ฝูงกวางอันโด่งดังซึ่งมีอดีตเล่าขานสืบต่อกันมาเผชิญอนาคตรูปแบบใหม่ในแถบอาร์กติกของแคนาดา
ภายใต้แสงเรืองรองของดวงอาทิตย์ยามเช้า กวางเรนเดียร์หลายพันตัวเดินข้ามพื้นที่ห่างไกลอันเย็นยะเยือก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดา ร่างกวางที่เดินไปช้าๆพร้อมกันเป็นฝูงแทบจะเลือนหายไปในไอหมอกที่ลอยฟ่อง เมื่อลมหายใจอุ่นๆปะทะกับอากาศเย็น เขากวางมากมายดูเหมือนเต้นระบำอยู่ในสายหมอก เมื่อมองจากระยะไกล ฝูงกวางอพยพดูเหมือนริ้วยาวสีน้ำตาลคดเคี้ยวไปทั่วผืนผ้าใบสีขาวโพลนในภูมิทัศน์อาร์กติก

ไกลออกไป คนเลี้ยงกวางชาวอินูเวียลูอิตสี่คนขี่รถหิมะพร้อมปืนไรเฟิลในมือคอยเฝ้าระวังฝูงกวาง พวกเขาตื่นตัวและคุ้นชินกับจังหวะที่กีบเหยียบลงบนพื้นดินปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และในเช้าอันหนาวเหน็บวันนี้ งานของพวกเขาหาใช่เพียงต้อนกวางเรนเดียร์เหล่านี้ไปยังแหล่งตกลูก แต่พวกเขายังช่วยจารึกตำนานบทใหม่ให้ฝูงกวางอันเลื่องลือฝูงนี้ด้วย

“กวางพวกนี้ฉลาดมากครับ” ดักลาส เอซาก็อก ผู้ผ่านการต้อนกวางเรนเดียร์มาแล้วเจ็ดฤดูหนาว ทำให้ เขาเป็นชนพื้นเมืองผู้เลี้ยงกวางที่มากประสบการณ์ที่สุดคนหนึ่ง กล่าว “ผมมักพูดคุยกับพวกมันไปด้วยระหว่างที่ต้อน นั่นช่วยให้พวกมันไม่ตื่นตกใจ เพราะพวกมันจำเสียงผมหรือเสียงรถหิมะของผมได้ครับ”
ขณะฝูงกวางเรนเดียร์เลี้ยงแบบปล่อยอิสระฝูงสุดท้ายของแคนาดาเคลื่อนไปข้างหน้าในบริเวณเหนือขึ้นไปจากอาร์กติกเซอร์เคิลเล็กน้อย พวกมันนำพาความเชื่อมโยงกับการทดลองที่เป็นตำนานไปกับพวกมันด้วย ย้อนหลังไปราวร้อยปีก่อน หลังจากกวางคาริบูท้องถิ่นที่ชาวอินูเวียลูอิตพึ่งพามาช้านานเริ่มลดจำนวนลง และแผนการอันห้าวหาญที่จะนำเข้ากวางเรนเดียร์มาแก้ไขภาวะขาดแคลนอาหารก็ถือกำเนิดขึ้น (กวางคาริบูและกวางเรนเดียร์ เป็นกวางชนิดเดียวกัน แต่ชนิดหลังถูกนำมาเพาะเลี้ยง) รัฐอะแลสกาที่อยู่ใกล้เคียงก็เคยลองใช้วิธีนี้ตอนช่วงเปลี่ยนศตวรรษ โดยนำกวางเรนเดียร์จากไซบีเรียและนอร์เวย์ขึ้นเรือและรถไฟเดินทางอย่างยากลำบากมายังทวีปอเมริกาเหนือ ช่วงปลายปี 1929 กวางเรนเดียร์จำนวนหนึ่งจากประชากรกวางเรนเดียร์อะแลสกาที่กำลังเพิ่มจำนวนในตอนนั้นซึ่งมีประมาณ 3,500 ตัว ออกเดินทางไปแคนาดาภายใต้การดูแลของคนเลี้ยงกวางชาวซามีและอินูอิต การเดินทางคดเคี้ยวยากลำบากเป็นระยะทาง 2,400 กิโลเมตรสิ้นสุดลงโดยใช้เวลากว่าห้าปีนับเป็นจุดเริ่มต้นที่เต็มไปด้วยอุปสรรคของสิ่งที่เรียกกันว่า โครงการกวางเรนเดียร์แคนาดา (Canadian Reindeer Project)


หลายสิบปีผ่านไป ปัจจุบัน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชาวอินูเวียลูอิตกำลังนำโครงการไปสู่เป้าหมายใหม่ที่ไม่เคยทำกันมาก่อน ฝูงกวางซึ่งได้รับการดูแลด้วยความช่วยเหลือจากชาวอินูเวียลูอิต แต่มีครอบครัวเป็นเจ้าของ ถูกอินูเวียลูอิตรีเจียนอลคอร์เปอร์เรชัน หรือไออาร์ซี (Inuvialuit Regional Corporation: IRC) ซื้ออย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2021 ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของเอซาก็อกและเพื่อนร่วมงาน ฝูงกวางเรนเดียร์เพิ่มจำนวนขึ้นกว่าเท่าตัว เป็นเกือบ 6,000 ตัว ทำให้แผนการอันทะเยอทะยานในการปูทางอันยั่งยืนไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ของชาวอินูเวียลูอิต ผู้อาศัยอยู่ในผืนดินของบรรพบุรุษ มีความเป็นไปได้
