดจะมีการเรืองแสง จากการตรวจสอบมีปักษาสรรค์ 8 สายพันธุ์ที่ดูเหมือนจะไม่มีความสามารถชี้ ซึ่งอาจเกิดจากความแตกต่างในวิธีการสืบพันธุ์ของพวกมัน ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่า การเรืองแสงคือหนึ่งในการส่งสัญญาณเพื่อการสืบพันธุ์
“นกปักษาสวรรค์ส่วนใหญ่มีคู่ครองหลายตัวที่พวกมันแข่งขันกันในลานเกี้ยวพาราสี” ดร. มาร์ติน กล่าว “การแสดงเหล่านี้ต้องใช้พลังงานมากในการแสดง แต่การมีสีสันสดใสมักจะทำให้ถูกล่าบ่อยกว่านกที่มีสีหม่น ๆ”
“ในทางตรงกันข้าม เชื่อกันว่าสกุลเหล่านี้(ปักษาสวรรค์ที่ไม่เรืองแสง)เป็นสกุลที่มีการผสมพันธุ์แบบคู่เดียว ระบบผสมพันธุ์นี้หมายความว่าตัวผู้จะไม่แข่งขันกันเพื่อแย่งคู่มากนัก ดังนั้นการเรืองแสงทางชีวภาพอาจกลายเป็นต้นทุนที่มากกเกินไปสำหรับนกเหล่านี้” เธออธิบายเสริม
ขณะเดียวกัน สำหรับปักษาสวรรค์ที่มีการเรืองแสงก็อาจช่วยให้ตัวเมียมองเห็นและแยกแยะตัวผู้ได้ง่ายขึ้นในป่าที่มืดทึบ และตัวผู้เองก็มองเห็นตัวเมียได้แม้ตัวเมียจะมีสีสันที่กลืนไปกับพื้นหลังก็ตาม
“เป็นไปได้มากว่าหาก (การเรืองแสงทางชีวภาพ) ปรากฏขึ้นทั่วต้นไม้แห่งชีวิต มันจะต้องมีนัยสำคัญที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับสิ่งมีชีวิตที่แสดงมันออกมา” ดร. มาร์ติน บอก
“ไม่ว่าจะเป็นในนกปักษาสวรรค์ที่อาจใช้มันในการส่งสัญญาณ หรือเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นที่ใช้มันในการพรางตัว มันก็เป็นเพียงสิ่งเพิ่มเติมที่สิ่งมีชีวิตกำลังพัฒนาเพื่อความอยู่รอดและสืบพันธุ์”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ทีมา
https://royalsocietypublishing.org
อ่านเพิ่มเติม : นักวิทยาศาสตร์ประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินเต็มรูปแบบ’
เพื่อรักษาประชากรนกในสหรัฐฯ