ไขข้อสงสัย ทำไมคริลล์ถึงตกใจ เมื่อได้กลิ่น ‘อึ’ เพนกวิน?

ไขข้อสงสัย ทำไมคริลล์ถึงตกใจ เมื่อได้กลิ่น ‘อึ’ เพนกวิน?

“แค่อึของเพนกวินไม่กี่ก้อนก็ทำให้คริลล์ต้องรีบว่ายน้ำหนีเพื่อเอาตัวรอด

ไม่จำเป็นต้องเห็นตัวแต่เพียงได้กลิ่นอึเท่านั้น

สัตว์ตัวเล็กจำพวกกุ้งเหล่านี้ก็ต้องรีบหลีกหนีอย่างบ้าคลั่งแล้ว”

คริลล์ (Krill) หรือที่คนไทยคุ้นกันในชื่อ ‘เคย’ นั้นเป็นสัตว์จำพวกครัสเตเชียนขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกุ้ง ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในมหาสมุทรโลก แต่คริลล์ในแอนตาร์กติกานั้นมีความพิเศษมากกว่าที่อยู่คือมันมีขนาดใหญ่กว่าทั่วไปเล็กน้อย และเป็นแหล่งอาหารหลังของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด 

ไม่ว่าจะเป็นวาฬหลังค่อมที่กินได้มากถึง 1 ตันต่อวัน ไปจนถึงประชากรเพนกวินอย่างอาเดลีที่สามารถกินคริลล์ได้มากถึง 1.5 ล้านล้านตันต่อปีเมื่อนับรวมประชากรทั้งหมด ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงสงสัยว่าสัตว์จำพวกกุ้งตัวเล็ก ๆ เหล่านี้น่าจะมีแนวทางในการป้องกันตัวเองบางอย่างไรหรือไม่

ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่รู้กันดีว่าคริลล์นั้นไวต่อสารเคมีในสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากพวกมันใช้องค์ประกอบทางเคมีเหล่านี้เพื่อหาอาหารและผสมพันธุ์ รวมไปถึงการตรวจสอบมลพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ความสามารถไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ สารเคมีในอุจจาระของเพนกวินอาเดลีก็สามารถกระตุ้นให้คริลล์ต้องว่ายน้ำหนีได้แล้ว

“คุณจะเห็นได้ทันทีว่าพวกมันมีพฤติกรรมหลบเลี่ยง” นิโคล เฮลเลสซีย์ (Nicole Hellessey) นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลแอนตาร์กติกาจากมหาวิทยาลัยแทสเมเนียในโฮบาร์ต ประเทศออสเตรเลีย และหัวหน้าคณะผู้จัดทำผลการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ใน Frontiers in Marine Science กล่าว “พวกมันจะเริ่มว่ายน้ำซอกแซกไปทั่วทุกที่” 

หนีไป!

ในห้องทดลองสถานีพาลเมอร์ของแอนตาร์กติกา นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองด้วยการจับคริลล์ตามธรรมชาติขึ้นมากลุ่มหนึ่ง จากนั้นปล่อยคริลล์ลงไปในรางน้ำที่เต็มไปด้วยน้ำทะเลเป็นกลุ่ม ๆ เช่น น้ำทะเลที่มีแพลงก์ตอน(อาหารของคริลล์) มูลเพนกวินอาเดลี หรือทั้งสองอย่าง พร้อมกับบันทึกพฤติกรรมผ่านกล้องติดตามแบบ 3 มิติ

ในน้ำที่มีแพลงก์ตอน คริลล์จะมีปฏิกิริยาที่คล้ายคลึงกันโดยพวกมันจะว่ายเข้าไปหาอาหารอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็วนเวียนอยู่ใกล้ ๆ เนื่องจากคิดว่านี่น่าจะเป็นแหล่งอาหารของพวกมัน ขณะเดียวกันในน้ำที่เต็มไปด้วยทั้งแพลงก์ตอนและมูลเพนกวิน คริลล์จะว่ายน้ำซิกแซกเพื่อเลี่ยงอึเหล่านั้นไปยังอาหาร

แต่สำหรับน้ำที่มีแต่มูลเพนกวินนั้น พวกมันจะว่ายกันอย่างบ้าคลั่ง ราวกับพวกมันไม่ต้องจะอยู่แถวนี้อีกต่อไปแล้ว ทว่าการวิจัยไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ การทดลองชุดที่สองคริลล์จะได้อยู่ในภายใต้สภาวะเดิมแต่เป็นเวลานานขึ้นคือ 22 ชั่วโมง 

ในรางน้ำที่มีแพลงก์ตอน คริลล์จะกินอาหารไปประมาณร้อยละ 67 ส่วนคริลล์ที่อยู่ในถังที่มีอึเพนกวินร่วมด้วย พวกมันจะกินอาหารเพียง 25 เปอร์เซ็นเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่าทำไมคริลล์ถึงตอบสนองต่อกลิ่นของมูลเพนกวินแบบนี้ อาจเป็นไปได้ว่าอาหารของเพนกวินนั้นประกอบไปด้วยคริลล์ร้อยละ 99 