“เป้าหมายสูงสุดคือการมีกวางเรนเดียร์จำนวนมากเพื่อชาวอินูเวียลูอิตครับ นั่นเป็นเป้าหมายแรก” ไบรอัน เวด ผู้อำนวยการองค์การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอินูเวียลูอิต กล่าวและเสริมว่า “นอกจากกวางฝูงนี้จะเป็นความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังสร้างงานและส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยครับ”
การถ่ายโอนกรรมสิทธิ์กวางเรนเดียร์ให้แก่ชาวอินูเวียลูอิตเป็นมากกว่าความพยายามสร้างเสถียรภาพเพื่ออนาคต แต่ยังหมายถึงโอกาสที่ชาวอินูเวียลูอิตจะได้ควบคุมฝูงกวางที่รัฐบาลอาณานิคมนำเข้ามายังบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา ในทศวรรษ 1930 เมื่อกวางเรนเดียร์มาถึงนอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ บทบาทที่พวกมันถูกกำหนดให้มีต่อชีวิตของชาวอินูเวียลูอิตส่วนใหญ่แล้วคือการแทนที่วิถีการเก็บของป่าล่าสัตว์ที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ หลังจากได้นอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์มาในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า รัฐบาลแคนาดาจัดตั้งที่ทำการฝ่ายปกครองและอนุญาตให้สร้างสถานีการค้าขึ้นทั่วภูมิภาค ชนพื้นเมืองดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และจับปลาเป็นหลักมานานหลายศตวรรษ แต่เมื่อจำนวนกวางคาริบูลดลง กวางเรนเดียร์จึงถูกนำเข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร นี่ยังเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างชาวอินูเวียลูอิตกับที่ดิน เพราะกวางเรนเดียร์สามารถเลี้ยงเป็นปศุสัตว์ได้
“กวางเรนเดียร์ถูกจัดประเภทเป็นปศุสัตว์ เช่นเดียวกับวัว ไก่ หรือหมูครับ” เวดกล่าว “พวกมันจะเล็มกินหญ้าทั้งวัน แล้วก็แค่เดินไปข้างหน้าช้าๆ ค่อยๆหาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่เขียวขจีกว่าไปเรื่อยๆ”
ชาวอินูเวียลูอิตจำนวนมากยังคงล่าสัตว์เป็นอาหารต่อไป แต่มันอาจเป็นการลงแรงที่สิ้นเปลืองทั้งเวลาและ เงินทอง และใช่ว่าผลการล่าจะออกมาดีทุกฤดูกาล ในช่วงหลายสิบปีมานี้ หลายครอบครัวละทิ้งวิถีการดำรงชีพแบบดั้งเดิม แล้วหันมาพึ่งพาตลาดค้าอาหารและร้านขายของชำที่นำสินค้าจากห่วงโซ่อุปทานอาหารทางตอนใต้มาขายแทน แต่เมื่อปี 2020 การระบาดใหญ่ทั่วโลกทำให้ห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวขาดลง ไออาร์ซีซึ่งเริ่มเล็งเห็นบทบาทของฝูงกวางในการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร จึงเห็นชัดเจนว่า ภัยคุกคามนี้ไม่ใช่เรื่องสมมุติฐานอีกต่อไปแต่เกิดขึ้นแล้ว
“เราสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากอาหารท้องถิ่นที่มีอยู่มากมายในภูมิภาคของเรา แต่ก็ยังใช้ฝูงกวางเรนเดียร์ควบคู่กันไปเพื่อให้เราบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อฝูงกวางคาริบูท้องถิ่นและมีแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนครับ” เวดบอกและเสริมว่า โครงการที่จะทำให้เกิดอธิปไตยทางอาหารมีอยู่สองโครงการ การซื้อฝูงกวางเป็นโครงการหนึ่งอีกโครงการหนึ่งคือการเปิดโรงงานแปรรูปอาหารท้องถิ่นที่เมืองอินูวิก ซึ่งสามารถแปรรูปกวางเรนเดียร์และอาหาร ชนิดอื่น แล้วส่งไปแจกจ่ายให้แก่ครอบครัวที่ต้องการ



แต่ก่อนที่กวางเรนเดียร์จะถูกจับขาย ฝูงกวางจำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูให้กลับมาสมบูรณ์เต็มที่ ไออาร์ซี จึงจ้างเอซาก็อกและสตีฟ ค็อกนีย์ จูเนียร์ เพื่อนคนเลี้ยงกวางชาวอินูเวียลูอิต ผู้ใช้เวลาหลายเดือนต้อนกวางเรนเดียร์ที่กระจัดกระจายออกไปให้กลับมาเข้าฝูง
“ความท้าทายหลักๆประการหนึ่ง คือการต้อนกวางที่พลัดจากฝูงออกไปในพื้นที่กว้างใหญ่มากครับ” เอซาก็อกกล่าว บางกลุ่มร่อนเร่ไปไกลถึง 140 กิโลเมตร ซึ่งหมายความว่า เอซาก็อกและเพื่อนจะต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน กวางเรนเดียร์กลุ่มเล็กๆ เหล่านี้เสี่ยงอันตรายจากหมาป่าและสัตว์ผู้ล่าชนิดอื่น และขณะที่กวางจำนวนมากสูญหายไป และบางตัวก็ไปไกลเกินกว่าที่คนเลี้ยงสัตว์ทั้งสองจะไปถึง เอซาก็อกบอกว่า “เรานำกวางทุกตัวมาเข้าฝูงจนได้ครับ แต่ก็เท่าที่เราหาเจอนะครับ”
นับแต่นั้นมา ไออาร์ซีจ้างคนเลี้ยงสัตว์เพิ่มอีกสี่คน ทีมนี้ทำงานเป็นกะ กะละสองสัปดาห์ โดยสี่คนทำงานสองคนพัก ผลจากการลงทุนลงแรงครั้งนี้คือ ฝูงกวางเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 6,000 ตัว มากพอที่โรงงานแปรรูปอาหารท้องถิ่นจะเริ่มแปรรูปกวางเรนเดียร์
ช่วงฤดูใบไม้ผลิปีก่อน โรงงานที่ปัจจุบันมีลูกจ้างเต็มเวลาห้าคน เริ่มเปิดสายการผลิตอย่างเป็นทางการโดยแปรรูปกวางเรนเดียร์ 176 ตัวจากฝูงเป็นเนื้ออบ เนื้อบด ซี่โครง และอื่นๆ จากนั้นนำไปแจกจ่ายให้สมาชิกในชุมชนอินูเวียลูอิต อาหารแปรรูปเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารท้องถิ่นที่สำคัญ ซึ่งเพาะเลี้ยงและมีแหล่งที่มาในภูมิภาค ช่วยให้ครอบครัวชาวอินูเวียลูวิตที่อาจออกไปล่าสัตว์เองไม่ได้ ได้รับโอกาสที่จะผูกพันกับผืนแผ่นดินนี้ต่อไปและเชื่อมโยงกับบทใหม่ในเรื่องราวของชาวอินูเวียลูอิต
สำหรับเอซาก็อก โอกาสที่จะมีบทบาทสำคัญในเสถียรภาพทางอาหารและการฟื้นฟูวัฒนธรรมรูปแบบใหม่นี้ เป็นหลักสูตรเร่งรัดที่เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ในเวลาเพียงเจ็ดปี เขา ค็อกนีย์ และทีมกลายเป็นผู้สืบทอดประเพณีพื้นเมืองที่นำเข้ามาจากอีกฟากฝั่งของอาร์กติก ที่ซึ่งชาวซามีเชี่ยวชาญประเพณีนี้ เขายอมรับว่ารู้สึกหวั่นใจน้อยลงกับความรับผิดชอบในการส่งต่อความรู้นี้ให้คนเลี้ยงสัตว์ที่อายุน้อยกว่า เพราะพรานพื้นเมืองในภูมิภาคนี้มีทักษะ ส่วนใหญ่ที่ใช้ทำงานนี้อยู่แล้ว ความที่พวกเขาคุ้นเคยกับภูมิทัศน์ “งานนี้ไม่ยากเท่าไรครับถ้าคุณล่าสัตว์มาตั้งแต่เด็ก” เขาบอก “เราพยายามพูดคุยกับพวกหนุ่มๆ และอธิบายสิ่งต่างๆอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แต่หลายอย่างเป็นประสบการณ์ตรง คุณเรียนรู้ได้ด้วยการลงมือทำ ด้วยการเฝ้ามองและสังเกตกวาง” เขายังบอกด้วยว่ากวางเรนเดียร์สอนพวกเขาด้วย บ่อยครั้งที่พวกเขารู้สึกราวกับกวางเรนเดียร์เป็นผู้นำทาง
เรื่อง โจชัว ฮันต์
ภาพถ่าย เคที ออร์ลินสกี
แปล ปณต ไกรโรจนานันท์
อ่านเพิ่มเติม : ตามล่าผีเสื้อของพ่อ