“มูลของเพนกวินจำนวนมากอาจมีกลิ่นคล้ายกับคริลล์ที่ถูกบด” เฮลเลสซีย์ ตั้งข้อสงสัย สารเคมีบางอย่างอาจทำให้คริลล์คิดว่า “โอ้พระเจ้า เพื่อนของฉันได้รับบาดเจ็บสาหัส เราไม่ควรไปที่นั่น” 

ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่านี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ตัวเล็กเหล่านี้ไม่เข้าไปใกล้ที่อยู่อาศัยของเพนกวินบนแผ่นน้ำแข็ง แม้ว่ามูลของเพนกวินจะช่วยกระตุ้นให้แพลงก์ตอนพืชหรือสาหร่ายขนาดเล็กเติบโตอย่างดี ซึ่งเป็นอาหารที่คริลล์ชอบกินก็ตาม

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ผลักดันให้เพนกวินต้องหาที่ตั้งอาณานิคมในพื้นที่ใหม่ หรืออยู่ในภูมิภาคนานกว่าปกติ ก็จะส่งผลกระทบต่อคริลล์ด้วย เนื่องจากหลักฐานเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าคริลล์จะกินอาหารได้น้อยลงเมื่อมีเพนกวินอยู่ใกล้

“นั่นจะมีผลกระทบอย่างมากต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของคริลล์ และระยะทางที่พวกมันสามารถเข้าใกล้แผ่นดินได้” เฮลเลสซีย์ กล่าว 

เรียนรู้จากคริลล์

แม้ว่า คิม เบอร์นาร์ด (Kim Bernard) นักนิเวศวิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐออริกอน และนักสำรวจของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก จะคิดว่าการศึกษานี้มีความน่าสนใจมาก แต่เธอไม่เชื่อว่าปฏิกิริยาของคริลล์ที่มีต่อมูลนกเพนกวินนั้นจะสร้างผลกระทบทางนิเวศวิทยาที่รุนแรงได้

“เพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในระดับใหญ่ มูลเพนกวินจะต้องมีความเข้มข้นสูงในน้ำอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่ส่วนใหญ่ของคริลล์ ซึ่งดูไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากมูลนกส่วนใหญ่นั้นจะกระจุกตัวอยู่ใกล้กับอาณานิคมของเพนกวิน” เบอร์นาร์ด ตั้งข้อสังเกต “นอกจากนี้ คริลล์ยังเกี่ยวข้องกับเพนกวินมาเป็นเวลาอยู่แล้วด้วย” 

ในทำนองเดียวกัน เธอยังบอกอีกว่า การวิจัยนี้ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสัญญาณของนักล่าและพฤติกรรมของคริลล์ 

“ทฤษฎีทางนิเวศวิทยาที่เรียกว่า ‘ภูมิทัศน์แห่งความกลัว’ (landscape of fear) ปรากฏขึ้นในความคิด ซึ่งสัตว์ไม่ได้ตอบสนองต่อการถูกล่าโดยตรงเท่านั้น แต่ยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกมันเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงของการถูกล่าด้วย” เบอร์นาร์ด กล่าว 

“ซึ่งสร้างโครงสร้างทางนิเวศวิทยาที่มองไม่เห็นนี้ได้ถูกกำหนดโดยความกลัว” เธอเสริม หรือกล่าวอย่างง่ายที่สุดก็คือ กลิ่นของมูลเพนกวินอาเดลี ทำให้คริลล์กลัวจนต้องหลีกหนีหายไปได้ 

สำหรับทีมวิจัย พวกเขาต้องการศึกษาการตอบสนองเหล่านี้เพิ่มเติมจากทั้งอุจจาระวาฬ แมวน้ำ หรือปลาชนิดอื่น ๆ เพื่อดูว่าคริลล์เกิดพฤติกรรมอะไรบ้าง และมีระดับขั้นต่ำที่สามารถกระตุ้นประสาทสัมผัสของคริลล์ด้วยหรือไม่ ยังมีอะไรอีกมากที่สามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้

“ฉันคิดว่ามีสิ่งต่าง ๆ มากมายในมหาสมุทรที่อาจไม่ได้รับความสนใจมากนักเมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่น่ารักน่ากอด” เฮลเลสซีย์ “แต่การศึกษาเกี่ยวกับคริลล์ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะถ้าไม่มีคริลล์ เราก็คงไม่ได้เห็นเพนกวินและแมวน้ำที่น่ารักน่าชังเหล่านี้”

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.frontiersin.org

https://www.nationalgeographic.com

https://www.sciencenews.org

https://www.discovermagazine.com


อ่านเพิ่มเติม : ทำไมการ “หย่าร้าง” ของเพนกวินน้อย

จึงส่งผลกระทบต่อทั้งอาณานิคม?

Recommend